วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 993 view

ระบบโลจิสติกส์[1]

สเปนเป็นประเทศที่มีระบบการคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย ทำให้สามารถเดินทางได้สะดวกทั้งภายในประเทศและทวีปยุโรป นอกจากนี้ สเปน ยังมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะเป็นประตูสู่ตลาดยุโรป ลาตินอเมริกาและตอนเหนือของทวีปแอฟริกา ทำให้บริษัทยุโรปและเอเชียหลายบริษัทเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ในสเปนเพื่อติดต่อค้าขายกับลาตินอเมริกา ในขณะที่บริษัทจากลาตินอเมริกาเข้ามาตั้งสาขาที่สเปนเพื่อทำตลาดในยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง

ท่าอากาศยาน

ท่าอากาศยานกรุงมาดริดและนครบาร์เซโลนาเป็น 1 ใน 10 ท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป นอกจากนี้ สเปนยังมีผู้โดยสารที่เดินทางทางอากาศมากที่สุดอันดับ 3 ในยุโรป รองจากสหราชอาณาจักรและเยอรมนี สเปนมีท่าอากาศยานทั้งหมด 48 แห่ง (ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.aena.es/en/passengers/airports-network.html)

ท่าเรือ

สเปนเป็นประเทศอันดับ 3 ของการขนส่งทางเรือในยุโรป รองจากเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ตามสถิติปี ค.ศ. 2015 สเปนมีท่าเรือ 3 แห่งที่ติดอันดับ 15 ท่าเรือที่มีการขนส่งมากที่สุดในยุโรป ได้แก่ บาเลนเซีย อัลเฆซิราส และบาร์เซโลนา (อันดับที่ 5 อันดับที่ 6 และอันดับที่ 14 ตามลำดับ)[2]

  • ท่าเรือบาเลนเซีย (Port of Valencia) ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศ เป็นท่าเรือที่มีการใช้งานมากเป็นอันดับ 5 ของยุโรป และเป็นท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดของสเปนและในแถบเมดิเตอร์เรเนียน ท่าเรือบาเลนเซียมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจสเปน เพราะมีที่ตั้งที่ได้เปรียบเนื่องจากอยู่ใกล้ Suez-Gibraltar Axis ยุโรปตอนใต้และแอฟริกาเหนือ มีเครือข่ายคมนาคมที่กว้างขวางและเชื่อมต่อกับ Mediterranean Corridor ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมทางรถไฟที่ครอบคลุมพื้นที่ตอนใต้ของยุโรปและเมดิเตอร์เรเนียน ทำให้การกระจายและการขนส่งสินค้าจากท่าเรือไปยุโรปตอนใต้ และแอฟริการเหนือทำได้สะดวกและรวดเร็ว สินค้าสามประเภทแรกที่มีการขนส่งมากที่สุดในปี ค.ศ. 2015 คือ 1) สินค้าทั่วไป 2) สินค้าวัตถุดิบ  และ 3) สินค้าสัตว์น้ำและอาหาร/เครื่องดื่ม[3]  ตามลำดับ
  • ท่าเรืออัลเฆซิราส (Port of Algeciras) ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของสเปน บริเวณช่องแคบยิบรอลตาร์ เป็นสะพานเชื่อมระหว่างทวีปยุโรปและทวีปแอฟริกา สินค้าสามประเภทแรกที่มีการขนส่งมากที่สุดในปี ค.ศ. 2016 คือ 1) สินค้าทั่วไป 2) การขนส่งภายในพื้นที่ และ 3) สินค้าวัตถุดิบชนิดเหลว[4]
  • ท่าเรือบาร์เซโลนา (Port of Barcelona) ตั้งอยู่ที่นครบาร์เซโลนา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสเปน ท่าเรือแบ่งออกเป็น 3 ส่วนได้แก่ 1) ท่าเรือเพื่อใช้ในการสันทนาการ (City Port) 2) ท่าเรือในเชิงพาณิชย์(Commercial Port) ซึ่งถือว่าใหญ่เป็นอันดับ 3 ของสเปนและอันดับ 9 ในยุโรป และ 3) ท่าเรือ Logistics Port   ตามสถิติปี ค.ศ. 2015 สินค้าสามประเภทแรกที่มีการขนส่งมากที่สุด คือ 1) ผลิตภัณฑ์พลังงานและเชื้อเพลิง (ร้อยละ 23) 2) ยานพาหนะและส่วนประกอบ (ร้อยละ 20.8) และ 3) สินค้าอื่น ๆ ที่ไม่สามารถจัดประเภทได้ (ร้อยละ 17 ได้แก่ ไม้  กระดาษและเยื่อกระดาษ เครื่องจักรและอะไหล่ทดแทน ฯลฯ)[5]

ถนน

สเปนเป็นอันดับ 1 เรื่องเครือข่ายถนน-ทางด่วนของยุโรป ระยะทางรวมของถนนในสเปนถือว่ามีสัดส่วนสูง (5.9%) เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของ EU (1.2%) สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น (0.6%) เครือข่ายถนน-ทางด่วนที่ผ่านประเทศสเปนจะเชื่อมต่อไปยังประเทศฝรั่งเศสและประเทศโปรตุเกส

 

รถไฟ

สเปนมีเครือข่ายรถไฟที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ในบรรดากลุ่มประเทศ EU 15 (15,500 กิโลเมตร) เป็นผู้นำของโลกด้านรถไฟฟ้าความเร็วสูง เป็นประเทศอันดับ 1 ของยุโรปเรื่องระยะทางการให้บริการรถไฟฟ้าความเร็วสูงด้วยระยะทาง 2,515 กิโลเมตร และเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและญี่ปุ่น สเปนมีบริการรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เชื่อมต่อไปยังประเทศฝรั่งเศส นอกจากนี้ สถานีรถไฟ 31 แห่งใน 21 จังหวัดของสเปนเชื่อมต่อโดยตรงกับเครือข่ายรถไฟฟ้าความเร็วสูงของสเปน ปัจจุบัน สเปนอยู่ระหว่างการถ่ายโอนเทคโนโลยี/ทำข้อตกลงกับการรถไฟของประเทศต่าง ๆ และเป็นประเทศชั้นนำของโลกด้านการรถไฟในด้านการให้คำปรึกษา วิศวกรรม การก่อสร้าง และอุปกรณ์ต่าง ๆ อาทิ โครงการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เชื่อมต่อระหว่างนครเมกกะกับเมืองเมดินาของซาอุดีอาระเบีย ระยะทาง 450 กม และเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เชื่อมระหว่างอังการาและอีสตันบูล ระยะทาง 206 กม.

 

บทความที่เกี่ยวข้อง


[1] แหล่งข้อมูล http://www.investinspain.org/invest/es/por-que-espana/index.html

http://www.investinspain.org/invest/wcm/idc/groups/public/documents/documento/mda0/ndyw/~edisp/4460900.pdf

[2]http://www.europasur.es/article/maritimas/2232097/los/principales/puertos/europa/mueven/millones/teus.html

[3] http://www.valenciaport.com/es/VALENCIAPORT/Trafico/Paginas/Mercancias.aspx

[4] ข้อมูลจาก Tráfico total en toneladas  ใน http://www.apba.es/estadisticas

[5]เอกสารหน้า 18 จาก http://content.portdebarcelona.cat/cntmng/d/d/workspace/SpacesStore/7b73d5aa-3208-4f01-a22e-a291ba788f6a/portBcnTrafic2015_12_es.pdf

ที่มาของภาพ http://www.investinspain.org/invest/en/why-spain/competitive-business-environment/index.html