วันที่นำเข้าข้อมูล 5 มิ.ย. 2562
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565
“จิ้งหรีดเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มทางการตลาดดีขึ้นทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันมีเกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีดมากกว่า 20,000 ราย ผลผลิตปีละ 7,500 ตัน มีมูลค่าเกือบ 1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการบริโภคภายในประเทศ และเริ่มมีการส่งออกไปต่างประเทศ” - น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.เกษตรและสหกรณ์
อียูก็เป็นอีกตลาดหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะเป็นตลาดที่มีผู้บริโภคถึง 508 ล้านคน จาก 28 ประเทศสมาชิกแล้ว อียูยังปรับปรุงกฎระเบียบว่าด้วย “อาหารใหม่” หรือ Novel Foods แทนกฎระเบียบเดิมที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2540 (ค.ศ. 1997) ให้สอดคล้องกับพัฒนาการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของอาหารปัจจุบัน และที่สำคัญกฎระเบียบฉบับนี้ให้การยอมรับอาหารพื้นบ้าน เช่น แมลง โดยจัดกลุ่มแยกจาก “อาหารใหม่” อื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกการขึ้นทะเบียนอีกด้วย โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป
กฎระเบียบฉบับใหม่ เปลี่ยนอะไรบ้าง?
อาหารใหม่ (Novel Foods) หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหารที่ไม่มีประวัติการบริโภคภายในอียูก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ 1. อาหารที่สกัดหรือพัฒนาด้วยนวัตกรรมใหม่ (New Substance) 2. อาหารที่ผลิตจากแหล่งโภชนาการใหม่ (New Source) 3. อาหารที่ผลิตจากกรรมวิธีรูปแบบใหม่ (New Technique) และ 4. อาหารพื้นบ้านที่มีการบริโภคนอกอียู (Traditional Food in 3rd Countries) มาแล้วไม่ต่ำกว่า 25 ปี
กฎระเบียบฉบับนี้ ได้ปรับลดขั้นตอนของกระบวนการขออนุญาต โดยรวมศูนย์การพิจารณาคำร้องขึ้นทะเบียนอาหารใหม่เป็นของอียูทั้งหมด และตั้งหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (EFSA) ให้เป็นหน่วยงานประเมินผลความปลอดภัยอาหารใหม่ และจำกัดระยะเวลาการพิจารณาในแต่ละขั้นตอนที่กระชับมากขึ้น โดยใช้เวลาการขึ้นทะเบียนประมาณ 18 เดือนสำหรับอาหารใหม่ทั่วไป และประมาณ 5-11 เดือนสำหรับอาหารพื้นบ้าน เทียบกับกฎระเบียบเดิมที่ต้องใช้เวลาเฉลี่ย 3.8 ปี ในการขึ้นทะเบียนอาหารใหม่ทุกประเภท
Cost pooling ในการขึ้นทะเบียน EU Novel Foods
ผู้ประกอบการต้องขึ้นทะเบียนบัญชีรายชื่ออาหารใหม่กับ EC ก่อน โดยต้องเตรียมเอกสารที่ต้องใช้ให้ครบตาม Commission Recommendation 97/618/EC ซึ่งเอกสารจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า แม้อียูจะไม่คิดค่าธรรมเนียมดำเนินการสมัครขึ้นทะเบียนอาหารใหม่ แต่ค่าใช้จ่ายในการเตรียมเอกสารให้ครบตามที่อียูกำหนดนั้นสูงถึง 800,000 – 1,800,000 บาท
ดังนั้น การยื่นขึ้นทะเบียนร่วมกัน (Joint Application) หรือในลักษณะสมาคมก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐก็สามารถยื่นขึ้นทะเบียนสินค้าได้ เพราะกฎระเบียบฉบับนี้เป็นการขออนุมัติทั่วไป ไม่จำกัดสิทธิ์อยู่ที่บุคคล/บริษัทที่ยื่นเอกสาร โดยมีข้อแม้ว่ารายละเอียดสินค้านั้นต้องเหมือนกันทุกประการ
ในกรณีที่สินค้าผลิตจากเทคโนโลยีใหม่ เช่น วัสดุนาโนหรือส่วนประกอบใหม่ที่เป็นความลับทางการค้า อียูก็จะปกป้องข้อมูลส่วนดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี แต่ข้อมูลทั่วไปจะถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะเพื่อความโปร่งใส และสามารถเช็ครายชื่ออาหารใหม่ที่ได้รับการอนุมัติทั้งหมดได้บนเว็บไซต์ ec.europa.eu
แมลง = อาหารแห่งอนาคต
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา การบริโภคแมลง โดยเฉพาะจิ้งหรีด ได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆ และมีการแปรรูป ปรุงรส แบรนดิ้ง ออกแบบใส่บรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย เป็นขนมขบเคี้ยววางขายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ในอเมริกาและยุโรปที่มีการยอมรับการบริโภคแมลงมากขึ้น อีกทั้งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ส่งเสริมให้มีการบริโภคแมลงเพิ่มมากขึ้น โดยรายงานจาก FAO ในปี 2556เผยว่าปัจจุบันมีผู้บริโภคแมลงทั่วโลกถึง 2 พันล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรโลก
เนื่องจากแมลงเป็นอาหารทางเลือกที่มีโปรตีนสูง ราคาไม่แพง สามารถผลิตได้ง่ายในท้องถิ่น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถเติบโตได้จากขยะอินทรีย์ รวมทั้งยังสามารถแปรรูปเป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง เช่น โปรตีน ไขมัน และไคติน ซึ่งเป็นโครงสร้างภายนอกของสัตว์ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ในโรงงานผลิตยา เป็นต้น
ใครที่ยังสงสัยว่าการบริโภคแมลงนั้นดีอย่างไร? ยกตัวอย่างเช่น จากรายงานของ FAO จิ้งหรีดที่นอกจากจะมีโปรตีนสูง แล้วยังมีธาตุเหล็ก 9.5 มก. และแคลเซียม 75.7 มก. ต่อ 100 กรัม ที่สูงกว่าเนื้อไก่ เนื้อวัว และเนื้อหมู และภัตตาคารชั้นนำหลายแห่งได้มีการนำแมลงไปสร้างสรรเป็นเมนูใหม่ๆ ให้ผู้ที่ชื่นชอบ Gastronomy ได้ลิ้มลอง รวมถึงร้านช็อคโกแลตชื่อดังของเบลเยียม Wittamer ที่มีการนำแมลงจิ้งหรีดมาชุปด้วยผงกากเพชรสีทองวางบนช็อคโกแลตพราลีนอีกที
ชาวยุโรปยังมีความคิดเห็นที่ต่างกันต่อการบริโภคแมลง
นาง Mireille D'Ornano สมาชิกสภายุโรปจากฝรั่งเศส และหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารของฝรั่งเศส (ANSES) มีความเห็นสนับสนุนรายงานของ FAO และเห็นชอบการบริโภคแมลงเป็นอาหารในอียู อย่างไรก็ดี ชาวยุโรปยังมีความคิดที่ต่างกันต่อการบริโภคแมลง และแม้อียูจะยอมรับให้แมลงเป็นอาหารใหม่ภายใต้กฎระเบียบฉบับใหม่นี้ แต่ผู้บริโภคชาวยุโรปเองยังไม่มั่นใจในการบริโภคแมลงซะทีเดียว โดยบางกลุ่มยังมีความรู้สึกขยะแขยง และไม่มั่นใจในความสะอาดปลอดภัย
ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันประเทศเบลเยียมมีการอนุโลมจากหน่วยงานด้านความปลอดภัยของห่วงโซ่อาหารเบลเยียม (AFSCA) ให้มีการบริโภคแมลง 10 ชนิด รวมถึงจิ้งหรีดจากแหล่งผลิตจากในอียูเท่านั้นนอกจากนี้ โดยที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่ามีการบริโภคแมลงอย่างแพร่หลายในอียู ดังนั้น ผู้ประกอบการแมลงจะต้องยื่นขึ้นทะเบียนแมลงเป็นอาหารใหม่หรืออาหารพื้นบ้านก่อนวางจำหน่ายทั่วไปในอียู
กลุ่มผู้บริโภคแมลงในปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคนที่สนใจทดลองบริโภคอาหารใหม่ๆ (Foodies) กลุ่มที่บริโภคแมลงเพื่อคุณค่าทางอาหาร (Superfood) และกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะแมลงเป็นอาหารที่ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าแหล่งโปรตีนอื่นๆ ซึ่งนิสัยการรับประทานของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปตามเทรนด์โลก เช่น เมื่อก่อนการรับประทานปลาดิบก็เป็นเรื่องที่ชาวยุโรปไม่เข้าใจ แต่ตอนนี้เราก็สามารถหาร้านซูชิได้ในทุกเมืองใหญ่ในยุโรป ดังนั้นการบริโภคแมลงก็เช่นกัน
โอกาสของประเทศไทย
จากรายงานของนักวิจัยจากคณะกีฏวิทยา มหาวิทยาลัย Wageningen ประเทศเนเธอร์แลนด์ ชี้ว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ทำจากแมลง เนื่องจากประเทศไทยมีแมลงที่บริโภคได้มากกว่า 300 สายพันธุ์ กอปรกับประเทศไทยมีแหล่งผลิตและบริโภคแมลงอยู่แล้ว
สินค้าแมลงแปรรูปมีโอกาสได้รับความนิยมในตลาดยุโรป โดยเฉพาะแป้งที่มีส่วนผสมของแมลงซึ่งสามารถมาแปรรูปเป็นเส้นพาสต้าหรือผสมในเบอร์เกอร์ที่เป็นเมนูอาหารที่ชาวยุโรปคุ้นเคยและรับประทานอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว
สุดท้าย ผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออก ควรพิจารณาหลักการสากลด้านการผลิตและควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยประกอบ รวมถึงมาตรฐาน GAP ในฟาร์มมาตรฐาน GMP ในโรงคัดบรรจุและโรงงานแปรรูป และมาตรฐาน HACCP สำหรับโรงงานแปรรูปที่มีศักยภาพ เพราะอียูให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับการติดฉลาดสินค้าที่ชัดเจนตามกฎระเบียบ EU Regulation1169/2011 เพื่อเป็นการเตรียมสินค้าแมลงไทยให้พร้อมสำหรับตลาดอียู และสามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ผ่านทางเว็บไซต์ www.acfs.go.th หรือ โทร. 02-561-2277
ที่มาของข่าวและภาพ กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ www.europetouch.in.th
19 ธันวาคม 2560
รูปภาพประกอบ