การพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพของสเปน

การพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพของสเปน

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 8 มี.ค. 2564

| 4,703 view

shutterstock_210787444

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาระบบนิเวศสตาร์ทอัพในสเปนมีพัฒนาการที่เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยข้อมูลของเว็บไซต์ StartupBlink เรื่อง Global Countries Ranking of Startup Ecosystem ปี ค.ศ. 2020 พบว่าสเปนเป็นประเทศที่มีระบบนิเวศสตาร์ทอัพดีที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก ขณะที่นครบาร์เซโลนาและกรุงมาดริดได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่ดีที่สุดเป็นอันดับที่ 27 และ 35 ของโลกตามลำดับ 

ตามรายงานของศูนย์สังเกตการณ์สตาร์ทอัพสเปน ภายใต้มูลนิธินวัตกรรมของธนาคาร Bankinter (Observatorio de Startups de la Fundacion Innovacion Bankinter) ระบุว่าในปี ค.ศ. 2020 สตาร์ทอัพของสเปนที่มีเงินลงทุนสูงกว่า 1,105 ล้านยูโร มีจำนวนลดลงถึง ร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2019 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาโควิด-19 แต่ขณะเดียวกันก็พบว่า สตาร์ทอัพสเปน โดยเฉพาะระดับ Seed Fund, Series A และ Series B[1] กลับมีจำนวนการดำเนินการ (operations) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 36

ทั้งนี้ ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีเงินลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรกในสเปน ในปีที่ผ่านมา ได้แก่ 1) Glovo ในธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์ มีการลงทุนมูลค่า 120 ล้านยูโร 2) Flywire ในธุรกิจสาขา FinTech/InsurTech มีการลงทุนมูลค่า 113.4 ล้านยูโร และ 3) Devo Technology ในธุรกิจสาขาความมั่นคงทางไซเบอร์ มีการลงทุนมูลค่า 50.6 ล้านยูโร โดยในภาพรวมแล้ว สาขาธุรกิจที่สามารถดึงดูดการลงทุนได้มากที่สุดในปี ค.ศ. 2020 ได้แก่ สุขภาพ ความมั่นคงทางไซเบอร์ และการศึกษา

และเพื่อเป็นการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพของสเปน ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลสเปนก็ได้ประกาศใช้ยุทธศาสตร์ผู้ประกอบการแห่งชาติ (Estrategia España Nación Emprendedora) เพื่อสนับสนุนการเพิ่มจำนวนของผู้ประกอบการในด้านนวัตกรรม และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในธุรกิจสตาร์ทอัพให้เพิ่มมากขึ้น ภายในปี ค.ศ. 2030  โดยมีเป้าหมายประกอบด้วย 1) การเร่งให้เกิดการลงทุนในสเปน 2) การขับเคลื่อนให้สเปนเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยบุคลากรทักษะสูง และดึงดูดให้บุคลากรทักษะสูงจากต่างชาติเข้ามาทำงาน 3) การส่งเสริมการขยายตัวของธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศ และ 4) เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการของภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนการพัฒนาด้านนวัตกรรม

ทั้งนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับ 10 สาขาธุรกิจ ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสเปน ได้แก่ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม การคมนาคม สุขภาพ การก่อสร้างและอุปกรณ์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม การเงินและการธนาคาร ดิจิทัลและโทรคมนาคม เกษตรและอาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ โดยรัฐบาลสเปนจะออกมาตรการต่างๆ กว่า 50 รายการ เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย อาทิเช่น  

  • การสร้างแบรนด์สเปนให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก และเสริมสร้างให้สเปนเป็นชาติแห่งผู้ประกอบการ   
  • การจัดตั้งศูนย์ผู้ประกอบการแห่งชาติ ที่จะเป็นกลไกสั่งการและประสานงานการให้บริการ/การสนับสนุนต่างๆ ระหว่างผู้ประกอบการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน       
  • การออกกฎหมายส่งเสริมระบบนิเวศบริษัทเกิดใหม่ หรือกฎหมายสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นที่คาดว่าคณะรัฐมนตรีสเปนจะอนุมัติกฎหมายดังกล่าวในอนาคตอันใกล้นี้ โดยจะเป็นครั้งแรกที่มีการใช้กฎหมายดังกล่าวในสเปน ซึ่งจะครอบคลุมทุกเรื่องที่เกี่ยวกับธุรกิจสตาร์ทอัพ อาทิ สิทธิพิเศษด้านภาษี การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าทำงานและการขอบัตรประจำตัวให้แก่นักลงทุน/ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติในธุรกิจสตาร์ทอัพในสเปน เป็นต้น

ในโอกาสนี้ ศูนย์ข้อมูลฯ จะขอนำท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับตัวอย่างของธุรกิจสตาร์ทอัพสเปนที่กำลังเป็นดาวรุ่งอยู่ในขณะนี้ ได้แก่

1) Methinks - เป็นสตาร์ทอัพจากนครบาร์เซโลนา โดยบริษัทฯ ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Deep Learning ในรูปแบบของซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เป็นการเลียนแบบระบบเซลล์ประสาทในสมองของมนุษย์ โดย AI ของบริษัทฯ ถูกนำไปใช้ในเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิดไม่ฉีดสี (Non-contrast CT scan) ที่ใช้การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อช่วยประเมินอาการของผู้ป่วยเพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างแม่นยำและทันท่วงที

Methinks

2) IriusRisk - สตาร์ทอัพจากเมืองอูเอสกา ให้บริการ Treat Modeling Platform ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่จะช่วยให้โปรแกรมเมอร์สามารถสร้างแอปพลิเคชันได้อย่างปลอดภัยและลดความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นได้ขณะพัฒนาแอปพลิเคชัน ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการที่จะต้องไปแก้ไขข้อผิดพลาดภายหลังการผลิต และขณะนี้ IriusRisk ได้ขยายกิจการไปจัดตั้งสำนักงานทั้งในสหรัฐ ฯ และสหราชอาณาจักรแล้ว

3) ADbioplastics - เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและผลิตพลาสติกชีวภาพ หรือ Premium-grade Polylactic Acid (PLA) จากข้าวโพด อ้อยและ/หรือบีทรูท  โดย ADBioplastics ได้รับสิทธิบัตรเทคโนโลยี  BlockPLA ของตนเองในการพัฒนาคุณภาพ PLA ที่ทำให้พลาสติกสามารถย่อยสลายได้เองผ่านกระบวนการ   ทางชีวภาพ (biodegradable / compostable) ทั้งนี้ สตาร์ทอัพรายนี้ได้รับการจัดอันดับโดย Startus Insights ให้เป็น “5 Top Bio-Based Polymer Startups Impacting The Materials Sector” ของโลกด้วย

Bio-Based-Polymers-Startups-Materials-Heat-Map-StartUs-Insights-noresize-1

4) SingularCover - เป็นสตาร์ทอัพนายหน้าประกันภัยในรูปแบบออนไลน์สำหรับกลุ่มลูกค้า SMEs และผู้ประกอบการ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถซื้อประกันภัยได้ผ่านช่องทางออนไลน์ในเวลาอันรวดเร็วและครอบคลุมเฉพาะบริการที่ลูกค้าต้องการได้ โดย SingularCover ยังได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันสตาร์ทอัพในงาน South Summit 2020 Startup Competition อีกด้วย

5) Graniot - เป็นสตาร์ทอัพสาขา agrotech ที่ใช้เทคโนโลยี geospace โดยการประมวลข้อมูลจากจากดาวเทียม ร่วมกับฐานข้อมูลด้านเกษตรกรรมทั้งระดับชาติและนานาชาติ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนการเพาะปลูกพืชของเกษตรกร โดยระบบของ Graniot จะทำหน้าที่แจ้งข้อมูลเชิงเทคนิคที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจได้ว่าควรรดน้ำหรือให้ปุ๋ยพืชในขณะนั้นๆ หรือไม่ ซึ่งเป็นการช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างมาก และยังเป็นการช่วยเพิ่มคุณภาพให้กับผลผลิตทางการเกษตรด้วย

อนึ่ง ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 สเปนมีกำหนดจัดงาน South Summit 2021 Startup Competition  ที่กรุงมาดริด เพื่อเป็นเวทีเชื่อมโยงธุรกิจสตาร์ทอัพกับนักลงทุนเข้าด้วยกัน โดยภายในงานดังกล่าว จะเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพจากทั่วโลกส่งข้อเสนอโครงการเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งผู้ชนะจะได้รับสิทธิให้ร่วมเปิดตัวธุรกิจของตนเองในงานฯ ด้วย ทั้งนี้ สตาร์ทอัพไทยที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและยื่นใบสมัครได้ผ่านเว็บไซต์ https://southsummit.co/en/startup-competition-en/ ภายในวันที่ 27 เมษายน ศกนี้ 

ติดตามสาระดี ๆ เกร็ดความรู้และโอกาสทางธุรกิจในสเปนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้ที่ https://bic-madrid.thaiembassy.org

 

[1]  การระดมทุนของสตาร์ทอัพแบ่งได้หลายระดับ ดังนี้

  • ระดับ Pre-seed เป็นการระดมทุนของธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น มีเพียงแนวคิด ทีมพัฒนาและแผนธุรกิจเพื่อนำไปเสนอผู้ลงทุน ซึ่งมูลค่าในการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 600,000 – 1.5 ล้านบาท
  • ระดับ Seed Fund เป็นการลงทุนสำหรับธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้แล้วในระดับหนึ่ง และต้องการพัฒนาธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ดีขึ้น กลุ่มผู้ที่ลงทุนในธุรกิจระดับนี้มักมีชื่อเรียกว่า Angle Investor หรือนักลงทุนอิสระที่มาช่วยลงทุนแบบเน้นคุณค่าให้กับธุรกิจในระยะเริ่มต้น และ Early Venture Capital หรือธุรกิจร่วมลงทุนระยะต้น ซึ่งมูลค่าการลงทุนระดับนี้อยู่ที่ 3–100 ล้านบาท
  • ระดับ Series A เป็นธุรกิจที่เป็นที่รู้จักแล้ว มองเห็นความสำเร็จและมีโมเดลธุรกิจที่เห็นชัดเจนแล้วว่าต้องการสร้างมาเพื่อทำธุรกิจประเภทใด กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร ผลลัพธ์ของการทำธุรกิจคืออะไร เพื่อเตรียมที่จะขยายให้มากขึ้นในตลาด ผู้ลงทุนในธุรกิจระดับนี้คือ Venture Capital หรือธุรกิจร่วมลงทุน และ Corporate Venture Capital หรือการลงทุนของบริษัทใหญ่ โดยมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 33 – 495 ล้านบาท
  • ระดับ Series B และ C  เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จในระดับภูมิภาคแล้วและต้องการขยายธุรกิจและฐานลูกค้าไปในระดับโลก เงินลงทุนมักมาจาก Venture Capital ขนาดใหญ่ และ Corporate Venture Capital โดยมีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 100–3,000 ล้านบาท

(ข้อมูลจาก https://digitalmarketingwow.com)