สเปนกับความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ การบินและอวกาศ

สเปนกับความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ การบินและอวกาศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 ม.ค. 2564

| 2,987 view

Defensa

สเปนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีชื่อเสียงว่ามีความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีในด้านอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ การบินและอวกาศ ที่ก้าวหน้าและได้รับการยอมรับในระดับสากล รวมทั้งยังเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวที่ติดอันดับต้นๆ ของโลกด้วย

ในวันนี้ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด จะได้นำผู้อ่านไปทำความรู้จักกับอุตสาหกรรมดังกล่าวของสเปนให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของศักยภาพ ความสำคัญของอุตสาหกรรมดังกล่าวต่อเศรษฐกิจของสเปน ผู้ผลิตรายสำคัญและทิศทางอนาคตของอุตสาหกรรมดังกล่าว    

  1. ศักยภาพและความสำคัญของอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ การบินและอวกาศต่อเศรษฐกิจสเปน

เมื่อปี ค.ศ. 2019 สเปนส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศ คิดเป็นมูลค่าถึง 4,042.3 ล้านยูโร (สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 จากปี ค.ศ. 2018 (3,720.4 ล้านยูโร) โดยรายงานประจำปีของสถาบัน Stockholm International Peace Research Institute (Sipri) ระบุว่า อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของสเปน มีส่วนแบ่งในตลาดโลก คิดเป็นร้อยละ 3.2 รองจากสหรัฐฯ รัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนี จีน และ    สหราชอาณาจักร ตามลำดับ นอกจากนี้ สเปนยังเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางการทหารอยู่ในอันดับที่ 20 ของโลกตามการจัดอันดับประจำปี ค.ศ. 2020 (2020 Military Strength Ranking) ของ Global Firepower อีกด้วย

ขณะที่รายงานของบริษัท KPMG เรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมจากอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ความมั่นคง การบินและอวกาศ (KPMG Informe Impacto Económico y Social de la industria de Defensa, Seguridad, Aeronáutica y Espacio) ระบุว่า ในปี ค.ศ. 2019 ผลประกอบการของบริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ความมั่นคง การบินและอวกาศของสเปน (Asociación Española de Tecnologías de Defensa, Seguridad, Aeronáutica y Espacio หรือ TEDAE) มีมูลค่ารวมกันถึง 14,101 ล้านยูโร โดยแบ่งเป็นสาขาการบิน/อากาศยาน 10,918 ล้านยูโร การป้องกันประเทศ 7,156 ล้านยูโร อวกาศ 967 ล้านยูโร และความมั่นคง 180 ล้านยูโร  โดยร้อยละ 70 ของรายได้ทั้งหมด มาจากการส่งออก    สินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศ

นอกจากนี้ รายงานของ KPMG ยังระบุด้วยว่า ในปี ค.ศ. 2019 เฉพาะอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของสเปน มีมูลค่าผลประกอบการรวม 7,156 ล้านยูโร คิดเป็นร้อยละ 0.78 ของ GDP ของสเปน โดยการบินและอากาศยานเป็นสาขาที่มีศักยภาพการแข่งขันสูงสุด มีส่วนแบ่งผลประกอบการสูงถึง 4,949 ล้านยูโรหรือเทียบเท่าร้อยละ 0.52 ของ GDP ของประเทศ ตามมาด้วยสาขาป้องกันประเทศทางน้ำ (เรือ) (มูลค่า 1,374 ล้านยูโร) การป้องกันประเทศทางบก (มูลค่า 661 ล้านยูโร) และอวกาศ (มูลค่า 172 ล้านยูโร) ที่สำคัญไปกว่านั้นคือการที่สเปนเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่มีความสามารถในการจัดการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ การรับรอง การบำรุงรักษาและการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์

อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ความมั่นคง การบินและอวกาศ ยังมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจสนับสนุนอื่นๆ อีกหลากสาขา อาทิ การขนส่ง การบริการซ่อมและติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ บริการขนส่งทางอากาศ ซึ่งก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวม 20,631 ล้านยูโร หรือเท่ากับร้อยละ 1.7 ของ GDP ของสเปน อีกทั้งยังเป็นแหล่งสร้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกประมาณ 220,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ ในส่วนของการวิจัยและพัฒนา (R&D) อุตสาหกรรมดังกล่าวยังมีการลงทุนด้านการวิจัยในสัดส่วนถึงร้อยละ 8 ของผลประกอบการ หรือประมาณ 1,120 ล้านยูโรในปี ค.ศ. 2019 ซึ่งนับได้ว่าเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ลงทุนด้าน R&D มากที่สุด แซงหน้าอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่อย่างเภสัชกรรม (1,060 ล้านยูโร) และยานยนต์ (990 ล้านยูโร) เลยทีเดียว

นอกจากนี้ ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสเปน ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2019 ระบุว่า ในปี ค.ศ. 2017 อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของสเปนมียอดจำหน่ายสินค้ารวม 6,188 ล้านยูโร แบ่งเป็นการส่งออกร้อยละ 81.3 (5,033 ล้านยูโร) และการจัดหาสินค้าให้กับกระทรวงกลาโหมสเปน อีกร้อยละ 18.7 (1,155 ล้านยูโร) โดยสาขาที่มียอดจำหน่ายสูงสุดคือ การบิน/อากาศยาน 4,331 ล้านยูโรหรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของยอดจำหน่ายรวม รองลงมาคือ สินค้าสำหรับใช้ในกิจการกองทัพเรือ ร้อยละ 9.1 (564 ล้านยูโร) สินค้าสำหรับใช้ในกิจการกองทัพบก ร้อยละ 8.5 (526 ล้านยูโร) และสาขาอื่น ๆ อีกประมาณร้อยละ 12.4

สัดส่วนยอดขายในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ1

สัดส่วนยอดขายในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

รัฐบาลและภาคเอกชนของสเปนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศอย่างจริงจัง โดยในแต่ละปีจะมีการตีพิมพ์แคตาล็อกสินค้าและรายชื่อผู้ผลิตในอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าชมรายละเอียดได้ที่ Catalogue Spanish Defence Industry, 2019 – 2020 นอกจากนี้ สเปน  ยังเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้าด้านอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ความมั่นคง การบินและอวกาศ ที่สำคัญ คืองาน FEINDEF โดยในปีนี้ มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 3-5 พฤศจิกายน ค.ศ. 2021 ณ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้า IFEMA กรุงมาดริด

อนึ่ง ประเทศที่เป็นคู่ค้ารายสำคัญของสเปนในปัจจุบัน ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ตุรกี เป็นต้น ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทย เมื่อปี ค.ศ. 2019 ไทยนำเข้าสินค้ายุทโธปกรณ์จากสเปนมูลค่ารวมประมาณ 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

  1. ผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ความมั่นคง การบินและอวกาศสเปน

นอกจากกระทรวงกลาโหมสเปนแล้ว มีองค์กรเอกชนอีก 2 แห่ง ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ความมั่นคง การบินและอวกาศสเปน ได้แก่ 1) สมาคมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ความมั่นคง การบินและอวกาศสเปน (TEDAE) ประกอบด้วยสมาชิกรวม 85 บริษัท และ 2) สมาคมบริษัทรับเหมาให้แก่หน่วยงานรัฐสเปน (Asociación de Empresas Contratistas Con las Administraciones หรือ AESMIDE) ปัจจุบันมีสมาชิก 60 บริษัท ที่รับเหมาทำงาน/จัดหายุทโธปกรณ์ให้กับกระทรวงกลาโหม รวมหน่วยงานรัฐอื่นในสเปนและหน่วยงานรัฐของต่างประเทศ

ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตยุทโธปกรณ์รายสำคัญของสเปนที่มีชื่อเสียงในระดับโลก มีด้วยกันอยู่หลายบริษัท ตัวอย่างเช่น  

  • Airbus Group โดยเฉพาะ Airbus Defence and Space และ Airbus Helicopters ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ในสเปน โดยเน้นการผลิตเครื่องบินรบ เครื่องบินลำเลียง เครื่องบินขนส่งและปฏิบัติภารกิจทางทหาร เฮลิคอปเตอร์ รวมถึงชิ้นส่วนของเครื่องบินพาณิชย์บางรุ่นด้วย
  • Indra Sistemas เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกที่ให้บริการเทคโนโลยีหลากหลายสาขา รวมถึงระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศและความมั่นคง อาทิ ระบบการป้องกันภัยทางอากาศ การควบคุมการจราจรทางอาการ / เรดาห์ อีกทั้งยังเป็นผู้นำของโลกด้าน electronic defence ด้วย ทั้งนี้ Indra เป็นบริษัทสเปน รายเดียวที่ติดอันดับ 100 บริษัทแรกที่มีรายได้จากอุตสาหกรรมป้องกันประเทศมากที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของ DefenseNews ปี ค.ศ. 2020 และได้เข้าไปจัดตั้งสำนักงานที่ประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ. 2018
  • Navantia (ชื่อเดิม Bazán) เป็นรัฐวิสาหกิจสเปนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบและสร้างเรือสำหรับภารกิจทางทหารและพลเรือนโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและให้บริการอย่างครบวงจร มีลูกค้าในหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย นอร์เวย์ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐฯ ภูมิภาคลาตินอเมริกา ตุรกีและอินเดีย โดยบริษัท Navantia เป็นผู้ที่ต่อเรือหลวงจักรีนฤเบศรซึ่งเป็นเรือธงและเรือบรรทุกอากาศยานลำแรกและลำเดียวของราชนาวีไทยในขณะนี้
  • ITP Aero เป็นบริษัทผลิตมอเตอร์และชิ้นส่วนเครื่องบินชั้นนำที่มียอดขายสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก มีสำนักงาน/โรงงาน 17 แห่งใน 5 ประเทศ ได้แก่ สเปน สหราชอาณาจักร มอลตา อินเดีย และเม็กซิโก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองซามูดิโอ จังหวัดบิซกาญา แคว้นบาสก์ ทางตอนเหนือของสเปน และปัจจุบันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Rolls-Royce Group เมื่อปี ค.ศ. 2017
  • SENER ดำเนินกิจการหลายสาขาทั้งการบินและอวกาศ โครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน โดยบริษัทฯ มีประสบการณ์ด้านการบินและอวกาศมากว่า 50 ปี โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 บริษัทฯ ได้เป็นผู้จัดหาอุปกรณ์และระบบสำหรับดาวเทียมและยานอวกาศให้แก่ NASA, ESA, JAXA และ Roscosmos นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ระบบขับเคลื่อนเรือดำน้ำ และอยู่ระหว่างพัฒนานวัตกรรมในสาขาการบิน โดยเฉพาะด้าน electromechanical actuators ด้วย

หากผู้อ่านสนใจทำความรู้จักกับบริษัทอื่นๆ เพิ่มเติมสามารถเรียกดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ผ่านเว็บไซต์ของสมาคมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ความมั่นคง การบินและอวกาศสเปน (TEDAE) (www.tedae.org)

  1. ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ความมั่นคง การบินและอวกาศสเปน

ในช่วงปี ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของสเปน ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศษฐกิจสืบเนื่องจากโควิด-19 ไม่น้อย โดยในระยะสั้น โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อฐานการผลิตของประเทศและห่วงโซ่การผลิตในยุโรปที่มีบริษัทสเปนเข้าร่วม โดยเฉพาะในการผลิตและการจัดหาฮาร์ดแวร์ และโดยที่สเปนเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่าประเทศคู่แข่งอื่น ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศสหรือเยอรมนี ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมดังกล่าว เริ่มเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงนโยบายการผลิตให้สามารถพึ่งพาแห่งวัตถุดิบจากภายในประเทศ รวมทั้งสนับสนุนอุปสงค์ภายในประเทศให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการขยายตลาดส่งออก โดยมองเอเชียในฐานะตลาดที่มีศักยภาพสำหรับสเปน (ประเทศในเอเชียที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของสเปน ได้แก่ เกาหลีใต้ และสิงคโปร์)

นอกจากการทำการตลาดแล้ว การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมก็เป็นประเด็นที่ภาคอุตสาหกรรมนี้ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการเร่งพัฒนาระบบดิจิทัล (Digitalization) ปัญญาประดิษฐ์ Cybersecurity,  IoT, Big Data รวมถึงเทคโนโลยี Dual-Use ผ่านการเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของสหภาพยุโรป อาทิ โครงการ Horizon 2020 โครงการ Framework Programme for research and innovation เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมให้ก้าวหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน

โดยที่อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศเป็นหนึ่งใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของไทย ดังนั้น จึงอาจเป็นอีกสาขาหนึ่งที่ไทยและสเปนจะสามารถร่วมมือกันได้ ทั้งในรูปแบบของการลงทุนโดยตรง และการร่วมมือเพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เป็นต้น

ติดตามสาระดี ๆ เกร็ดความรู้และโอกาสทางธุรกิจในสเปนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้ที่ https://bic-madrid.thaiembassy.org

 

ที่มาของภาพ

 

 


ข่าวใกล้เคียง

ข่าวใกล้เคียง