การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในสเปน ปี 2567
ภาพรวมเศรษฐกิจสเปน
เศรษฐกิจสเปนเติบโตดีจนได้รับการยกย่องจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ในปี 2567 เช่น องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) องค์การกองทุนระหว่างประเทศ (IMF) และสหภาพยุโรป โดยสำนักข่าว the economist ได้กล่าวถึงสเปนว่ามีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและเติบโตดีที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วสำหรับปี 2567 โดยประเมินจากอัตรา GDP การจ้างงานและการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2568 สถาบันสถิติแห่งชาติสเปนได้เปิดเผยตัวเลขทางเศรษฐกิจของสเปน โดย GDP ในไตรมาส 4/2567 ของสเปนขยายตัวร้อยละ 0.8 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 (GDP สเปนขยายตัวร้อยละ 0.8 อย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1-3 ตามลำดับ) ส่งผลให้ในปี 2567 ที่ผ่านมา GDP ของสเปนโดยรวมขยายตัวร้อยละ 3.2 (ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.5 ในปี 2566 และร้อยละ 5.8 ในปี 2565) ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าที่รัฐบาลสเปนได้เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ที่ร้อยละ 2.7 ในขณะที่ธนาคารแห่งชาติสเปน และ IMF ประเมินไว้ที่ร้อยละ 3.1 ทั้งนี้ ตัวเลขการขยายตัวดังกล่าวสูงกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของยูโรโซนถึง 4 เท่า โดยมีปัจจัยสำคัญหลักคือ การใช้จ่ายในครัวเรือน การท่องเที่ยว และการสร้างงาน
การลงทุนจากต่างประเทศของสเปนระหว่างเดือน ม.ค. - ก.ย. ในปี 2567 มีมูลค่า 23.60 พันล้านยูโร ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ประเทศที่ลงทุนมากที่สุดในสเปน ได้แก่ สหราชอาณาจักร (9.17 พันล้านยูโร) สหรัฐฯ (3.48 พันล้านยูโร) และฝรั่งเศส (1.60 พันล้านยูโร) ตามลำดับ โดยแบ่งเป็นการลงทุนในแคว้นมาดริด ร้อยละ 72 แคว้นคาตาโลเนีย ร้อยละ 14.6 และแคว้นอัซตูเรียส ร้อยละ 2 ตามลำดับ อนึ่ง มูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศในสเปนขยายตัวร้อยละ 16 หลังจากวิกฤติโควิด-19 และสเปน ยังคงเป็นมุดหมายลำดับต้น ๆ ของการลงทุนจากต่างประเทศ โดยล่าสุด บริษัท Stellantis และ CATL ลงทุนกว่า 4 พันล้านยูโรเพื่อจัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่เมือง Zaragoza และการจัดตั้งศูนย์ AI ของ European High Performance Computing Company ในบาร์เซโลนา
นอกจากนี้ ตามข้อมูล FDI Markets ซึ่งจัดทำโดย the Financial Times Group ของสหราชอาณาจักร ระบุว่า ในปี 2567 (มกราคม-พฤศจิกายน) สเปนได้รับการลงทุนใหม่ (greenfield investment) จากต่างชาติเป็นมูลค่า 33,000 ล้านยูโร มากเป็นอันดับ 5 ของโลก คิดเป็นจำนวน 682 โครงการ และสร้างงานกว่า 60,000 ตำแหน่ง
มุมมองของนักลงทุนต่างชาติ
ตามรายงานดัชนีสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจในสเปน (Barometer of the Business Climate in Spain) ประจำปี 2567 ซึ่ง ICEX ได้ร่วมกับสมาคมบริษัทข้ามชาติ (Foreign Multinationals for the Spain) และศูนย์ International Center for Competitiveness (ICC) ของมหาวิทยาลัย IESE Business School
สาระสำคัญในรายงานฯ พบว่าในภาพรวม นักลงทุนต่างชาติให้คะแนนสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจในสเปนในปี 2567 ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.85 / 5 คะแนน ลดลงมาจากปี 2566 ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.9 คะแนน บริษัทข้ามชาติที่จัดตั้งในสเปนมีทัศนคติเชิงบวกต่อสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจในสเปนแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ในส่วนของปี 2568 บริษัทข้ามชาติในสเปนก็ยังคงมีทัศนคติเชิงบวกต่อการลงทุน ผลประกอบการ การจ้างงานและปริมาณการส่งออก นอกจากนี้ ในทัศนะของนักลงทุนต่างชาติเห็นว่าจุดเด่นของสเปนที่เอื้อต่อการลงทุนมากที่สุด ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน ขนาดของตลาด และทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ
ด้านการลงทุน ในปี 2567 มีบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในสเปนร้อยละ 86 ที่มีการเพิ่มหรือรักษาระดับ การลงทุนในสเปน ถึงแม้จะลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (ปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 88) ในขณะที่มีบริษัทต่างชาติร้อยละ 89 ที่คาดว่าจะเพิ่มหรือรักษาระดับการลงทุนไว้เท่าเดิมในปี 2568
จุดเด่นของสเปน
รายงานฯ ยังระบุด้วยว่าในทัศนะของนักลงทุนต่างชาติเห็นว่าจุดเด่นของสเปนที่เอื้อต่อการลงทุน ได้แก่ 1) โครงสร้างพื้นฐาน 2) ขนาดของตลาด และ 3) ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ขณะที่มิติที่ควรปรับปรุงสำหรับสเปนในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติเป็นเรื่องของระบบภาษี การดำเนินงานของศาลแพ่งพาณิชย์ ระบบราชการโดยทั่วไปที่ยังขาดประสิทธิภาพ รวมถึงค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า สำหรับเหตุผลที่นักลงทุนจะเลือกลงทุนในสเปน นักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญกับเรื่องตำแหน่งที่ตั้งของประเทศมาเป็นอันดับแรก ตามด้วยขนาดตลาดภายในประเทศ และโอกาสในการเข้าสู่ตลาดอื่น ๆ จากสเปน
จุดด้อยของสเปน
เหตุผลที่เลือกลงทุนในสเปน
*************************
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด
มีนาคม 2568