สเปนเดินหน้าการใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ในสนามบิน

สเปนเดินหน้าการใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ในสนามบิน

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 มิ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,375 view

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างออกมาออกมาตรการรับมือปัญหาดังกล่าว ในวันนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริดจะมาพูดถึงวิธีการรับมือปัญหานี้ในสนามบินประเทศสเปนกัน  

 เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัท Aena (รัฐวิสาหกิจที่ดูแลจัดการสนามบิน 46 แห่งในสเปน) ได้อนุมัติแผนโฟโตโวลตาอิก (Plan Fotovoltaico หรือ Photovoltaic Plan) หรือการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ร้อยละ 70 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2569 แผนดังกล่าวสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบริษัทซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลสเปนในการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงแนวทางการดำเนินการของอียูเรื่องสร้างความเป็นกลางด้านคาร์บอน (carbon neutral)[1] ภายในปี 2573

Aena ตั้งเป้าติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในสนามบินกว่า 20 แห่งของประเทศ โดยจะใช้งบประมาณ 250 ล้านยูโร คาดกันว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์ตามแผน ฯ จะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าในสนามบินได้ถึงร้อยละ 70 ของค่าไฟฟ้าที่จ่ายในแต่ละปีซึ่งสูงกว่า 75 ล้านยูโร และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 167,000 ตันหรือร้อยละ 40 ในปี 2568

การลดค่าไฟฟ้าของ Aena จะเป็นผลดีต่อการคำนวณอัตราภาษีสนามบินในราคาที่ต่ำลง ผู้โดยสารซึ่งเดินทางโดยใช้สนามบินที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เหล่านี้จะได้ประโยชน์ไปด้วย เนื่องจากราคาบัตรโดยสารเครื่องบินจะลดลงเช่นกัน นอกจากนี้ การนำโครงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มาใช้จะทำให้ Aena เป็นผู้นำของยุโรปด้านการผลิตพลังงานทดแทนในสนามบิน โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 650 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง และจะทำให้สนามบินหลักของประเทศ 2 แห่ง ได้แก่ สนามบิน Adolfo Suárez Madrid Barajas ในกรุงมาดริดและสนามบิน Barcelona - El Prat ในนครบาร์เซโลนา บรรลุเป้าหมายการมีค่าความเป็นกลางด้านคาร์บอน (carbon neutral) ภายในปี 2573 อีกด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนของสนามบิน Adolfo Suárez Madrid Barajas บริษัท Aena มีแผนที่จะสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์บนพื้นที่ 22 เฮคเตอร์ และได้เปิดประมูลการสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังการผลิต 7.5 เมกะวัตต์แล้วเมื่อต้นเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา โดยงบประมาณสำหรับโครงการนี้อยู่ที่ 13 ล้านยูโร  

สเปนเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านพลังงานทดแทนที่หลากหลาย โดยหากเจาะลึกเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell หรือ Solar Photovoltaics) สเปนมีจำนวนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มากเป็นอันดับที่ 5 ของยุโรป รวม 5.6 กิกะวัตต์หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.9 ของภูมิภาค นอกจากนี้ สเปนยังมีการติดตั้งเทคโนโลยีเพื่อผลิตไฟฟ้าจากความร้อนแสงอาทิตย์ (Solar Thermal Electricity: STE) มากที่สุดในโลก รวม 2.87 กิกะวัตต์ และที่สำคัญ ร้อยละ 78 ของโครงการผลิตไฟฟ้าความร้อนจากแสงอาทิตย์ของโลกดำเนินการโดยบริษัทสเปน ทั้งนี้ บริษัทสเปนผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีชื่อเสียงและมีผลงานในต่างประเทศ อาทิ บริษัท Isolux Corsán (http://www.isoluxcorsan.com/es/) บริษัท Abengoa (http://www.abengoa.es/) บริษัท Grupo Cobra (http://www.grupocobra.com/) บริษัท Acciona Energía (https://www.acciona-energia.com/) บริษัท Iberdrola (https://www.iberdrola.es/) บริษัท Elecnor (https://www.elecnor.com/) บริษัท Grupo Ortiz (http://www.grupoortiz.com/) และบริษัท Tsk (http://www.grupotsk.com/)

การนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์จึงเป็นหนึ่งตัวอย่างของการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในแบบของสเปน สำหรับผู้สนใจเทคโนโลยีเรื่องพลังงานทดแทน สเปนจะจัดงานแสดงสินค้า GENERA 2020 Energy and Environment International Trade Fair ครั้งถัดไปในวันที่ 10-12 มิถุนายน 2563 (http://www.ifema.es/genera_01/)

 

 


[1] ค่าความเป็นกลางด้านคาร์บอน (carbon neutral หรือ carbon neutrality) หมายถึงการดำเนินมาตรการขององค์กร บริษัทหรือบุคคลในการกำจัดค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในสิ่งแวดล้อม ตามปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ เป้าหมายของการสร้างค่าความเป็นกลางด้านคาร์บอนคือการลดปริมาณรอยเท้าคาร์บอนให้เป็นศูนย์ (zero carbon footprint) ยกตัวอย่างเช่น บริษัทแห่งหนึ่งอาจปลูกต้นไม้หลายแห่งในโลกเพื่อชดเชยปริมาณไฟฟ้าที่บริษัทใช้ไป หลายครั้งเรียกการปฏิบัตินี้ว่า “แนวทางการชดเชยคาร์บอน” (carbon offset หรือ carbon offsetting)

 

ที่มาของภาพ

 – AENA saca a concurso su primera planta fotovoltaica para autoconsumo: tendrá una potencia de 7,5 MW y se construirá en el Aeropuerto de Barajas en Madrid https://elperiodicodelaenergia.com/aena-saca-a-concurso-su-primera-planta-fotovoltaica-para-autoconsumo-tendra-una-potencia-de-75-mw-y-se-construira-en-el-aeropuerto-de-barajas-en-madrid/

12 มีนาคม 2562