ศักยภาพด้านอวกาศของสเปน

ศักยภาพด้านอวกาศของสเปน

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 8 ก.พ. 2564

| 5,065 view

spac

วันนี้ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด จะขอพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีอวกาศของสเปน ซึ่งกำลังได้รับการพัฒนาให้เป็นกิจกรรมในเชิงพาณิชย์ที่สร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับสเปนในปัจจุบัน

  1. ภูมิหลังพัฒนาการด้านอวกาศของสเปน

         - เมื่อปลายทศวรรษ 1980 นาย Jordi Puig-Suari นักวิทยาศาสตร์ชาวสเปนกับนาย Robert Twiggs นักวิทยาศาสตร์ชาวสหรัฐฯ ได้ร่วมกันประดิษฐ์ดาวเทียมขนาดเล็กรูปขนาด 10x10x10 เซนติเมตร ชื่อ CubeSats ขึ้นมาเพื่อให้นักศึกษาระดับปริญญาเอกทำการศึกษา ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติในด้านอวกาศที่สำคัญ เพราะหลังจากนั้นไม่ก็ปี CubeSats ก็ได้กลายเป็นรูปแบบดาวเทียมมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลก โดยมีการปล่อยดาวเทียมที่ผลิตจากแบบของ CubeSats ดวงแรกสู่อวกาศ ในปี ค.ศ. 2003

         - ต่อมาในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2008-2012 นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบีโก (แคว้นกาลิเซีย) ได้ร่วมกับสถาบันเทคนิคการบินอวกาศแห่งสเปน (Instituto Nacional de Técnica Aeroespacial- INTA) พัฒนาดาวเทียมขนาดเล็ก (Nanosatelite) ดวงแรกของสเปนชื่อ Xatcobeo และส่งขึ้นไปยังอวกาศได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ. 2012

         - จากนั้นในปี ค.ศ. 2018 สเปนก็ได้ส่งดาวเทียมสอดแนม PAZ ขึ้นไปยังอวกาศจากฐานทัพทหาร Vandenberg (มลรัฐแคลิฟอร์เนีย) โดยใช้บริการของบริษัทสหรัฐฯ Space X 

         - ปลายปี ค.ศ. 2019 องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency - ESA) ได้ส่งดาวเทียมติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ CHaracterising ExOPlanets Satellite หรือ CHEOPS ซึ่งผลิตโดยบริษัท Airbus Defence and Space ในสเปน ขึ้นสู่อวกาศ เพื่อใช้ในการสำรวจขนาดดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะจักรวาล ซึ่งขณะนี้ดาวเทียมดวงดังกล่าว ยังอยู่ในวงโคจรที่ความสูง 700 กิโลเมตร เหนือพื้นโลก

         - ล่าสุด เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา บริษัท Airbus Defence and Space ได้ชนะการประมูลโครงการออกแบบ พัฒนาและสร้างดาวเทียม Sentinel สำหรับโครงการ Copernicus ของ ESA ด้วยงบประมาณ 389 ล้านยูโร เพื่อใช้เฝ้าระวังและวัดอุณหภูมิพื้นผิวโลก (Land Surface Temperature Monitoring - LSTM) ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จครั้งสำหรับของสเปน เนื่องจากเป็นภารกิจแรกของโครงการ Copernicus ที่บริษัทสเปนสามารถประมูลได้

         - และในช่วงปลายปีนี้ แคว้นคาตาโลเนียยังมีแผนจะส่งดาวเทียมขนาดเล็กดวงแรกของแคว้น (ผลิตโดยบริษัท Sateliot ของสเปน) ขึ้นสู่อวกาศ เพื่อใช้พัฒนาการเชื่อมต่อสัญญานสื่อสารในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยากในแคว้นคาตาโลเนีย ผ่านระบบ IoT และ 5G  และในอนาคตยังมีโครงการจะส่งดาวเทียมขนาดเล็กดวงที่สอง (ผลิตโดยบริษัท Open Cosmos ของสเปน) เพื่อใช้สังเกตและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ขึ้นสู่ห้วงอวกาศด้วย

         นอกจากนี้ ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า สเปนก็มีนักบินอวกาศเช่นกัน โดยเฉพาะนาย Pedro Duque   ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ก็เคยเป็นนักบินอวกาศมาก่อน และยังเคยเดินทางไปท่องอวกาศมาแล้วถึง 2 ครั้ง กับยาน Discovery เมื่อปี ค.ศ. 1998 และยาน Soyuz เมื่อ   ปี ค.ศ. 2003 รวมทั้ง ยังมีประสบการณ์การทำงานใน ESA และเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารบริษัท Deimos Imaging, S. L. ของสเปน ซึ่งเป็นผู้ผลิตดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลกดวงแรกของสเปนมาแล้วด้วย

  1. ศักยภาพด้านอวกาศของสเปนในปัจจุบัน

         จากความสำเร็จที่กล่าวมาข้างต้น ส่งผลให้ปัจจุบันกิจการด้านอวกาศของสเปนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ โดยในสหภาพยุโรป สเปนเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ESA ร่วมกับเยอรมนี เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ฮอลแลนด์ อิตาลี สหราชอาณาจักร สวีเดนและสวิตเซอร์แลนด์ และมีส่วนร่วมในโครงการด้านอวกาศของสหภาพหลายโครงการไม่ว่าจะเป็น  Galileo, Copernicus, SST (Space Surveillance and Tracking) หรือ GOVSATCOM  ทั้งนี้ จากข้อมูลในปี ค.ศ. 2018 สเปนได้ลงทุนในโครงการของ ESA ที่เป็นโครงการภาคบังคับจำนวน 64 โครงการ และโครงการภาคสมัครใจอีก 146 โครงการ รวมทั้ง ยังได้ลงทุนในโครงการอวกาศอื่นๆ ของสหภาพยุโรปอีก 135 โครงการ

         นอกจากนี้ สเปนยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นที่ตั้งศูนย์บริการ GNSS ยุโรป (European GNSS Service Centre - GSC) และตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 เป็นต้นมา สเปนยังได้รับคัดเลือกให้เป็นที่ตั้งศูนย์เฝ้าระวังความมั่นคงของระบบ Galileo (The Galileo Security Monitoring Centre - GSMC) แทนสหราชอาณาจักรซึ่งได้ออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปด้วย 

         ส่วนในระดับประเทศ  การบินและอวกาศ (Aerospace) ได้ถูกจัดให้เป็นสาขายุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 โดยกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์และการท่องเที่ยวสเปน ได้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับการพัฒนาสาขาอวกาศของสเปนขึ้น (Agenda sectorial de la industria espacial española) เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการในการส่งเสริมความแข็งแกร่งและการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศสเปนในอนาคต 

         แม้ปัจจุบัน สเปนยังไม่มีการจัดตั้งองค์กรอวกาศแห่งชาติขึ้นเป็นการเฉพาะ แต่ก็มีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินกิจกรรมในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศอย่างต่อเนื่อง นอกจากกระทรวงอุตสาหกรรมฯ แล้ว ยังมีหน่วยงานวิชาการ อาทิ สถาบันเทคนิคการบินอวกาศแห่งสเปน (Instituto Nacional de Técnica Aeroespacial- INTA) ขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหมสเปน เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการบิน อวกาศ การป้องกันประเทศ ความมั่นคง และให้บริการเทคโนโลยีอากาศแก่ภาคเอกชน หรือ สถาบันดาราฟิสิกส์แคว้นอันดาลูเซีย (Instituto de Astrofísica de Andalucía-CSIC) ซึ่งทำการวิจัยสาขาดาราฟิสิกส์ การพัฒนากล้องโทรทรรศน์ทางไกลสำหรับยานอวกาศ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสถาบัน การศึกษาหลายแห่งที่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีวิศวกรรมการบินอวกาศ อาทิ Universidad Política de Madrid, Universitat Politècnica de Catalunya, Universitat Politècnica de València, Universidad Carlos III de Madrid และ Universidad de Sevilla เป็นต้น 

         หากพิจารณาในเชิงเศรษฐกิจ ตามรายงานของบริษัท KPMG เรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมจากอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ความมั่นคง การบินและอวกาศ (KPMG Informe Impacto Económico y Social de la industria de Defensa, Seguridad, Aeronáutica y Espacio) ระบุว่าในปี ค.ศ. 2019 ผลประกอบการของบริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ความมั่นคง การบินและอวกาศของสเปน (Asociación Española de Tecnologías de Defensa, Seguridad, Aeronáutica y Espacio หรือ TEDAE) ในสาขาอวกาศอยู่ที่ 967 ล้านยูโร คิดเป็นร้อยละ 0.13 ของ GDP ของสเปน โดยธุรกิจอวกาศที่ใช้ในกิจการพลเรือนมีส่วนแบ่งผลประกอบการสูงถึง 795 ล้านยูโรหรือเทียบเท่าร้อยละ 0.11 ของ GDP ประเทศ ขณะที่ธุรกิจอวกาศที่ใช้ในกิจการทหารมีมูลค่า 172 ล้านยูโร นอกจากนี้ ยังพบว่า รายได้ของธุรกิจด้านอวกาศของสเปน ถึงร้อยละ 81 มาจากการส่งออกสินค้าและเทคโนโลยีไปยังต่างประเทศ โดยสินค้าด้านอวกาศในกลุ่ม Upstream (เกี่ยวข้องกับระบบปฏิบัติการควบคุมดาวเทียมหรือ Satellite Operation) ของสเปน เป็นสินค้าที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุด โดยมีบริษัทสเปนมากกว่า 20 ราย ที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าประเภทนี้ในระดับโลก

  1. ธุรกิจด้านอวกาศของสเปน

        ปัจจุบัน บริษัทที่อยู่ในธุรกิจอวกาศของสเปนส่วนใหญ่ เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้เป็นบริษัทขนาดใหญ่ แต่ก็เป็นบริษัทที่ศักยภาพในการแข่งขันที่ไม่แพ้ชาติอื่น โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ

        3.1 สเปนมีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านอวกาศครบทั้ง Value Chain ตั้งแต่การออกแบบและผลิตดาวเทียมขนาดเล็ก จรวดขนส่ง รวมทั้งการเป็นผู้จัดหา/ผลิตชิ้นส่วน ทำให้ประหยัดต้นทุนในการผลิตและมีความได้เปรียบด้านราคาเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง

        3.2 บริษัทสเปนมีการสั่งสมความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่ได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงในระดับโลก ใน 3 สาขา ได้แก่ 1) ด้านการออกแบบดาวเทียมและยานสำรวจอวกาศ (เป็นสาขาที่สเปนเชี่ยวชาญมากที่สุด)  2) ด้านการผลิตดาวเทียมเพื่อใช้งานในวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น การให้บริการโทรคมนาคม และ 3) ด้านการออกแบบและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อควบคุมภารกิจและดาวเทียมจากพื้นโลก

         ตัวอย่างบริษัทและสตาร์ทอัพด้านอวกาศของสเปนที่น่าสนใจ อาทิ

         - Iberespacio เป็นบริษัทระดับโลกด้านออกแบบและผลิตชิ้นส่วนสำหรับระบบควบคุมความร้อนและระบบขับเคลื่อนดาวเทียม และยังเป็นผู้ให้บริการหลักด้านวิศวกรรมขั้นสูงเกี่ยวกับควบคุมความร้อนของดาวเทียมด้วย โดยในปี ค.ศ. 2009 บริษัทฯ ได้รับเลือกจากองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) ให้เป็นผู้จัดหาท่อความร้อนสำหรับดาวเทียมให้แก่ JAXA ด้วย

         - Sateliot เป็นบริษัท SMEs จัดตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2018 โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายที่จะสร้างดาวเทียมขนาดเล็กดวงแรกที่ใช้เทคโนโลยี 5G และเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT ภายในปี ค.ศ. 2022

         - PLD SPACE เป็นสตาร์ทอัพจากจังหวัดอะลิกันเต จัดตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2011 ตั้งเป้าเป็นบริษัทแรกของยุโรปที่จะส่งจรวดขนาดเล็กที่สามารถใช้งานซ้ำได้ไปยังอวกาศ โดย ESA เองก็เป็นลูกค้ารายสำคัญของบริษัทนี้

         - Open Cosmos ก่อตั้งโดยนักธุรกิจสเปนเมื่อปี ค.ศ. 2015 และมีสำนักงานอยู่ที่สหราชอาณาจักร ให้บริการเกี่ยวกับกิจกรรมด้านอวกาศในทุกขั้นตอนตั้งแต่การออกแบบดาวเทียม การจัดการปล่อยดาวเทียมและการปฏิบัติการในวงโคจร 

         - Alén Space  เชี่ยวชาญด้านดาวเทียมขนาดเล็กและเป็นผู้ผลิตดาวเทียมชั้นนำในยุโรปและลาตินอเมริกา ทั้งนี้ ทีมวิศวกรที่จัดตั้งบริษัท Alén Space เคยเป็นส่วนหนึ่งของผู้รับผิดชอบโครงการดาวเทียมขนาดเล็กดวงแรกของสเปน Xatcobeo ปัจจุบัน บริษัทดำเนินโครงการร่วมกับหลายหน่วยงาน อาทิ ESA, NASA และสหประชาชาติ

         - Centum ให้บริการหลายสาขาทั้งการบินอวกาศ การป้องกันประเทศ เหตุฉุกเฉิน ความมั่นคงและโทรคมนาคม บริษัทฯ เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านดาวเทียม ระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (anti drone system) ระบบการค้นหาบุคคลสูญหายจากสัญญาณโทรศัพท์ โดยมีลูกค้ากว่า 70 รายใน 21 ประเทศ

         - Skansense เชี่ยวชาญด้านภาพถ่ายดาวเทียม (satellite imagery) และการจำแนกภาพ (image recognition) ที่เอื้อต่อการตรวจสอบรอยแตกร้าวของเครื่องบิน และสามารถใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบเรือประมง ด้วย

         - Indra Sistemas เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกที่ให้บริการเทคโนโลยีหลากหลายสาขารวมถึงด้านการจัดการจราจรทางอวกาศ โดยเป็นผู้ออกแบบและพัฒนาเรดาร์ S3TSR (Spanish Space Surveillance & Tracking Surveillance Radar) เพื่อใช้เฝ้าระวังดาวเทียมและวัตถุอื่นในอวกาศ อนึ่ง บริษัทฯ ได้เข้าไปจัดตั้งสำนักงานที่ประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ. 2018

         และเพื่อเป็นการส่งเสริมธุรกิจด้านอวกาศให้มีความเข้มแข็ง รัฐบาลสเปนยังได้จัดตั้งคลัสเตอร์การบินและอวกาศ ขึ้นในแคว้นที่มาศักยภาพ ได้แก่ แคว้นมาดริด แคว้นอันดาลูเซีย และแคว้นบาสก์ โดยคลัสเตอร์เหล่านี้จะเป็นการรวมกลุ่มของบริษัท สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ หอการค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสาขาการบินและอวกาศ ซึ่งเอกชนที่เข้าร่วมคลัสเตอร์เหล่านี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ อาทิ การส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างบริษัทในคลัสเตอร์ การได้รับการสนับสนุนให้ได้เข้าร่วมโครงการอวกาศในระดับนานาชาติ และในระดับสหภาพยุโรป เป็นต้น

          มาถึงตรงนี้ผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า กิจการด้านอวกาศสเปนมีความครบเครื่องเพียงใด เพราะไม่เพียงแต่จะมีฐานการผลิตที่ครบทั้งห่วงโซ่อุปทานแล้ว บริษัทสเปนยังมีความเชี่ยวชาญสูงในด้านเทคโนโลยีอวกาศซึ่งเกิดจากการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ ภายในประเทศเป็นพันธมิตรที่สำคัญ และโดยที่การบินและอวกาศเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับพื้นที่ EEC ของไทย ดังนั้น การส่งเสริมความร่วมมือกับสเปนในสาขาดังกล่าว จึงประเด็นที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อไทย ไม่ว่าจะเป็นทั้งในแง่ของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี หรือการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทสเปนในสาขาดังกล่าว

          ติดตามสาระดี ๆ เกร็ดความรู้และโอกาสทางธุรกิจในสเปนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้ที่ https://bic-madrid.thaiembassy.org