สเปนมุ่งหน้าสู่การเป็นผู้นำการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวอันดับต้นของโลก

สเปนมุ่งหน้าสู่การเป็นผู้นำการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวอันดับต้นของโลก

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 พ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,239 view

        ด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นประกอบกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่หยุดยั้งในโลกยุคปัจจุบัน ทำให้ความต้องการพลังงานจึงมีเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว อย่างไรก็ดี โดยที่แหล่งพลังงานในรูปแบบเดิมที่เป็นพลังงานฟอสซิลมีข้อจำกัดทั้งในเรื่องของปริมาณและมลพิษ ทำให้ทุกประเทศต่างพยายามที่จะส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งในบรรดาพลังงานทดแทนทั้งหลายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไฮโดรเจนถือเป็นหนึ่งในพลังงานที่กำลังได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตัวอย่างที่ชัดเจน ได้แก่ การที่สหภาพยุโรปได้ประกาศรับรอง “ยุทธศาสตร์ไฮโดรเจน” เมื่อวันที่  8 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้ทุกภาคส่วนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการใช้ไฮโดรเจนสีเขียวภายในปี ค.ศ. 2050  

         ในฐานะสมาชิกของสหภาพยุโรป รัฐบาลสเปนได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) ให้ได้ร้อยละ 90 ภายในปี ค.ศ. 2050 เมื่อเทียบกับระดับการปล่อยก๊าซเมื่อปี ค.ศ. 1990 ทั้งนี้ โดยให้ความสำคัญกับไฮโดรเจนสีเขียวในฐานะหนึ่งในแหล่งพลังงานทางเลือกที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนด้านพลังงานของประเทศ

         วันนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับไฮโดรเจนสีเขียว และศักยภาพของสเปนในการเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกไฮโดรเจนสีเขียวที่สำคัญของยุโรป

imagenparaweb_tcm30-513832

 

        1. ไฮโดรเจนสีเขียวคืออะไร

         ไฮโดรเจนเป็นธาตุที่พบมากที่สุดบนโลกแต่การจะนำมาใช้งาน จะต้องผ่านการแปรสภาพให้เป็นก๊าซไฮโดรเจน (H2) เสียก่อน โดยผ่านกระบวนการต่างๆ อาทิ  Gasification หรือ Stream Methane Reforming (SMR) หรือ Electrolysis เป็นต้น

         ทั้งนี้ เหตุที่เรียกว่าไฮโดรเจนสีเขียว ก็เพราะใช้วัตถุดิบ/สารตั้งต้นที่เป็นชีวมวลหรือของเสียอินทรีย์ จึงถือเป็นพลังงานหมุนเวียนและไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศระหว่างการผลิต ทำให้ไฮโดรเจนสีเขียวจึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับไฮโดรเจนประเภทอื่นไม่ว่าจะเป็นไฮโดรเจนสีน้ำตาล (Brown Hydrogen) หรือสีฟ้า (Blue Hydrogen)

         2.  นโยบายของรัฐบาลสเปน

         รัฐบาลสเปนมีนโยบายที่มุ่งมั่นจะเป็นผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญของโลก โดยมีไฮโดรเจนสีเขียวเป็นพระเอกใหม่ เพิ่มจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ที่สเปนมีศักยภาพในการผลิตอยู่แล้วเป็นทุนเดิม[1] เนื่องจากสเปนมีเทคโนโลยีและ value chain ที่พร้อมสำหรับการพัฒนาไฮโดรเจนสีเขียว โดยเฉพาะวัตถุดิบที่มีมากในภาคเกษตรกรรม โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลสเปนได้อนุมัติแผน Hydrogen Roadmap: a commitment to renewable hydrogen เพื่อส่งเสริมไฮโดรเจนสีเขียวให้เป็นหนึ่งในพลังงานทดแทนที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี ค.ศ. 2050 ตลอดจนช่วยกระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศหลังโควิด-19  รวมถึงส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศด้วย  

         ทั้งนี้ แผนดังกล่าว ประกอบด้วย 60 มาตรการที่ครอบคลุมเรื่องกฎระเบียบ การส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม เป็นต้น และมีการกำหนดเป้าหมายไว้หลายประเด็น อาทิ

         - ภายในปี ค.ศ. 2030 สเปนจะสามารถติดตั้งอิเล็กโทรไลต์ไฮโดรเจน จำนวน 4 กิกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ที่สหภาพยุโรปได้วางไว้ (ยุทธศาสตร์ EU Hydrogen Strategy กำหนดให้ติดตั้งอิเล็กโทรไลต์ไฮโดรเจนอย่างน้อย 40 กิกะวัตต์ภายในปี ค.ศ. 2030) รวมทั้งมีการส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่เกี่ยวข้องมูลค่า 8,900 ล้านยูโร ในช่วงปี ค.ศ. 2020-2030 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปริมาณ 4.6 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2 equivalent) ตลอดจนต้องมีรถบัสอย่างน้อย 150 คัน ยานยนต์ขนส่งหนักและขนส่งเบา 5,000 คัน และรถไฟพาณิชย์ 2 สายที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนสีเขียว

         - ภายในปี ค.ศ. 2050  ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2030 สเปนจะเร่งพัฒนาเศรษฐกิจในภาคด้านการผลิตและการใช้ไฮโดรเจนสีเขียว เพื่อให้ลดการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ตามเป้าหมาย (ร้อยละ 90) และทำให้สเปนบรรลุความเป็นเศรษฐกิจที่มีคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนของสหภาพยุโรป ระยะที่ 3 (ปี ค.ศ. 2030-2050) ที่คาดการณ์กันว่าเทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียวน่าจะเติบโตเต็มที่และมีการนำไปใช้ในวงกว้างแล้ว

           นอกจากนี้ แผนฯ ยังมุ่งส่งเสริมให้สเปนพัฒนาเป็นประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียว/พลังงานทดแทนของยุโรป โดยอาศัยความได้เปรียบด้านภูมิอากาศและภูมิประเทศที่สามารถรองรับการจัดตั้งโรงงานผลิตพลังงานทดแทนได้เป็นจำนวนมาก โดยในส่วนของการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว  ปัจจุบันสเปนมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1,750 เทราวัตต์-ชั่วโมง/ปี และมีความได้เปรียบในเรื่องการแข่งขันด้านราคา (สเปนมีต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนต่ำกว่าเยอรมนีร้อยละ 35) ทำให้ในอนาคต สเปนน่าจะสามารถขยายกำลังการผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายในประเทศอื่นในสหภาพยุโรปได้ด้วย

         ที่สำคัญ การผลิตไฮโดรเจนสีเขียวได้ด้วยตนเอง ยังจะช่วยให้สเปนลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นอุปสรรคหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจสเปน ทั้งนี้  ปัจจุบัน พลังงานที่ใช้อยู่ในสเปนมาจากการนำเข้าจากต่างประเทศถึงร้อยละ 73 (ส่วนใหญ่เป็นก๊าซและน้ำมัน) ซึ่งหากการพัฒนาพลังงานทดแทนเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลสเปนวางไว้ ก็คาดว่า ในปี ค.ศ. 2050 สเปนอาจลดการพึ่งพาพลังงานต่างประเทศเหลือเพียงแค่ร้อยละ 13 เท่านั้น และยังจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานระหว่างปี ค.ศ. 2021-2050 ได้ถึง 344,000 ล้านยูโรทีเดียว 

 

                  Objetivos_país_a_2030  เป้าหมายแผน Hydrogen Roadmap: a commitment to renewable hydrogen ของสเปนสำหรับปี ค.ศ. 2030

         3. สถานการณ์ไฮโดรเจนสีเขียวและตัวอย่างการดำเนินการโครงการในสเปน

         ปัจจุบันสเปนใช้ไฮโดรเจนจำนวน 500,000 ตัน/ปี โดยส่วนใหญ่เป็นไฮโดรเจนสีน้ำตาล (ไฮโดรเจนที่ใช้ ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงตั้งต้น) สำหรับอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน (ประมาณร้อยละ 70) การผลิตเคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 25) และอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น โลหะ โดยบริษัท Repsol (บริษัทพลังงานสัญชาติสเปน) มีการผลิตและใช้ไฮโดรเจนมากที่สุดในประเทศ  ขณะที่ราคาการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวยังถือว่าสูงอยู่  (6-7 ยูโร/กิโลกรัม) เมื่อเปรียบเทียบกับไฮโดรเจนที่ได้จากวัตดุดิบประเภทอื่น (1.5-2.5 ยูโร/กิโลกรัม) และทำให้สเปนจะต้องพยายามส่งเสริมด้าน R&D ให้ก้าวหน้ามากกว่าเดิมเพื่อให้ราคาไฮโดรเจนสีเขียวมีราคาที่แข่งขันกันได้

         อนึ่ง ก่อนหน้านี้ภาคเอกชนสเปนยังไม่ค่อยกล้าพัฒนาไฮโดรเจนสีเขียวมากนัก เนื่องด้วยเกรงความเสี่ยงของตลาดพลังงาน และต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดี การที่สหภาพยุโรปได้ประกาศ “ยุทธศาสตร์ไฮโดรเจน” รวมทั้งการที่รัฐบาลสเปนได้ประกาศแผน Hydrogen Roadmap: a commitment to renewable hydrogen ได้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้บริษัทพลังงานของสเปนเริ่มให้ความสนใจและกระตือรือร้นที่จะพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียวกันอย่างจริงจังมากขึ้น  

         ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 2020 รัฐบาลสเปนเพิ่งประกาศว่าจะจัดสรรงบประมาณ 1,500 ล้านยูโรจากกองทุนฟื้นฟูยุโรปมาใช้สำหรับพัฒนาไฮโดรเจนสีเขียวสเปนในช่วงปี ค.ศ. 2021-2023 ด้วย

         ตัวอย่างโครงการไฮโดรเจนสีเขียวในสเปนที่น่าจับตามอง อาทิ

         - โครงการ Green Hysland ที่เมืองโญเซตา (Lloseta) บนเกาะมาญอร์กา (Mallorca)  เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชนจากบริษัท Acciona บริษัท Enagás บริษัท Redexis รัฐบาลแคว้นหมู่เกาะบาลีแอริก (Balearic Islands) และสถาบันเพื่อความหลากหลายและการประหยัดพลังงาน (Institute for Energy Diversification and Savings - IDAE) ที่มีเป้าหมายผลิตไฮโดรเจนสีเขียวให้ได้อย่างน้อย 300 ตัน/ปีโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์  โดยโครงการ ฯ จะได้รับเงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรป จำนวน 10 ล้านยูโร ตามยุทธศาสตร์ EU Hydrogen Strategy และจะเป็นโครงการแรก (flagship project) ในอนุภูมิภาคยุโรปใต้ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินงานได้ในปี ค.ศ. 2021

Infographic_Green_Hydrogen_Plant_Puertollano

โรงงานไฮโดรเจนสีเขียวปูเอรโตญาโน (Puertollano) จังหวัดซิวดัด เรอัล (Ciudad Real)

         - โรงงานไฮโดรเจนสีเขียว ปูเอรโตญาโน (Puertollano) จังหวัดซิวดัด เรอัล (Ciudad Real)  เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท Iberdrola[2] และบริษัท Fertiberia[3] โดยจะเป็นโรงงานผลิตไฮโดรเจนสีเขียว เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ประกอบด้วยโรงงานพลังงานแสงอาทิตย์ 100 เมกะวัตต์ ระบบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่จัดเก็บพลังงานได้ 20 เมกะวัตต์-ชั่วโมง รวมทั้งระบบการผลิตไฮโดรเจนผ่านกระบวนการ Electrolysis ที่มีขนาดใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก (20 เมกะวัตต์) คาดการณ์กันว่าโครงการนี้จะเริ่มดำเนินการได้ในปี ค.ศ. 2021       

         ติดตามสาระดี ๆ เกร็ดความรู้และโอกาสทางธุรกิจในสเปนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้ที่ https://bic-madrid.thaiembassy.org

ที่มาของภาพ

- https://www.miteco.gob.es/es/ministerio/hoja-de-ruta-del-hidrogeno-renovable.aspx

- Hoja de Ruta del Hidrógeno: Una apuesta por el hidrógeno renovable

- https://www.iberdrola.com/about-us/lines-business/flagship-projects/puertollano-green-hydrogen-plant

 

[1] ในปี ค.ศ. 2019 สเปนใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหลายประเภททั้งจากพลังงานความร้อนร่วม (Combined Cycle) ในสัดส่วนร้อยละ 21.9 รองลงมาคือพลังงานนิวเคลียร์ (ร้อยละ 21.2) พลังงานลม (ร้อยละ 20.6) ระบบโคเจนเนอเรชั่น (ร้อยละ 11.4) พลังงานน้ำ (ร้อยละ 9) ถ่านหิน (ร้อยละ 5) พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ (ร้อยละ 3.5) พลังงานความร้อนแสงอาทิตย์ (ร้อยละ 2) และจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ (ร้อยละ 1.7) นอกจากนี้ ปี ค.ศ. 2019 ยังเป็นปีที่อุตสาหกรรมพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในสเปนเติบโตมากที่สุดในสหภาพยุโรป (อียู) อีกด้วย โดยครองสัดส่วนการติดตั้งร้อยละ 28 ของอียูหรือ 4.7 กิกะวัตต์จาก 16.7 กิกะวัตต์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี (สเปนเคยครองอันดับ 1 เมื่อปี ค.ศ. 2008)

[2] บริษัท Iberdrola ทำธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าทั้งในสเปนและต่างประเทศและเป็นผู้ผลิตพลังงานลมอันดับหนึ่งของโลก

[3] บริษัท Fertiberia เป็นบริษัทผู้นำในการผลิตปุ๋ยในสหภาพยุโรปและเป็นหนึ่งในบริษัทสำคัญของตลาดแอมโมเนียระดับโลก

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ