วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ก.พ. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แม้ว่าจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมให้กับสเปนเป็นอย่างมากตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา แต่ในอีกด้านหนึ่ง ข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดในการใช้ชีวิตประจำวันอันเป็นผลมาจากโควิด-19 ก็ได้เป็นแรงกระตุ้นให้นักประดิษฐ์ชาวสเปนต่างแข่งขันกันคิดค้นนวัตกรรม/สิ่งประดิษฐ์ใหม่ขึ้นมามากมายเพื่อตอบสนองและเอาชนะต่ออุปสรรคเหล่านี้ โดยสถิติของสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสเปน (Oficina Española de Patentes y Marcas: OEPM) พบว่าในปี ค.ศ. 2020 มีการยื่นเรื่องขอจด 1) สิทธิบัตร (Patent) จำนวน 1,479 รายการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 เมื่อเปรียบเทียบกับปี ค.ศ. 2019 (1,358 รายการ) 2) ผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ (Utility Model) 3,409 รายการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.6 เมื่อเปรียบเทียบกับปี ค.ศ. 2019 (2,737 ราย) 3) เครื่องหมายการค้า (Trade Mark) จำนวน 51,103 เครื่องหมาย เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ในขณะที่ 4) คำร้องขอจดชื่อทางการค้า (Trade Name) มีจำนวน 12,265 รายการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า
หากมองในภาพรวมทั้งการยื่นขอจดสิทธิบัตรและผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์จะพบว่า สถิติในปี ค.ศ. 2020 เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 19.4 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งปัจจัยหลักก็มาจากการเพิ่มขึ้นของ R&D ที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 ที่ทำให้มีการขอจดทะเบียนสิ่งประดิษฐ์ด้านการฆ่าเชื้อและป้องกันโควิด-19 เพิ่มขึ้นมากนั่นเอง
วันนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับบางตัวอย่างของสิ่งประดิษฐ์ที่น่าสนใจ ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาในสเปนเพื่อรับมือกับปัญหาโควิด-19 กัน
นวัตกรรมแรกคือ ลิฟต์ฆ่าเชื้อโควิด-19 ซึ่งคิดค้นโดยนาย José Roig จากเมืองเดเนีย (จังหวัดอะลิกันเต) ได้รับสิทธิบัตรระบบฆ่าเชื้อลิฟต์ โดยใช้รังสีอัลตราไวโอเลตที่มีความยาวคลื่น 200 หรือ 220 สามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัยในเวลาไม่ถึง 1 นาที โดยระบบจะทำงานโดยอัตโนมัติก็ต่อเมื่อลิฟต์หยุดและไม่มีผู้โดยสารอยู่ข้างใน ลิฟต์ตัวนี้ยังมีกลไกการแจ้งเตือนถ้ามีผู้โดยสารในลิฟต์มากกว่ากำหนด เพื่อจะได้รักษาระยะห่างระหว่างบุคคลด้วย
นาย José Roig กับต้นแบบลิฟต์ฆ่าเชื้อ
ตัวอย่างสิ่งประดิษฐ์ต่อมา มีชื่อว่า IOVI Intelligent Vision ซึ่งใช้ในการตรวจจับไวรัส โดย IOVI Intelligent Vision เป็นโครงการของบริษัทสตาร์ทอัพ IOVI (https://www.inesoptics.com/) จากเมืองเซบีญา ที่เชี่ยวชาญเรื่อง artificial vision โดยจุดเด่นของเทคโนโลยี IOVI Intelligent Vision คือเป็นกล้องอัจฉริยะที่สามารถตรวจจับไวรัสบนพื้นผิวได้ โดยใช้ระบบที่ชื่อว่า INESCUBE ซึ่งเป็นระบบการมองเห็นแบบแยกส่วนที่มีฮาร์ดแวร์ในตัว
ทั้งนี้ INESCUBE จะประกอบด้วยระบบการมองเห็น 2 แบบ ได้แก่ StayHealthy และ VirusProtect โดย StayHealthy มีหน้าที่ป้องกันและรักษาความปลอดภัยบริเวณที่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อหรือในพื้นที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน สามารถคำนวณระยะห่างระหว่างบุคคล ตรวจจับพฤติกรรมที่ผิดปกติ เช่น อาการไอ การไม่สวมหน้ากากอนามัย และสามารถวัดอุณหภูมิร่างกายได้ ในขณะที่ VirusProtect จะช่วยเรื่องการวินิจฉัยโรคในผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
นอกจากจะใช้เพื่อป้องกันโควิด-19 แล้ว ที่ผ่านมา INESCUBE ยังถูกนำไปใช้งานในทางการเกษตร เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเก็บเกี่ยวผลสตรอเบอร์รีสุกด้วย โดยใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการช่วยแยกผลไม้ที่มีรอยช้ำหรือมีแมลงออกจากสายพานก่อนที่จะบรรจุลงหีบห่อ เป็นต้น
ไม่เพียงเท่านี้ นักประดิษฐ์ของสเปนยังสามารถผลิตชุดทดสอบตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไว้ใช้เองได้ด้วย โดยล่าสุด เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 2020 บริษัท Vitro (http://www.vitro.bio/inicio) ได้เปิดตัวชุดทดสอบวินิจฉัยภายนอกร่างกาย (IVD) ตัวใหม่ชื่อ “Respiratory Flow Chip” ที่สามารถตรวจหาเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินหายใจ 21 สายพันธุ์ได้ในคราวเดียวกัน โดยแบ่งเป็นไวรัส 18 สายพันธุ์ (รวมเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ด้วย) และแบคทีเรียอีก 3 สายพันธุ์ นับว่าเป็นบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์และเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ลำดับต้นๆ ของโลกที่วางขายชุดตรวจหาเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินหายใจได้ครอบคลุมเชื้อโรคหลากหลายชนิด
นอกจากนี้ สำหรับสังคมผู้สูงอายุอย่างสเปน การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุถือเป็นเรื่องสำคัญ บริษัทสตาร์ทอัพ Tucuvi (https://tucuvi.com/) จึงได้คิดค้นเครื่องมือที่ตั้งชื่อการค้าตามชื่อบริษัทว่า Tucuvi เพื่อดูแลสุขภาพผู้สูงอายุผ่านการเทคโนโลยี Virtual assistant โดยอาศัยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) Voice Technology และ Big Data นามว่า Lola ในการติดตามดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรังที่พักอาศัยอยู่ตามบ้าน ซึ่ง Lola จะเป็นผู้โทรศัพท์หาผู้ป่วย/ผู้สูงอายุ เพื่อพูดคุยสอบถามข้อมูล/การปฏิบัติตัวตามที่ได้กำหนดโปรแกรมไว้สำหรับผู้ป่วยแต่ละโรค (เช่น เบาหวาน พาร์กินสัน) ถ้าพบว่าผู้ใช้งานต้องการมีความจำเป็นต้องมีแพทย์ดูแลระบบจะแจ้งให้แพทย์เข้าให้บริการผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ การใช้งานของระบบนี้ไม่ซับซ้อน ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องติดตั้งแอปพลิเคชันหรือเชื่อมต่อสัญญาณ WiFi แต่อย่างใด
Tucuvi
อุปกรณ์ของบริษัท Tucuvi นี้ ได้วางจำหน่ายในท้องตลาดเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 โดยได้มีการปรับแนวปฏิบัติสำหรับการดูแลติดตามผู้ป่วยให้กับเข้าสถานการณ์โควิด- 19 อีกด้วย ปัจจุบัน สตาร์ทอัพ Tucuvi มีความร่วมมือกับโรงพยาบาล บริษัทประกันสุขภาพ และสมาคมการแพทย์หลายแห่งในสเปนในการนำอุปกรณ์ไปใช้งานกับผู้รับบริการจากหน่วยงานของตนอย่างแพร่หลาย
สถิติการจดสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าในสเปนเมื่อปีที่ผ่านมา รวมถึง ตัวอย่างของสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่ศูนย์ฯ นำมาเสนอในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่ไม่หยุดยั้งของภาคเอกชนในสเปนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ตอบสนองกับสถานการณ์ปัจจุบันและความต้องการของผู้ใช้งานที่แสวงหาความสะดวกและปลอดภัย เมื่อต้องรับมือกับเชื้อโควิด-19 ที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ด้านสาธารณสุขของทั้งสเปนและของโลกทุกวันนี้
ติดตามสาระดี ๆ เกร็ดความรู้และโอกาสทางธุรกิจในสเปนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้ที่ https://bic-madrid.thaiembassy.org