สรุปผลการสัมมนาออนไลน์ Thailand - Spain : a New Horizon of Cooperation on Circular Economy and Medical City

สรุปผลการสัมมนาออนไลน์ Thailand - Spain : a New Horizon of Cooperation on Circular Economy and Medical City

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ธ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,351 view

สรุปผลการสัมมนาออนไลน์
Thailand - Spain : a New Horizon of Cooperation on Circular Economy and Medical City
วันที่ 14 ธันวาคม 2563 ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด

1. พิธีเปิด

1.1  อุปทูตฯ  - ชื่นชมความสัมพันธ์ไทย-สเปนที่แน่นแฟ้นมาถึง 150 ปี ซึ่งความร่วมมือในปัจจุบันได้ครอบคลุมในหลากหลายสาขาทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา การทหาร ฯลฯ และมีแนวโน้มที่จะขยายไปยังสาขาอื่นๆ ที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพและความสนใจร่วมกัน เช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วย ทั้งนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลไทยมีนโยบายที่สำคัญ ได้แก่ 1) Thailand 0 ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโนลยีและนวัตกรรม/การวิจัย และ 2) EEC ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษครอบคลุม 3 จังหวัดภาคตะวันออกของไทย เพื่อดึงดูดการลงทุนใน 12 สาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งรวมถึงสาขาการแพทย์ โดยการพัฒนาเมืองแห่งการแพทย์ในพื้นที่ EEC ถือเป็น 1 ใน flagship ของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ของเอเชีย ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยตระหนักดีกว่า สเปนเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและการพัฒนาเมืองแห่งการแพทย์ ซึ่งสามารถที่จะเป็นต้นแบบให้ฝ่ายไทยได้เรียนรู้และนำมาพัฒนาต่อยอดได้ ดังนั้น ในโอกาสแห่งการฉลองครบรอบ 150 ปี ความสัมพันธ์ ไทย-สเปน ในปีนี้ จึงถือเป็นวาระอันเหมาะสมที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ริเริ่มความร่วมมือกันในสองสาขาข้างต้นให้มีพลวัตเป็นรูปธรรมต่อไป  

 

1.2  นาย Emilio de Miguel Calabia เอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย– ขอบคุณสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ที่ริเริ่มจัดการสัมมนาฯ ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการยืนยันว่า ทั้งสองประเทศต่างให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัวขึ้นมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และยืนยันความพร้อมของสถานเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทยที่จะช่วยผลักดันความร่วมมือในสาขาดังกล่าวให้มีความก้าวหน้า   

 

- สเปนให้ความสำคัญกับการพัฒนางานวิจัยสาขาต่างๆ โดยเป็นประเทศที่ผลิตงานวิจัยได้มากเป็นอันดับที่ 12 ของโลก /อันดับที่ 5 ของสหภาพยุโรป และร้อยละ 17 ของรายงานการวิจัยในสเปนยังถูกนำไปใช้อ้างอิงในระดับโลก โดยเฉพาะในสาขาเคมี ภูมิคุ้มกันวิทยา จุลชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ สเปนยังมีภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสุขภาพที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและสร้างรายได้ให้ประเทศปีละ 7.8 ล้านยูโร  ส่วนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน รัฐบาลสเปนได้ให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์ในสาขาดังกล่าวเมื่อเดือน มิ.ย. 2563 และได้กำหนดแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับ European Green Deal โดยครอบคลุมอุตสาหกรรมหลายสาขา อาทิ การเกษตร การท่องเที่ยว การก่อสร้าง ฯลฯ ดังนั้น สเปนจึงมีความพร้อมที่จะพัฒนาความร่วมมือกับไทยใน 2 สาขาดังกล่าว

 

1.3  ศ. นพ. ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รอง ผอ. สวทช. (สายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา)  -  เน้นน้ำบทบาทของ สวทช. ในฐานะหน่วยงานหลักของไทยที่ขับเคลื่อน เศรษฐกิจ BCG ในปัจจุบัน และหวังว่า การสัมมนาฯ ครั้งนี้จะทำให้ไทยกับสเปนได้ร่วมกันพิจารณาว่าจะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันทั้งในด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและเมืองแห่งการแพทย์ได้อย่างไร

 

1.4  นาย Luis Gonzalez Souto, Deputy Director of Technology Cooperation, Centre for the Development of Industrial Technology (CDTI)  - ยินดีที่ CDTI มีได้มีบทบาทในการส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีระหว่างไทยกับสเปนมาตั้งแต่ปี 2558  โดยเห็นว่าสาขาที่เป็นโอกาสระหว่างกันได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร เศรษฐกิจหมุนเวียน ชีววิทยาศาสตร์/วิทยาศาสตร์สุขภาพ การเพิ่มมูลค่าของเสีย (Waste valorization) จากอ้อย ด้านดัชนีชี้วัดทางชีวภาพและการแพทย์ เช่น ด้านการปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือด เป็นต้น

 

- ในเอเชีย CDTI มีความร่วมมือที่ก้าวหน้ากับญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไทย โดยในปี 2563  มีโครงการในไทยที่ CDTI ให้การสนับสนุน 2 โครงการ ได้แก่ การวิจัยด้าน Antimicrobial resistance (ม.ราชภัฏเพชรบูรณ์กับ Clean Biotech สเปน) และ Biopesticide (ม. แม่ฟ้าหลวงกับ Biopharma สเปน)  นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างเปิดรับสมัครโครงการวิจัยด้านชีววิทยาศาสตร์เพื่อขอรับทุนวิจัยที่ร่วมกันสนับสนุนโดย CDTI และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS)

 

2.  การสัมมนาในหัวข้อ “Thailand and Spain´s Medical City Development”

2.1  ดร. ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผอ. TCELS - ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในไทย ซึ่งล่าสุดในปี 2561  มีมูลค่าสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท สะท้อนให้เห็นศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ของเอเชีย  รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการการสร้างเมืองแห่งการแพทย์ Amata Meditown ภายในพื้นที่ EEC ซึ่ง ม. มหิดล ได้ลงนามความตกล

ร่วมกับ AMATA ในการดำเนินงานแล้วเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา  โดยภายในพื้นที่ดังกล่าวจะมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัย และ รพ. ที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับโลก รวมถึงสร้าง ecosystem ที่จะเอื้อต่อการวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์และสุขภาพของไทย โดยจะเน้นความเป็นเลิศด้านมะเร็งวิทยา ประสาทวิทยาและอายุรศาสตร์โรคหัวใจ ซึ่ง TCELS ได้เข้าไปมีบทบาทในการบริหารจัดการ Life sciences cluster รวมถึงการเป็นหน่วยงานที่ดึงดูดการลงทุนเข้าไปสู่พื้นที่ดังกล่าว

 

2.2 Ms. Ana Agudo, Manager และ Ms. Lourdes Nunez, Director for Transfer, PTS Granada – ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดในการจัดตั้งศูนย์สุขภาพครบวงจรในแคว้นอันดาลูเซีย เมื่อปลายทศวรรษที่ 1990 ซึ่งปัจจุบันได้กลายมาเป็นแหล่งสร้างงานให้กับประชากร 6,300 คน โดยร้อยละ 25 ของแรงงานดังกล่าวเกี่ยวข้องกับงานด้าน R&D

 

- PTS Granada ดำเนินงานบน 4 เสาหลัก ได้แก่ รพ.ที่ทันสมัย สถาบันการแพทย์ที่มีการเรียนการสอนระดับแนวหน้า การสร้างผลงานวิจัยและพัฒนาในระดับโลก และการพัฒนา model ธุรกิจ โดยเน้นการสร้าง ecosystem ที่เอื้อต่อการถ่ายโอนองค์ความรู้และความต้องการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ และเน้นการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

 

2.3 Mr. Luis Goni, Director of Regional Strategy, SODENA  - ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ รวมถึงการลงทุนด้าน R&D ในแคว้นนาบาร์รา ซึ่งแม้จะเป็นแคว้นขนาดเล็กแต่มีการลงทุนด้าน R&D สูงที่สุดเป็นอันดับที่ 3  ในสเปน และมีภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนเป็นร้อยละ 27 ของ GDP ของแคว้น  อีกทั้งยังได้ทุ่มเทสรรพกำลังในการดึงดูดการลงทุนสาขาการแพทย์ โดยเฉพาะการผลิตยาและเวชภัณฑ์เข้าไปในพื้นที่  ทั้งนี้  จากความสามารถด้าน R&D และศักยภาพด้านอุตสาหกรรม ทำให้แคว้นนาบาร์ราตั้งเป้าหมายที่เป็นผู้นำของสเปนในด้าน Precision medicine ในอนาคตอันใกล้

 

-  การพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ในแคว้นนาบาร์ราตั้งอยู่บน 4 เสาหลัก เช่นเดียวกับ PTS Granada คือ การมี รพ.ที่ทันสมัย การมีสถาบันการศึกษาชั้นนำ การมีศูนย์วิจัยและการพัฒนาธุรกิจ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่  โดยทาง Sodena มีความสนใจที่จะร่วมมือกับฝ่ายไทยในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันแคว้นนาบาร์รามีความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาและประเทศในลาตินอเมริกาอยู่แล้ว 

 

3.  การสัมมนาในหัวข้อ Circular Economy, a New Engine towards Sustainable Growth

3.1 Dr. Enrique Espí Guzmán, Technical Advisor, Sustainable Chemistry, REPSOL Technology Lab - ให้ข้อมูลเกี่ยว บ. Repsol ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในสเปน และมีตัวแทนจำหน่ายสินค้าประเภทน้ำมันหล่อลื่นในประเทศไทยด้วย  โดย บ. ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา โดยนอกจากจะจัดตั้ง Repsol Technology Lab ที่มีการลงทุนสูงกว่า 8 ล้านยูโรต่อปีเพื่อทำวิจัยภายในองค์กรแล้ว ยังได้ให้ความร่วมมือกับ Start-up ภายนอกในการค้นคว้านวัตกรรมใหม่ ๆ ทั้งในสาขาธุรกิจ upstream, downstream และ cross cutting ด้วย

 

- บ. ตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซ CO2 ให้เหลือ 0 ภายในปี ค.ศ. 2050 ดังนั้น เศรษฐกิจ หมุนเวียนจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยได้ยกตัวอย่างโครงการต่างๆ ของ บ. ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น โครงการรถยนต์ Wible โครงการ Recliclex ซึ่งนำวัสดุรีไซเคิลมาผลิตพลาสติก โครงการ Circular Polyolefins ซึ่งเป็นการนำของเสียจากพลาสติกไปผลิตน้ำมัน และการผลิต biofuel จากของเสีย เป็นต้น

 

- บ. สนใจร่วมมือกับไทยในการวิจัย biodegradable plastic จากเยื่อไม้และไคโตซาน เนื่องจากตระหนักถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมป่าไม้ ฟาร์มกุ้งและแมลงในไทย  

 

3.2  Dr. Ferrán Martí, R&D&I Director , AIMPLAS - Plastic Technology Center  - ให้ข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์ AIMPLAS ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของรัฐบาลแคว้นบาเลนเซียและองค์กรธุรกิจด้านอุตสาหกรรมพลาสติก มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิต biopolymer โดยเฉพาะประเภท biodegradable  โดยผลงานวิจัยที่สร้างชื่อเสียงให้องค์กร อาทิ การนำเศษขนมปังไปผลิตพลาสติกบรรจุอาหาร และการนำเศษพืชผักที่เหลือทิ้งไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและสารปรุงแต่งและสารกันเสียสำหรับอาหารเพื่อสุขภาพ การนำของเสียจากปลาไปผลิตบรรจุภัณฑ์อาหาร การผลิต biomaterial สำหรับใช้วงการแพทย์ และ biocomposite สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นต้น

 

3.3 รศ. ดร. ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ ทปษ. สวทช. - ให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของการนำรูปแบบเศรษฐกิจ BCG มาใช้ โดยเน้นสาขาการเกษตรและอาหาร ยาและสุขภาพ พลังงานและชีวเคมีภัณฑ์ การท่องเที่ยวและ เศรษฐกิจ สร้างสรรค์  โดยนอกจากจะพยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ในสาขาดังกล่าวเข้ามาในไทยแล้ว รัฐบาลไทยยังได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ภาคประชาชน และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับเอกชนในการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วย

 

-  รัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนา เศรษฐกิจ หมุนเวียน โดยได้ร่วมมือกับอาเซียนอย่างใกล้ชิด และหวังว่าจะได้พัฒนาความร่วมมือด้านดังกล่าวกับสเปนด้วย ทั้งนี้ ฝ่ายไทยสามารถให้เงินสนับสนุนการวิจัยแก่หน่วยงานของไทย และหากฝ่ายสเปนสามารถหาแหล่งทุนสนับสนุนงานวิจัยของหน่วยงานฝ่ายตนก็สามารถทำเป็นโครงการวิจัยร่วมระหว่างกันได้

 

4.  การสัมมนาในหัวข้อ Thailand-Spain Partnership through Co-Funding in RDI

4.1 ดร. ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผอ. TCELS - ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ Thailand and Spain Innovation Program in Life Sciences ซึ่งมีกิจกรรมความร่วมมือประกอบด้วย 1) การให้ทุนวิจัยร่วมกันภายใต้โครงการ TLSIP 2) การสร้างเครือข่ายพันธมิตรผ่านกิจกรรมต่างๆ และ 3) การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดยเฉพาะด้านชีววิทยาศาสตร์และ R&D  โดยในโอกาสนี้ ได้ประชาสัมพันธ์การเปิดรับสมัครโครงการวิจัยเพื่อขอรับการให้ทุนร่วมระหว่างไทยกับสเปน ครั้งที่ 2 ซึ่งจะปิดรับสมัครภายในเดือน มี.ค. 2564 โดยสาขาการวิจัยที่สามารถสมัครขอรับทุนดังกล่าวได้ อาทิ functional food, regenerative and precision medicine ผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ การวิจัยทางการแพทย์ การผลิตเครื่องมือแพทย์ และ app ด้านสุขภาพ เป็นต้น 

 

- ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการวิจัยสมุนไพรไทยสำหรับรักษาโรค COVID-19 ซึ่ง TCELS ร่วมมือกับญี่ปุ่น และเกาหลีใต้  และปัจจุบันมีผลการศึกษาที่น่าสนใจ และน่าจะเป็นอีกสาขาหนึ่งที่ไทยกับสเปนอาจพิจารณาส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันได้

 

4.2  Mr. Adrian Gutierrez, Science and Technology Counsellor, Chief Representative of CDTI for India, South Asia and Southeast Asia - สรุปแนวทางการให้ทุนวิจัยร่วมระหว่างไทยกับสเปน 3 แนวทาง ได้แก่ 1) ทวิภาคี คือ  ทุนวิจัยร่วมด้านชีววิทยาศาสตร์ ระหว่าง TCELS กับ CDTI 2) การให้ทุนฝ่ายเดียวของ CDTI ซึ่งอาจเป็นด้านเทคโนโลยีอาหาร หรือ เศรษฐกิจ หมุนเวียน ซึ่งเป็นสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ แต่ผู้รับทุนต้องเป็นฝ่ายสเปนเท่านั้น และ 3) Horizon 2020 และ EU Green Deal Call  ซึ่งการวิจัยสาขา เศรษฐกิจ หมุนเวียนและการเพิ่มมูลค่าจากของเสีย ก็น่าจะเป็นสาขาที่อาจมีความร่วมมือกันได้

 

-  ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระหว่างไทยกับสเปนยังมีน้อย หากเปรียบเทียบกับความสัมพันธ์ที่ครบรอบ 150 ปี แต่ก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นและแสดงผลที่เป็นรูปธรรม ดังเช่นที่เห็นได้จากความร่วมมือด้านชีววิทยาศาสตร์ อีกทั้ง CDTI ก็มีเครือข่ายความร่วมมือที่ดีกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนของไทย อาทิ บ. มิตรผล CP ซึ่งมีเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความร่วมมือด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระหว่างไทยกับสเปนต่อไป

 

5.  ช่วงถาม-ตอบ

5.1 PTS  Granada ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่นักลงทุนที่เข้าไปในพื้นที่หรือไม่ -  ไม่มี แต่ PTS Granada ทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้ประสานงานให้นักลงทุนในพื้นที่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนต่างๆ ได้ ทั้งในระดับรัฐบาลแคว้น รัฐบาลสเปน และสหภาพยุโรป

 

5.2 ความร่วมมือระหว่าง cluster หรือต่างประเทศมีความสำคัญกับแต่ละหน่วยงานอย่างไร

PTS Granada  – ความร่วมมือระหว่าง cluster ทั้งในและนอกประเทศเป็นเครื่องมือสำคัญ ในทุกโครงการใน PTS Granada เนื่องจากทุกหน่วยงานมีความต้องการที่ตรงกันคือการเสริมสร้างนวัตกรรมและการสร้างงาน

SODENA -  นอกจากการส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง cluster ผ่านสหภาพยุโรปแล้ว แคว้นนาบาร์รามีความสนใจต้องการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยท้องถิ่นกับต่างประเทศโดยเฉพาะในด้านจีโนมิกส์ หากฝ่ายไทยสนใจ SODENA พร้อมประสานงานกับศูนย์วิจัยต่างๆ ในแคว้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันต่อไป

****************

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด

ธันวาคม 2563