มาดริด เมืองอัจฉริยะ

มาดริด เมืองอัจฉริยะ

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 มิ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 18 มิ.ย. 2562

| 2,356 view

IESE Cities in Motion Index 2018

IESE Cities in Motion Index 2018

“Smart City” หรือ “เมืองอัจฉริยะ” เป็นคำที่คุ้นหูเรามากขึ้นทุกวัน

กล่าวกันว่าการพัฒนาเมืองอัจฉริยะต้องบริหารจัดการ 3 องค์ประกอบสำคัญอย่างผสมผสานและมีประสิทธิภาพ ได้แก่ เทคโนโลยี ความยั่งยืนและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาให้เมืองใหญ่ให้น่าอยู่ รวมถึงพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล โดยตามรายงาน Mapping the Smart City ของคณะกรรมาธิการยุโรประบุว่าเมืองที่จะได้ขึ้นชื่อว่าเป็น เมืองอัจฉริยะนั้นจะต้องมีการดำเนินโครงการเกี่ยวข้องกับ 1 ใน 6 ด้านดังต่อไปนี้ ได้แก่ 1) Smart Economy อาทิ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และธุรกิจทางอินเตอร์เนต การผลิตและการขนส่งสินค้าบริการโดยใช้เครื่องมือดิจิตอล 2) Smart Environment เน้นการพัฒนาสภาพแวดล้อมของเมืองอย่างยั่งยืน ทั้งการบริหารจัดการการใช้น้ำ พลังงาน และทรัพยากรต่าง ๆ เป็นต้น 3) Smart Governance ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่โปร่งใสได้ในเวลาจริง 4) Smart Living โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จะส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและปลอดภัย 5) Smart Mobility เพื่อส่งเสริมระบบการขนส่งอย่างยั่งยืน ปลอดภัยและสามารถเชื่อมโยงการขนส่งหลายรูปแบบได้ และ 6) Smart People เพื่อให้เมืองมีบทบาทสำคัญในการให้การอบรมประชาชนและให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมต่อการบริหารจัดการเมือง

สเปนมี 9 เมืองที่ติดอยู่ใน 165 อันดับของเมืองที่ได้รับการประเมินตามดัชนี IESE Cities in Motion Index (CIMI) โดยกรุงมาดริดและนครบาร์เซโลนาคว้าอันดับที่ 25 และ 26 ของเมืองอัจฉริยะของโลก[1] โดยมีจุดแข็งด้านการคมนาคมและการขนส่งและการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริการสาธารณะ

คะแนนของกรุงมาดริดและนครบาร์เซโลนาจากดัชนี CIMI

คะแนนของกรุงมาดริดและนครบาร์เซโลนาจากดัชนี CIMI

ในส่วนของกรุงมาดริด เทศบาลกรุงมาดริดเป็น 1 ใน 5 เทศบาลที่มีประชากรมากที่สุดในยุโรป (3.2 ล้านคน) มีเจ้าหน้าที่เทศบาลจำนวน 27,000 คน ซึ่งต้องรับมือกับการบริหารจัดการทรัพยากรเมืองซึ่งนับวัน  ยิ่งมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่น ขยะ 1 ล้านตัน/ปี การใช้น้ำ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี รถยนต์บนถนนกว่า 1.7 ล้านคัน เสาไฟทาง 2.52 แสนต้น อาคารสาธารณะ 835 แห่ง และต้นไม้ 7.5 แสนตัน และยังเป็นเมืองที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวนมากในแต่ละปี (ปี 2561 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนกรุงมาดริดประมาณ 7.1 ล้านคน) วันนี้ ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในสเปนจะพาไปรู้จัก 2 โครงการที่น่าสนใจในการพัฒนากรุงมาดริดให้เป็นเมืองอัจฉริยะ โดยมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้บริหารจัดการ เพื่อให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน 

1. MiNT, Madrid Inteligente

MiNT, Madrid Inteligente (หรือ MiNT Smart Madrid) เป็นโครงการซึ่งเริ่มเมื่อเดือนเมษายน 2558 เพื่อพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยมีบริษัท INSA ภายใต้เครือบริษัท IBM เป็นผู้พัฒนาระบบ (ปัจจุบันบริษัท INSA เปลี่ยนชื่อเป็น Viewnext)

จุดเด่นของระบบ MiNT คือเป็นแพลตฟอร์มรวมศูนย์ข้อมูลของหลายระบบไว้ด้วยกัน เพื่อให้บริการด้านการจัดการชุมชนเมือง และสร้างการสื่อสารระหว่างกันของเจ้าหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที และช่วยป้องกันปัญหาการจัดการทับซ้อนของหลายหน่วยงานได้อีกด้วย

ระบบ MiNT ครอบคลุมการบริการหลายด้าน อาทิ ระบบไฟบนพื้นที่สาธารณะ การติดตั้งระบบท่อระบายน้ำ การซ่อมแซมองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการจราจร ทางเดิน สะพาน และโครงสร้างต่าง ๆ การขนส่งระบบตู้สินค้า การทำความสะอาดเมือง การรดน้ำต้นไม้ ระบบการจัดการพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ อุทยานประวัติศาสตร์ วนอุทยาน อุปกรณ์ประกอบถนน (street furniture) พื้นที่สำหรับเด็กเล็กและผู้ใหญ่ พื้นที่สันทนาการ การใช้ก๊าซ ไฟฟ้า พลังงานเชื้อเพลิงและน้ำ ข้อมูลที่จอดรถ เป็นต้น

โครงการ MiNT Madrid Inteligente

โครงการ MiNT Madrid Inteligente

ระบบ MiNT สร้างขึ้นมาบนหลักการ 3 ประการ ได้แก่ คุณภาพ การมีส่วนร่วมและการบูรณาการ ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและความโปร่งใสของการให้บริการได้ (Open data) ระบบให้ความสำคัญกับคุณภาพการบริการและการประเมินผลอย่างโปร่งใส โดยการบริการแต่ละครั้งจะได้รับการประเมินคุณภาพจากข้อมูลตัวเซ็นเซอร์ (Internet of Things) การตรวจสอบ และความพึงพอใจของประชาชน 

ระบบ MiNT ได้ช่วยให้เทศบาลกรุงมาดริดสามารถบริหารจัดการทรัพยากรและบริการของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประชาชนเองก็สามารถเข้าไปมีบทบาทในการดำเนินการดังกล่าวได้ เมื่อเกิดปัญหาประชาชนสามารถแจ้งเรื่องต่อเทศบาลกรุงมาดริดได้หลายช่องทาง ทั้งทางหมายเลขโทรศัพท์ 010 เว็บไซต์เทศบาลกรุงมาดริด (www.madrid.es) แอปพลิเคชั่น “Avisos Madrid” หรือแจ้งเรื่องด้วยตนเองที่สำนักงานบริการประชาชน (Oficinas de atención a la ciudadanía) ที่มี 26 แห่งทั่วกรุงมาดริด ในกรณีที่แจ้งเรื่องผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นสามารถระบุตำแหน่งพื้นที่ที่ต้องการแจ้งเรื่อง แนบรูปถ่ายประกอบคำอธิบายได้อีกด้วย

ตัวอย่างการรายงานความคืบหน้าการซ่อมถนน รหัสการแจ้งเรื่อง #5388578 ซึ่งมีแผนที่ของพื้นผิวถนนที่ต้องการให้ซ่อมแซม ที่อยู่ รายละเอียดการแจ้งเหตุ และภาพถ่ายประกอบที่ประชาชนแนบส่งไป

ตัวอย่างการรายงานความคืบหน้าการซ่อมถนน รหัสการแจ้งเรื่อง #5388578 ซึ่งมีแผนที่ของพื้นผิวถนนที่ต้องการให้ซ่อมแซม ที่อยู่ รายละเอียดการแจ้งเหตุ และภาพถ่ายประกอบที่ประชาชนแนบส่งไป

เมื่อประชาชนแจ้งเรื่อง ˃ ระบบแจ้งเตือนส่งเรื่องไปให้ระบบของรัฐบาลท้องถิ่น ˃ ระบบรัฐบาลท้องถิ่นส่งเรื่องต่อไปยังระบบที่เกี่ยวข้อง  ˃ ระบบส่งเรื่องไปยังบริษัทที่รับผิดชอบ ˃ บริษัทแก้ไขปัญหา ˃ เทศบาลกรุงมาดริดตรวจสอบคุณภาพ  โดยในแต่ละครั้งที่ประชาชนแจ้งเรื่อง ระบบจะส่งข้อความแจ้งตอบกลับมาว่าได้รับเรื่องที่แจ้งพร้อมรหัสแจ้งเรื่อง และส่งข้อความมาเป็นระยะ ๆ เพื่อรายงานความคืบหน้า ซึ่งประชาชนสามารถใช้รหัสแจ้งเรื่องติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการของเทศบาลกรุงมาดริดได้อีกด้วย

2. MaaS Madrid

กรุงมาดริดเป็นเมืองที่มีการคมนาคมและการขนส่งดีที่สุดอันดับ 9 ของโลก (ตามการประเมินของ IESE) โดยเมื่อปี 2561 แอปพลิเคชั่น MaaS Madrid เป็นหนึ่งตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นว่ากรุงมาดริดมีการขนส่งหลากรูปแบบ ครอบคลุมและเอื้อต่อการเดินทางของประชาชนจริง ๆ

บริษัท Empresa Municipal de Transporte (EMT) หรือบริษัทผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะกรุงมาดริด EMT พัฒนาแอปพลิเคชั่น MaaS Madrid ขึ้นมา โดยรวบรวมข้อมูลการขนส่งสาธารณะหลากหลายรูปแบบที่มีในกรุงมาดริดเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งการขนส่งสาธารณะแบบดั้งเดิม (รถไฟ รถไฟใต้ดิน รถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่) และการขนส่งรูปแบบใหม่ (อาทิ รถเช่า รถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สกูตเตอร์ไฟฟ้า) เพื่อให้ผู้สัญจรสามารถวางแผนการเดินทางได้ถูกต้องตามเวลาจริง

จุดเด่นของแอปพลิเคชั่นนี้คือผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลวิธีการเดินทางหลายรูปแบบได้ผ่านแอปพลิเคชั่นเดียว แทนที่จะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นของหลายบริษัทไว้ในสมาร์ทโฟน ทั้งนี้ เทศบาลกรุงมาดริดและบริษัท EMT เพิ่งเปิดตัวแอปพลิเคชั่นนี้ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 โดยเน้นว่าเครื่องมือนี้จะช่วยส่งเสริมการขนส่งอย่างยั่งยืนของเมืองหลวง และสอดคล้องกับ 21 มาตรการเพื่อปรับปรุงการเคลื่อนที่ในกรุงมาดริดภายใต้แผน A ว่าด้วยคุณภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Plan A for Air Quality and Climate Change) ของเทศบาลกรุงมาดริด ซึ่งเทศบาลให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในการพัฒนานโยบาย อันจะนำไปสู่การพัฒนารูปแบบเมืองแบบใหม่เป็นสำคัญ[2]

ภาพแอปพลิเคชั่น MaaS Madrid ใน Google Play

ภาพแอปพลิเคชั่น MaaS Madrid ใน Google Play

MaaS เป็นคำย่อมาจากคำว่า Mobility as a service หรือแนวคิดการมองคมนาคมว่าเป็นการบริการ โดยมองว่าผู้ใช้ต้องการเดินทาง (Mobility) และให้ความสำคัญต่อความสะดวกสบายที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง โดยไม่เกี่ยงว่าใช้รูปแบบหรือยานพาหนะแบบไหนในการเดินทาง ปัจจุบัน แอปพลิเคชั่น MaaS Madrid กำลังอยู่ในช่วงการพัฒนาระยะที่ 2 โดยได้เพิ่มเติมข้อมูลรูปแบบการเดินทางเพิ่มขึ้น อาทิ รถไฟ รถไฟใต้ดิน รถโดยสารประจำทางของบริษัท EMT แท็กซี่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ สกู๊ตเตอร์ของหลายบริษัท โดยผู้ใช้งานยังสามารถค้นหาข้อมูลที่จอดรถ สถานีเติมไฟรถยนต์ไฟฟ้า คุณภาพอากาศหรือสภาพการจราจรได้อีกด้วย ซึ่งทำให้สามารถตัดสินใจได้ว่าควรเลือกวิธีการเดินแบบใดจึงจะเหมาะสมที่สุด              

ในการค้นหาเส้นทางและวิธีการเดินทาง ผู้ใช้งานจะเลือกจุดเริ่มต้นและจุดหมายปลายทางของการเดินทาง และแอปพลิเคชั่นจะแสดงวิธีการเดินทางที่เหมาะสมที่สุดตามการตั้งค่าที่ผู้ใช้เลือกไว้ อาทิ เส้นทางที่เร็วที่สุด ราคาถูกที่สุด สร้างมลภาวะน้อยที่สุด หรือดีต่อสุขภาพมากที่สุด คาดกันว่าภายในปี 2562 จะสามารถคำนวณค่าโดยสาร จองยานพาหนะและชำระค่าโดยสารผ่านแอปพลิเคชัน MaaS Madrid หรือผ่านแอปพลิเคชั่นของบริษัทผู้ให้บริการได้อีกด้วย

ตัวอย่างบริษัทผู้ให้บริการในแอปพลิเคชั่น MaaS Madrid

ตัวอย่างบริษัทผู้ให้บริการในแอปพลิเคชั่น MaaS Madrid รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าบริษัท Ecooltra และรถยนต์ไฟฟ้าบริษัท Car2Go     

และนี่ก็เป็นเพียงแค่ตัวอย่างโครงการดี ๆ ของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในกรุงมาดริดที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งไทยอาจนำมาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศต่อไปได้ ในสเปนยังมีโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะหลายแห่งที่น่าสนใจอย่างเช่นในนครบาร์เซโลนา หากผู้อ่านสนใจสามารถรับชมรายการ “โลก 360 องศา” ตอน Barcelona Smart City ตัวอย่างดี ๆ ของสเปนได้ที่ https://youtu.be/SrTaBOChaqI  

นอกจากนี้ หากใครมีโปรเจ็คน่าสนใจหรืออยากได้ไอเดียดี ๆ เกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะ สเปนก็มีกำหนดจัดงาน  Smart City Expo World Congress (http://www.smartcityexpo.com/) เป็นประจำทุกปี โดยปีนี้จะจัดขึ้นที่นครบาร์เซโลนา ระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายน 2562 งานน่าสนใจ ทันกระแสโลก 4.0 แบบนี้จัดว่าพลาดไม่ได้

 

ที่มาของภาพ

  • IESE Cities in Motion Index 2018 https://media.iese.edu/research/pdfs/ST-0471-E.pdf
  • Infografía del proyecto MiNT https://www-03.ibm.com/press/es/es/photo/44334.wss
  • eCooltra, el motosharing eléctrico, llega a Madrid con 280 scooters http://electromovilidad.net/ecooltra-el-motosharing-electrico-llega-a-madrid-con-280-scooters/
  • ¿Quién está destrozando los coches eléctricos de Madrid? https://www.libremercado.com/2016-01-12/quien-esta-destrozando-los-coches-electricos-de-madrid-1276565311/

 

25 กุมภาพันธ์ 2562

 


 

 


[1] ที่เหลืออีก 7 เมือง ได้แก่ บาเลนเซีย (อันดับ 63) เซบีญา (อันดับ 85) มาลากา (อันดับ 89) ปาลมา เด มาญอร์กา (อันดับ 92) ซาราโกซา (อันดับ 93) มูรเซีย (อันดับ 95) บาญาโดลิด (อันดับ 99) บิลเบา (อันดับ 103) บีโก (อันดับ 104) และอาโกรูญา (อันดับ 105) ในขณะที่กรุงเทพมหานครของไทยติดอันดับ 90โดยมีจุดแข็งด้านการคมนาคมและการขนส่งและการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริการสาธารณะ

[2] แผนดังกล่าวประกอบด้วย 30 มาตรการในการแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจะมีผลบังคับใช้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ภายใต้งบประมาณการดำเนิการ 600 ล้านยูโร โดยเทศบาลกรุงมาดริดตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยมลภาวะร้อยละ 40 ภายในปี 2573 (เปรียบเทียบกับสถิติที่บันทึกไว้ในปี 2533) ดำเนินตามข้อกำหนดของอียูด้านสารมลพิษ ดำเนินตามข้อคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกเรื่องค่ามลพิษ ลดการจราจรบนท้องถนนร้อยละ 50 ภายในปี 2573 (เปรียบเทียบกับสถิติที่บันทึกไว้ในปี 2533)