1,771 view

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในสเปน ปี 2565

shutterstock_530884738_1

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 กระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์และการท่องเที่ยวสเปน ได้เปิดเผยสถิติการลงทุนจากต่างประเทศในสเปนประจำปี 2565 โดยมีมูลค่าทั้งสิ้น 34,178 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งนับว่าเป็นสถิติการลงทุนจากต่างประเทศที่มากที่สุด รองจากปี 2561 (55,566 ล้านยูโร)

เมื่อจำแนกในเชิงภูมิศาสตร์ พบว่า แคว้นมาดริดเป็นพื้นที่ที่ได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด ด้วยมูลค่า 17,226 ล้านยูโร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50.4 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดในสเปน (ลดลงร้อยละ 21.6 จากปี 2564) ขณะที่แคว้นอื่น ๆ ที่ได้รับเงินลงทุนรองลงมา ได้แก่ แคว้นบาสก์ (5,516 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 258.2) แคว้นคาตาโลเนีย (3,883 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.6) แคว้นบาเลนเซีย (2,036 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 134.8) และแคว้นอันดาลูเซีย (1,265 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.3) โดยการลงทุนจากต่างประเทศใน 5 แคว้นข้างต้นรวมกัน มีสัดส่วนถึงร้อยละ 87.6 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศที่สเปนได้รับทั้งหมด

Inversión_extranjera_en_2022

ที่มาของภาพ เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ Expansión

ในด้านแหล่งเงินลงทุน  พบว่า สหรัฐ ฯ เป็นประเทศผู้ลงทุนหลักในปีที่ผ่านมา ด้วยมูลค่าการลงทุน 9,453 ล้านยูโร หรือร้อยละ 27.7 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดในสเปน และขยายตัวเพิ่มถึงร้อยละ 123.6 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 ขณะที่ประเทศที่มีการลงทุนในสเปนรองลงมา ได้แก่ สหราชอาณาจักร (ร้อยละ 17.8) เยอรมนี (ร้อยละ 14) ฝรั่งเศส (ร้อยละ 10) ออสเตรเลีย (ร้อยละ 4) และเนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 3) ขณะที่ฮ่องกงเป็นผู้ลงทุนจากเอเชียที่มีสัดส่วนการลงทุนมากที่สุด (อันดับ 10) มูลค่า 632 ล้านยูโร หรือร้อยละ 1.8  

ด้านสาขาธุรกิจ พบว่า การลงทุนจากต่างประเทศมากกว่าครึ่งในสเปน (ร้อยละ 55.1) อยู่ในสาขาบริการ รองลงมาคือสาขาอุตสาหกรรม (ร้อยละ 42.2) การก่อสร้าง (ร้อยละ 2.5) และการผลิตสินค้าปฐมภูมิ (ร้อยละ 0.2) ตามลำดับ

นอกจากนี้ ตามข้อมูล FDI Markets ซึ่งจัดทำโดย the Financial Times Group ของสหราชอาณาจักรยังระบุว่า ในปี 2565 สเปนเป็นประเทศที่ได้รับการลงทุนใหม่ (greenfield investment) จากต่างชาติ เป็นมูลค่า 44,560 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของสเปน และมากเป็นอันดับ 6 ของโลก คิดเป็นจำนวน 860 โครงการ นำหน้าประเทศอย่างจีน ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ทั้งนี้ จากการเก็บสถิติพบว่า สเปนมีจำนวนโครงการลงทุนใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แทบทุกปี (ปี 2563 จำนวน 554 โครงการ  / ปี 2564 จำนวน 838 โครงการ) 

นอกจากนี้ สเปนยังเป็นประเทศที่รับการลงทุนใหม่ในสาขาพลังงานทดแทน สาขา ICT และโครงสร้างพื้นฐานอินเตอร์เนต มากเป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นประเทศที่รับการลงทุนโครงการด้าน R&D มากเป็นอันดับ 4 ของโลก รวมถึง รับการลงทุนโครงการด้านยานยนต์และโครงการด้านไฮโดรเจนสีเขียวมากเป็นอันดับ 4 ของโลกอีกด้วย     

มุมมองของนักลงทุนต่างชาติ  ตามรายงานเรื่องดัชนีบรรยากาศการดำเนินธุรกิจในสเปน (Barometer of the Business Climate in Spain) ปี 2565 ซึ่งจัดทำโดยหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนและการส่งออกสเปน หรือ ICEX ร่วมกับสมาคมบริษัทข้ามชาติ (Foreign Multinationals for the Spain) และมหาวิทยาลัย IESE ระบุว่าสเปนเป็นประเทศที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านในยุโรป โดยเฉพาะในภาคการส่งออก โดยในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2565 ที่ผ่านมา สเปนสามารถส่งออกสินค้า มีมูลค่าสูงถึง 286,673 ล้านยูโร ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.7 ในด้านมูลค่า และร้อยละ 4.8 ในด้านปริมาณ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า)

ในภาพรวม ในปี 2566 บริษัทต่างชาติ มองว่า แม้จะมีสัญญาณเชิงบวกในด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่  ก็ยังมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าพึงระวังและอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสเปน ได้แก่ ความผันผวนของบรรยากาศเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ความไม่มั่นใจดังกล่าวของนักลงทุนต่างชาติได้สะท้อนให้เห็นจากการให้คะแนนสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจในสเปน ในปี 2565 ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.9 / 5 คะแนน ลดลงมาจากปี 2564 หนึ่งจุดทศนิยม

ด้านการลงทุน  ในปี 2565 มีบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในสเปนร้อยละ 84 ที่มีการเพิ่มหรือรักษาระดับการลงทุนในสเปนเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (ปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 88) ในขณะที่ มีบริษัทต่างชาติ ร้อยละ 84 ที่คาดว่า จะมีการปรับเพิ่มหรือรักษาระดับการลงทุนไว้เท่าเดิม ในปี 2566

Main_strengths

จุดเด่นของสเปน

นอกจากนี้ ในทัศนะของนักลงทุนต่างชาติ ยังเห็นว่า จุดเด่นของสเปนที่เอื้อต่อการลงทุน ได้แก่ 1) โครงสร้างพื้นฐาน โครงข่ายโทรคมนาคม คุณภาพของท่าอากาศยาน ถนน ท่าเรือและรถไฟความเร็วสูง 2) ขนาดของตลาด และ 3) ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ (มีวุฒิการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และมีศักยภาพในการเรียนรู้/ฝึกฝน) ขณะที่ ข้อที่ควรปรับปรุง ได้แก่ 1) ค่าไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่สูง (ค่าก๊าซ น้ำมันเชื้อเพลิง และค่าขนส่ง)  2) การดำเนินงานของศาลแพ่งพาณิชย์ รวมถึง ระบบราชการโดยทั่วไปที่ยังขาดประสิทธิภาพ 3) ความซับซ้อน/ล้าหลังของระบบภาษีและระบบประกันสังคมที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน และ 4) นวัตกรรมที่ยังขาดความทันสมัย ซึ่งนักลงทุนต้องการให้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาด้านการวิจัยนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น

Main_weaknesses

จุดด้อยของสเปน

Comparison_of_scores_2021-2022

การเปรียบเทียบผลการศึกษาของปี 2564 และ 2565

ในภาพรวม คะแนนของสเปนในปี 2565 ยังอยู่ในเชิงบวก ถึงแม้คะแนนในบางดัชนีจะต่ำกว่าปี 2564 เล็กน้อย แต่โดยรวมก็ยังคงสูงกว่าปี 2563  โดยดัชนีที่ได้รับการประเมินให้สูงขึ้น ได้แก่ ตลาดแรงงาน และนวัตกรรม ส่วนดัชนีที่ได้รับการประเมินต่ำลง ได้แก่ คุณภาพชีวิตเนื่องจากค่าครองชีพและใช้จ่ายต่าง ๆ ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะ ราคาพลังงาน และค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมการเงิน  

 

************************* 

 

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด

มีนาคม 2566