การค้าระหว่างประเทศของสเปน

การค้าระหว่างประเทศของสเปน

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 เม.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,789 view

shutterstock_1090175828

ตามสถิติของกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์และการท่องเที่ยวของสเปน เมื่อปี 2563 การค้าระหว่างประเทศของสเปน มีมูลค่ารวม 535,773 ล้านยูโร ลดลงร้อยละ 12.64 จากปี 2562 ประกอบด้วยการส่งออกมูลค่า 261,175.5 ล้านยูโร ลดลงร้อยละ 10 โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าทุน (ร้อยละ 19.8 ของสินค้าส่งออกทั้งหมด) อาหาร เครื่องดื่มและบุหรี่ (ร้อยละ 19.6) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 15.5) และยานยนต์และอุปกรณ์ (ร้อยละ 14.8) ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 274,597.5 ล้านยูโร ลดลงร้อยละ 14.7 จากปี 2562 โดยสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าทุน (ร้อยละ 22.6 ของสินค้านำเข้าทั้งหมด) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 18) สินค้าอุปโภคบริโภค (ร้อยละ 12.6) และอาหาร เครื่องดื่มและบุหรี่ (ร้อยละ 12.4) โดยปี 2563 สเปนขาดดุลการค้า 13,411 ล้านยูโร ลดลงจากปี 2562 ที่สเปนเคยขาดดุลการค้าถึง 31,544 ล้านยูโร

ทั้งนี้ ในปี 2563 สหภาพยุโรป (EU-27) ยังคงเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของสเปน ที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 60.5 (มูลค่าการส่งออก ลดลงร้อยละ 7.7) รองลงมาได้แก่ กลุ่มประเทศยุโรปนอก EU- 27 (สัดส่วนร้อยละ 12.5 / มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 9.6) ภูมิภาคแอฟริกา (สัดส่วนร้อยละ 6 / มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 16.3) ภูมิภาคอเมริกาเหนือ (สัดส่วนร้อยละ 5.4 / มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 11.5)  ภูมิภาคลาตินอเมริกา (สัดส่วนร้อยละ 4.4 / มูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 23.8) ขณะที่การส่งออกของสเปนไปยังทวีปเอเชีย (ไม่รวมกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง) มีสัดส่วนร้อยละ 7.0 โดยมูลค่าการส่งออก ลดลงเพียงแค่ร้อยละ 5.7 เท่านั้น เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการส่งออกไปยังจีนที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 

สำหรับการนำเข้า ตลาดนำเข้าที่สำคัญของสเปนยังคงเป็นสหภาพยุโรป (EU-27) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 51.8  (แต่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ 11.9) ขณะที่การนำเข้าจากทวีปเอเชีย ในปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.3 (มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 9.1)

อนึ่ง เฉพาะเดือนมกราคม 2564 พบว่า สเปนขาดดุลการค้ากับต่างประเทศมูลค่าลดลงเหลือ 1,769 ล้านยูโรเท่านั้น ซึ่งเป็นสถิติที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2541 โดยมีสาเหตุหลักจากการที่สเปนลดการนำเข้า และส่งออกลงถึงร้อยละ 16.4 และร้อยละ 11.4 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2563 ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า การส่งออกของสเปนในช่วงต้นปีนี้ ลดลงในทุกภูมิภาค ยกเว้นเอเชีย (ไม่รวมกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง) ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 อันเนื่องมาจากการส่งออกไปยังจีนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.9 ขณะที่การนำเข้าก็มีมูลค่าลดลงในทุกภูมิภาค รวมทั้งเอเชีย (ไม่รวมตะวันออกกลาง) ที่มูลค่าลดลงร้อยละ 12.9 เช่นกัน

shutterstock_1686071734

สำหรับการค้ากับประเทศไทยนั้น ตามข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมฯ สเปน ในปี 2563 มีมูลค่า รวม 1,527.5 ล้านยูโร ลดลงร้อยละ 19.34 จากปี 2562 เป็นการส่งออกมาไทย มูลค่า 501.75 ล้านยูโร (ลดลงร้อยละ 24.7 จากปี 2562) สูงเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียน (รองจากสิงคโปร์) และคิดเป็นร้อยละ 0.2 ของมูลค่าการส่งออกสเปนทั่วโลก โดยสินค้าส่งออกสำคัญของสเปน ได้แก่ อะไซคลิกไฮโดร์คาร์บอน (ลดลงร้อยละ 36.1) ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ลดลงร้อยละ 34.5) เนื้อสัตว์ป่น (ลดลงร้อยละ 2.8) และเครื่องเรดาร์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 5,655)

ในส่วนของการนำเข้าของสเปนจากไทย มีมูลค่า 1,025.75 ล้านยูโร (ลดลงร้อยละ 16.3) คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของการนำเข้าสเปนจากทั่วโลก สินค้าหลักของไทยที่สเปนนำเข้า ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ (ลดลงร้อยละ 11) อัญมณีและเครื่องประดับเงิน (ลดลงร้อยละ 4) เครื่องปรับอากาศอื่นๆ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 112) และยางพารา (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9) อย่างไรก็ดี มูลค่านำเข้าจากไทยยังคงน้อยกว่าบางประเทศในอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม (2,462.92 ล้านยูโร) อินโดนีเซีย (1,761.94 ล้านยูโร) มาเลเซีย (1,209.5 ล้านยูโร) แต่สูงกว่าสิงคโปร์ (319.66 ล้านยูโร) และฟิลิปปินส์ (234.17 ล้านยูโร)

 

การค้าระหว่างประเทศของสเปนกับผลกระทบจากกรณีเรือขนส่งสินค้าของบริษัท Ever Green ขวางคลองสุเอซ  

ผู้ว่าการธนาคารกลางสเปน คาดว่า ร้อยละ 3.5 ของมูลค่าการระหว่างประเทศของสเปนจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวโดยตรง ซึ่งตามรายงานของ Suez Canal Authority พบว่า สเปนเป็นประเทศหนึ่งที่มีการนำเข้า-ส่งออกสินค้าผ่านคลองสุเอซมากที่สุด คิดเป็นปริมาณรวม 66.7 ล้านตัน มากเป็นอันดับที่ 4 ของกลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของคลองสุเอซ นอกจากนี้ สเปนยังเป็นประเทศลำดับต้นๆ ที่ส่งออกแร่ธาตุผ่านคลองสุเอซ (980,000 ตันในปี 2562) และในทางกลับกัน สเปนก็นำเข้าน้ำมัน ก๊าซและเคมีภัณฑ์ผ่านคลองสุเอซจำนวนมากเช่นกัน (นำเข้าน้ำมัน 6.6 ล้านตัน ก๊าซ 3.3 ล้านตันและเคมีภัณฑ์ 3.5 ล้านตัน)

ทั้งนี้ ท่าเรือเมืองบาเลนเซีย ท่าเรือเมืองอัลเฆซิราส และท่าเรือนครบาร์เซโลนา เป็นท่าเรือของสเปนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากต้องเตรียมแผนรองรับตู้สินค้าที่มาถึงล่าช้ากว่า 65,000 ตู้  โดยเฉพาะท่าเรือเมืองบาเลนเซีย ซึ่งเป็นจุดเข้า-ออกหลักของเรือขนส่งสินค้ากับเอเชีย (1 ใน 4 ของเรือขนส่งสินค้าสเปนเดินทางที่ผ่านคลองอุเอซ) 

 

รัฐบาลสเปนกับนโยบาย Internationalization ภาคเอกชนสเปนในต่างประเทศ

รัฐบาลสเปนได้ตั้งความหวังที่จะใช้การค้าระหว่างประเทศของสเปนจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจากพิษของโควิด-19 ซึ่งจากการคาดการณ์ของธนาคารกลางสเปน เชื่อว่า การส่งออกของสเปนในปีนี้ น่าจะขยายตัวถึงร้อยละ 13 และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลสเปนจึงให้ความสำคัญกับการสนับสนุนภาคเอกชนในการดำเนินธุรกิจกับต่างประเทศ หรือ “Internationalization” โดยมีเอเชียเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ ทั้งนี้ ภายใต้แนวคิดดังกล่าว มีกิจกรรมที่รัฐบาลสเปนจะดำเนินการ อาทิเช่น การแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้แทนระดับสูงในรัฐบาล เพื่อเปิดประตูให้ธุรกิจสเปนในต่างประเทศ การให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาธุรกิจในต่างประเทศผ่านกองทุนพัฒนาธุรกิจในต่างประเทศ (Corporate Internationalization Fund-FIEM) การพัฒนาทรัพยากรบุคคลสำหรับประกอบธุรกิจในต่างประเทศ การส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ เป็นต้น

 

******************

 

 

 

 


ข่าวใกล้เคียง

ข่าวใกล้เคียง