สเปนกับความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ : น้ำบาดาล

สเปนกับความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ : น้ำบาดาล

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ต.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 ต.ค. 2564

| 2,751 view

shutterstock_233515363

องค์การน้ำแห่งสหประชาชาติ (UN Water) ระบุว่าภายในปี ค.ศ. 2025 ประชากรโลกราว 2 พันล้านคนอาจต้องเผชิญภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง จากสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทำให้มีความต้องการใช้น้ำมากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เหตุนี้ทุกประเทศจึงต้องพยายามจัดหาแหล่งน้ำให้กับพลเมืองของตนเองได้ใช้อย่างเพียงพอ และเพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 6 “สร้างหลักประกันเรื่องน้ำและการสุขาภิบาล ให้มีการจัดการอย่างยั่งยืนและมีสภาพพร้อมใช้” ด้วย

ด้วยสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศของสเปนที่เป็นที่ราบสูง ค่อนข้างแห้งแล้ง และปริมาณน้ำฝนกระจายไม่ทั่วถึง สเปนจึงเป็นประเทศหนึ่งที่ต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง และเป็นแรงผลักดันให้สเปนต้องให้ความสนใจอย่างจริงจังกับการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้ประเทศมีน้ำสำหรับบริโภคอุปโภคได้ตลอดทั้งปี เพียงพอสำหรับความต้องการของประชากร 47 ล้านคนและรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และภาคการเกษตร ซึ่งสเปนถือเป็นหนึ่งประเทศที่รองรับนักท่องเที่ยวและเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรอันดับต้นๆ ของโลก[1]           

ที่ผ่านมา ศูนย์ ฯ ได้เคยเผยแพร่บทความที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญของสเปนในด้านการบริหารจัดการน้ำไปบ้างแล้ว ได้แก่ เรื่อง “สเปนกับความเชี่ยวชาญด้านการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล” เมื่อเดือนตุลาคม 2563 และเรื่อง “สเปนกับความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ : การนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ (Water reuse)” เมื่อเดือนสิงหาคม 2564  โดยในบทความนี้ ศูนย์ฯ จะได้นำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความก้าวหน้าของสเปนในการจัดการน้ำบาดาล เพื่อนำน้ำมาใช้รับมือกับปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรน้ำ

 

 

masas-espana-canarias_tcm30-214621

มวลน้ำบาดาลในสเปน

น้ำบาดาลเป็นแหล่งเก็บกักน้ำจืดที่สำคัญสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยเป็นรองเพียงแค่น้ำแข็งขั้วโลก (polar ice caps) เท่านั้น ทั้งนี้ สเปนเป็นประเทศหนึ่งที่มีชั้นหินอุ้มน้ำ (aquifer) มากที่สุดในโลก จึงทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลได้เป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันร้อยละ 70 ของน้ำที่ใช้ในชุมชนเมืองของประเทศมาจากแหล่งน้ำบาดาลและสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ถึง 28-30 ล้านคน หรือเกินครึ่งหนึ่งของประเทศเลยทีเดียว นอกจากนี้ น้ำบาดาลยังเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญต่อภาคเกษตรกรรมในประเทศอีกด้วย

สเปนเป็นประเทศหนึ่งที่เชี่ยวชาญในการจัดการน้ำบาดาล โดยตามรายงาน España es agua 2020 (Spain is water 2020) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศของสเปน (ICEX) ระบุว่า สเปนมีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าในด้านระบบการลงทะเบียนและติดตามตรวจสอบน้ำผิวดินและน้ำบาดาล โดยบริษัทของสเปนมีผลงานในต่างประเทศที่สำคัญ อาทิ

          - อินเดีย : บริษัท Eptisa ของสเปน ได้ร่วมมือกับบริษัท Ernst & Young ดำเนินการออกแบบและพัฒนาระบบข้อมูลน้ำผิวดินและน้ำบาดาล เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมู  รวมถึงประกอบการตัดสินใจในการจัดการน้ำแบบครบวงจรในระดับประเทศ ให้กับหน่วยงานอุทกวิทยาแห่งชาติ (National Hydrology Project - NHP) ของอินเดีย

          - อุรุกวัย : บริษัท Inypsa, Informes y Proyectos (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Airtificial) ของสเปน     ให้บริการจัดทำข้อมูลพื้นฐาน อาทิ สภาพภูมิอากาศ แบบจำลองน้ำฝน-น้ำท่า รวมทั้งให้บริการออกแบบเครือข่ายการเฝ้าตรวจปริมาณและคุณภาพน้ำผิวดินและน้ำบาดาล เพื่อประกอบการจัดทำแผนการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างครบวงจรเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศอุรุกวัย (Plan de adaptación de la gestión integrada de los recursos hídricos al cambio climático en Uruguay - PLANAGUA)

          นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายบริษัทของสเปนที่ให้บริการเทคโนโลยีที่น่าสนใจ อาทิ

          - บริษัท IGEAS เชี่ยวชาญด้านการค้นหาและระบุตำแหน่งน้ำบาดาลโดยใช้วิธี IGEAS® ซึ่งเป็นการใช้เทคนิค 8 ชนิดร่วมกัน เช่น ระบบ GIS และการสำรวจระยะไกล (GIS and Remote sensing)  ฐานข้อมูล โครงสร้างภูมิประเทศ เป็นต้น

          - บริษัท Suez Spain ให้บริการโซลูชัน Well Services ซึ่งเป็นแพคเกจการให้บริการและสินค้าอย่างครบวงจร (การให้คำปรึกษา ดิจิทัล การปฏิบัติการ และการบำรุงรักษา) ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพเรื่องการจัดหาน้ำบาดาลและการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานซึ่งรวมถึงการบริหารจัดการบ่อน้ำบาดาล นอกจากนี้ ยังให้บริการแพลตฟอร์ม Aquadvanced Wellwatch® ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมการบริหารจัดการบ่อน้ำอีกด้วย

shutterstock_1384492481

วงจรน้ำ

เพื่อเป็นการตอกย้ำบทบาทผู้นำด้านการบริหารจัดการน้ำอันดับต้นของโลก สเปนกำลังเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมและงานแสดงสินค้านานาชาติ WEX Global 2022- the Water & Energy Exchange: UNLOCKING THE POWER OF THE SMART CIRCULAR ECONOMY ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม ค.ศ. 2022 ณ เมืองบาเลนเซีย (http://wex-global.com/) และงาน AEDyR International Congress ครั้งที่ 8 ที่เน้นเรื่องการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลและการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ ณ เมืองกอร์โดบา (Cordoba) ในปี ค.ศ. 2022 (https://aedyr.com/en/events/) ซึ่งอาจเป็นโอกาสสำหรับหน่วยงานและผู้ที่สนใจจากประเทศไทยจะได้เข้าร่วมงานฯ เพื่อรับทราบข้อมูลความก้าวหน้าของการบริหารจัดการน้ำในรูปแบบต่างๆ ของสเปน รวมถึงพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันต่อไปในอนาคต  

 

ติดตามสาระดี ๆ เกร็ดความรู้และโอกาสทางธุรกิจในสเปนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้ที่ https://bic-madrid.thaiembassy.org

 

 

[1] ในปี ค.ศ. 2018 สเปนส่งออกอาหารและผลผลิตทางการเกษตรมากเป็นอันดับ 7 ของโลก (มูลค่า 56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ ครองส่วนแบ่งตลาดโลกร้อยละ 3.6) โดยสินค้าอาหารและเกษตรของสเปนที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก อาทิ น้ำมันมะกอก ไวน์ และเนื้อสุกร เป็นต้น นอกจากนี้ สเปนยังได้รับการขนานนามว่าเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำของยุโรป” มาเป็นเวลาช้านาน ดังจะเห็นได้จากการที่สเปนสามารถปลูกผลไม้และผักได้ในปริมาณมากเป็นอันดับที่ 1 ในสหภาพยุโรป และส่งออกสินค้าทางการเกษตรมากเป็นอันดับ 4 และมีพื้นที่เกษตรกรรม (utilised agricultural area) มากเป็นอันดับ 2 (17 ล้านเฮคเตอร์หรือร้อยละ 13 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดในสหภาพยุโรป)