สเปนกับเทคโนโลยีดิจิทัลในด้านอาหารและการเกษตร

สเปนกับเทคโนโลยีดิจิทัลในด้านอาหารและการเกษตร

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 พ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 พ.ค. 2564

| 5,115 view

shutterstock_633563996

สเปนถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรอันดับต้นๆ ของโลกและมีเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่ก้าวหน้า โดยในปี ค.ศ. 2018 สเปนส่งออกอาหารและผลผลิตทางการเกษตรมากเป็นอันดับ 7 ของโลก (มูลค่า 56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ / ครองส่วนแบ่งตลาดโลก ร้อยละ 3.6) โดยสินค้าอาหารและเกษตรของสเปนที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก อาทิ น้ำมันมะกอก ไวน์ และเนื้อสุกร เป็นต้น นอกจากนี้ สเปนยังได้รับการขนานนามว่าเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำของยุโรป” มาเป็นเวลาช้านาน ดังจะเห็นได้จากการที่สเปนสามารถปลูกผลไม้และผักได้ในปริมาณมากเป็นอันดับที่ 1 ในสหภาพยุโรป และส่งออกสินค้าทางการเกษตรมากเป็นอันดับ 4 และมีพื้นที่เกษตรกรรม (utilised agricultural area) มากเป็นอันดับ 2 (17 ล้านเฮคเตอร์หรือร้อยละ 13 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดในสหภาพยุโรป) โดยจังหวัดอัลเมเรีย ทางภาคตะวันออกของสเปนเป็นพื้นที่ที่มีโรงเรือนเพาะชำกระจุกตัวหนาแน่นมากที่สุดในโลก ถึง 30,000 เฮกเตอร์

ปัจจุบัน แม้ว่าสัดส่วนของ GDP ในภาคอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรของสเปน จะมีเพียงร้อยละ 5.8 แต่หากรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกประเภทที่อยู่ในห่วงโซ่อาหารและการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำแล้วจะมีสัดส่วนของ GDP สูงถึงร้อยละ 11[1] และแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของสเปน แต่สำหรับภาคอาหารและเกษตรกลับมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยจากสถิติช่วงเดือนเมษายน-ธันวาคม ค.ศ. 2020 สเปนสามารถส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร เป็นมูลค่าถึง 40,997  ล้านยูโร ขยายตัวขึ้นร้อยละ 2.7 เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (39,905 ล้านยูโร) โดยสินค้าส่งออกหลักที่มีมูลค่ามากที่สุดคือ ผลไม้และถั่ว เนื้อสัตว์ ผัก เครื่องดื่ม น้ำมันและไขมัน โดยมีประเทศผู้นำเข้ารายสำคัญคือ สหภาพยุโรป (โดยเฉพาะฝรั่งเศส เยอรมนีและอิตาลี) สหราชอาณาจักร จีน และสหรัฐอเมริกา

เพื่อเป็นการรักษาความเป็นผู้นำด้านการเกษตรของโลก รัฐบาลสเปนได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอาหารและสินค้าเกษตร โดยกระทรวงเกษตร การประมงและอาหารของสเปน ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์เทคโนโลยีดิจิทัลในสาขาเกษตรและอาหาร ป่าไม้และชนบท (Digitisation Strategy for the Agri-Food and Forestry Sector and Rural Areas) ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2019 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการผลิตอาหารและสินค้าเกษตร ควบคู่ไปกับการสร้างสภาพแวดล้อมให้ประชากรวัยหนุ่มสาวเข้าไปใช้ชีวิตและทำงานในชนบทเพิ่มขึ้น โดยแผนยุทธศาสตร์ฯ ประกอบด้วยวัตถุประสงค์ 3 ข้อหลัก ได้แก่ 1) ลดช่องว่างทางดิจิทัล ทั้งในตัวเมือง-ชนบท บริษัทขนาดเล็ก-ใหญ่ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการเชื่อมโยง (Connectivity) ได้  2) ส่งเสริมการใช้ข้อมูล (Data) เพื่อพัฒนาสาขาอาหารและการเกษตร ป่าไม้และชนบท ผ่านการเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ ภาคการวิจัยและภาคเอกชน และ 3) ส่งเสริมการพัฒนาบริษัทและธุรกิจรูปแบบใหม่ โดยคำนึงถึงเรื่องเกษตรอัจฉริยะและอุตสาหกรรม 4.0 ผ่านการสร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรมดิจิทัลให้แข็งแกร่ง เพื่อพัฒนาศักยภาพการแข่งขัน การทำธุรกิจกับต่างประเทศและสร้างงานที่มีคุณภาพในสาขาอาหารและการเกษตร

การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้ ยังได้คำนึงถึงความสอดคล้องกับนโยบายอื่นๆ ด้านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับยุโรปและระดับชาติด้วย อาทิ นโยบายเกษตรร่วมหลังปี ค.ศ. 2020 (Common Agricultural Policy post 2020) และโครงการระบบนวัตกรรมและความรู้ทางการเกษตร (Agricultural Knowledge and Innovation Systems) ของสหภาพยุโรป รวมถึงโครงการการขยายบรอดแบนด์สมัยใหม่ (Programa de Extensión de Banda Ancha de Nueva Generación) และยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเชื่อมโยง 4.0 (Estrategia Industria Conectada 4.0) ของสเปน เป็นต้น

shutterstock_1491566621

นอกจากนี้ ในระดับภูมิภาค สเปนยังได้เข้าร่วมโครงการต่างๆ ของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลใช้ในการพัฒนาสาขาอาหารและการเกษตร ผ่านโครงการ Internet of Food & Farm 2020 (IoF 2020)[2]  ของสหภาพยุโรป โดยมีตัวอย่างโครงการที่สเปนได้เข้าไปมีส่วนร่วม อาทิ  

  • โครงการห่วงโซ่การผลิตมะกอกอัตโนมัติ (Automated Olive Chain) นำโดยบริษัท Hispatec ผู้ผลิตซอฟต์แวร์และเกษตรอัจฉริยะ ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยี Tecnova และสหกรณ์ผู้ผลิตน้ำมันมะกอก DCOOP  โครงการนี้เป็นการใช้ IoT เพื่อเฝ้าติดตามห่วงโซ่การผลิตมะกอก อาทิ การติดตั้งเซนเซอร์วัดความชื้นในดินและอากาศที่ต้นไม้และตัวรดน้ำต้นไม้  ติดตั้งโซลูชั่นบนเครื่องจักรที่ใช้ในการเก็บเกี่ยวและใช้อุปกรณ์ตรวจวัดความดันและอุณหภูมิที่โรงสกัดน้ำมันมะกอก เป็นต้น ซึ่งผลการศึกษาพบว่า การใช้ IoT สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 10 ลดชั่วโมงการทำงานร้อยละ 10 ลดค่าใช้จ่ายร้อยละ 15 ลดการใช้พลังงานร้อยละ 15 ลดการใช้น้ำร้อยละ 15 และลดการใช้ปุ๋ยร้อยละ 10   
  • โครงการการจัดการห่วงโซ่สัตว์ปีก (Poultry Chain Management) ดำเนินการโดยศูนย์เทคโนโลยี Tekniker ร่วมกับบริษัท Grupo SADA  ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเนื้อไก่ บริษัท Exafan ผู้ก่อสร้างฟาร์มเลี้ยงสัตว์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และบริษัท Porphyrio ผู้เชี่ยวชาญด้าน ICT สำหรับอุตสาหกรรมสัตว์ปีก โดยภายใต้โครงการดังกล่าว มีการติดตั้งเซนเซอร์เฝ้าติดตามห่วงโซ่การผลิตสัตว์ปีกทั้งในฟาร์ม ระหว่างการขนส่งและในโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งผลการศึกษาระบุว่า สามารถลดการตายของสัตว์ปีกได้ร้อยละ 10 และเพิ่มสวัสดิภาพสัตว์ร้อยละ 20 ลดการใช้น้ำร้อยละ 10  ลดค่าอาหารสัตว์ร้อยละ 10 ลดการตายของสัตว์ปีกระหว่างขนส่งร้อยละ 10 และลดการใช้ยาปฏิชีวนะร้อยละ 15
  • โครงการนวัตกรรมห่วงโซ่คุณค่าในการปลูกพืชในโรงเรือน (Chain-integrated Greenhouse Production) นำโดยมหาวิทยาลัยอัลเมเรีย ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตผลไม้และผักอัลเมเรีย ได้ทำการศึกษาห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่คุณค่าของการปลูกมะเขือเทศในโรงเรือนเพาะชำในสเปนและอิตาลี และใช้ระบบ ICT และ IoT ในระบบการตรวจสอบย้อนกลับและระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System: DSS) ผลการศึกษาระบุว่า สามารถเพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 6.9-8.3 ลดค่าใช้จ่ายการเพาะปลูกร้อยละ 5.2 ลดการใช้ยาฆ่าศัตรูพืชร้อยละ 5.3 ลดการใช้น้ำร้อยละ 4.3-5.6 ลดการปล่อยน้ำเสียร้อยละ 5.3 และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้ร้อยละ 2.7-4.8

จากตัวอย่างที่นำมาแสดงข้างต้น ทำให้เห็นว่า เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเข้ามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหารและสินค้าเกษตรของสเปนมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้ง มีแนวโน้มที่ภาครัฐและเอกชนของสเปนจะมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ในสาขานี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นอีกสาขาหนึ่งที่ไทยและสเปนจะสามารถพัฒนาความร่วมมือกันได้ต่อไปอนาคต

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจจะทำความรู้จักกับอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรกรรมสเปนในเชิงลึก อาจลองพิจารณาเข้าร่วมงาน Fruit Attraction 2021 ที่มีกำหนดจัดวันที่ 5-7 ตุลาคมศกนี้ ที่กรุงมาดริด (งานฯ จะจัดทั้งในรูปแบบปกติและออนไลน์) หรืองาน Alimentaria 2022 ระหว่างวันที่ 4-7 เมษายน ค.ศ. 2022 ที่นครบาร์เซโลนาได้ ซึ่งทั้งสองงานเป็นงานแสดงสินค้าด้านเกษตรและอาหารที่ใหญ่ที่สุดของสเปนและอันดับต้นของยุโรปที่มีผู้เข้าร่วมราว 100,000 คน/งาน

ติดตามสาระดีๆ เกร็ดความรู้และโอกาสทางธุรกิจในสเปนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด https://bic-madrid.thaiembassy.org/

 

[1] โครงการนี้ริเริ่มโดยคณะกรรมาธิการยุโรปและมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งพัฒนาสาขาการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ภายใต้งบประมาณมากกว่า 30 ล้านยูโร โดยมีโครงการนำร่อง 19 โครงการใน 5 สาขา ได้แก่ 1) การเพาะปลูก 2) นม 3) ผลไม้ มะกอกและองุ่น 4) ผัก และ 5) เนื้อสัตว์

[2] ห่วงโซ่อาหารและการเกษตรต้นน้ำหมายถึง  การให้บริการและสินค้าแก่สาขาปฐมภูมิ เช่น ปุ๋ย เมล็ดพืช ในส่วนของห่วงโซ่อาหารและการเกษตรปลายน้ำ ครอบคลุมถึงการบริการขนส่ง แจกจ่ายและขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภค