โอกาสเครื่องสำอางฮาลาลไทยในสเปน

โอกาสเครื่องสำอางฮาลาลไทยในสเปน

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 มิ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,252 view

ปัจจุบัน สินค้าและบริการฮาลาลเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีศักยภาพขยายตัวได้อีกมากเนื่องด้วย 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1) การเพิ่มขึ้นของประชากรมุสลิมโลก ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งหมด 1,800 ล้านคนทั่วโลกและคาดการณ์กันว่าในปี 2573 จะเพิ่มเป็น 2,200 ล้านคนหรือร้อยละ 26.4 ของประชากรโลก 2) กลุ่มประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม (OIC) เป็นผู้นำการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก โดยค่าเฉลี่ยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ GDP ระหว่างปี 2556-2561 อยู่ที่ร้อยละ 6.3 โดยประมาณ และ 3) การเพิ่มจำนวนของชนชั้นกลางมุสลิมจากทั่วโลก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยบวกสำหรับการขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลของไทย  

วันนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด จะพาไปเจาะข้อมูลความน่าสนใจของตลาดเครื่องสำอางฮาลาลในแดนกระทิงดุ ซึ่งยังเปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการจากทั่วโลก รวมถึงไทย

Thomson Reuters Report (2561) ระบุว่า ในปี 2560 อุตสาหกรรมเครื่องสำอางฮาลาลทั่วโลกมีมูลค่า รวมสูงกว่า 6.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในปี 2566 จะสร้างมูลค่าสูงถึง 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว  โดยในส่วนของสเปน ตามข้อมูลของ Global Islamic Gateway ระบุว่า เมื่อปี 2558 ชาวมุสลิมในสเปนใช้จ่ายซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางภายในประเทศกว่า 380 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์กันว่ายอดค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นเป็น 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2563 อย่างไรก็ดี ปัญหาที่ชาวมุสลิมในสเปนประมาณ 2 ล้านคนต้องประสบคือ หาซื้อเครื่องสำอางฮาลาลได้ลำบาก เพราะไม่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดมากนัก แม้ว่าจะมีความต้องการเครื่องสำอางดังกล่าวอยู่มากและกลุ่มประชากรที่ต้องการใช้เครื่องสำอางดังกล่าวมีกำลังซื้อสูงก็ตาม

หลายคนอาจสงสัยว่าเครื่องสำอางฮาลาลมีลักษณะอย่างไร ?

เครื่องสำอางฮาลาลเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยวัตถุดิบฮาลาลหรือถูกต้องตามหลักการอิสลาม ไม่มีส่วนประกอบจากหมู แอลกอฮอล์ ไขมันสัตว์ และส่วนประกอบอื่น ๆ ที่ต้องห้ามตามหลักการอิสลาม โดยส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากธรรมชาติ อาทิ สารสัดจากพืชและแร่ธาตุ  จึงกล่าวได้ว่า เครื่องสำอางฮาลาลไม่ได้เหมาะสำหรับชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ยังเหมาะสำหรับกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปที่ใส่ใจในสุขภาพและห่วงใยสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ด้วยโอกาสการขยายตัวของเครื่องสำอางฮาลาลในสเปนมีอยู่มาก ทำให้เครื่องสำอางฮาลาลจากปารีสแบรนด์ Mademoiselle Saint Cloud ได้วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในสเปนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ดี สินค้าเครื่องสำอางและเวชภัณฑ์ที่ได้รับรองมาตรฐานฮาลาลจากสถาบันฮาลาลสเปนยังถือว่ามีอยู่น้อย โดยมีสัดส่วนเป็นเพียงร้อยละ 2.2 จาก 350 บริษัทที่วางจำหน่ายในตลาดเท่านั้น  โดยแบรนด์เครื่องสำอางที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาลจากสถาบันฮาลาลสเปนแล้ว เช่น แบรนด์ Laboratiorios Valquer และแบรนด์ Bany Cosmética Halal ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่กำลังมองหาโอกาสในการส่งออกสินค้าเครื่องสำอางฮาลาลไปจำหน่ายในต่างประเทศ จึงน่าจะมีโอกาสรุกครองส่วนแบ่งตลาดเครื่องสำอางฮาลาลในสเปนได้ โดยการชูจุดแข็งในแง่ของผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติและสมุนไพร เพราะคุณสมบัติดังกล่าวจะถูกอกถูกใจทั้งกลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิมในสเปน นักท่องเที่ยวมุสลิมจากยุโรปและจากกลุ่มประเทศ OIC[1] รวมถึงกลุ่มผู้รักสุขภาพและห่วงใยสิ่งแวดล้อมในสเปนได้เป็นอย่างดี

หากมองในภาพรวมของอุตสาหกรรมน้ำหอมและเครื่องสำอางสเปนจะพบว่าได้ว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวเติบโตต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เมื่อปี 2560 ชาวสเปนจับจ่ายซื้อสินค้าน้ำหอมและเครื่องสำอางรวมมูลค่า 6,820 ล้านยูโร ซึ่งขยายตัวร้อยละ 2.15 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า โดยสินค้าในอุตสาหกรรมดังกล่าวแบ่งออกเป็น 5 หมวดเรียงลำดับตามมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ดังนี้ 1) เครื่องสำอางดูแลผิว 1,908.07 ล้านยูโร 2) ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย 1,650.82 ล้านยูโร 3) น้ำหอมและเครื่องหอม 1,312.92 ล้านยูโร 4) เครื่องสำอางดูแลผม 1,277.82 ล้านยูโร และ 5) เครื่องสำอางแต่งสีหน้า ริมฝีปาก เล็บและดวงตา 670.04 ล้านยูโร สินค้าที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดคือผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (ร้อยละ  28) และน้ำหอม (ร้อยละ 21) ในขณะที่สินค้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากกลุ่มลูกค้าสเปน ได้แก่ น้ำหอมและเครื่องหอม (ร้อยละ 5.4) โดยเฉพาะน้ำหอมผู้ชาย (ร้อยละ 7) เครื่องสำอางแต่งสี (ร้อยละ 3.2) โดยเฉพาะลิปสติก (ร้อยละ 7.4) และเมคอัพ (ร้อยละ 4.6) ในส่วนของครีมดูแลผิวพบว่าครีมทามือได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากที่สุด (ร้อยละ 8) ตามมาด้วยครีมบำรุงผิวหน้า (ร้อยละ 1.4)

เนื่องจากการดูแลตนเองทั้งเรื่องความสะอาดและรูปลักษณ์ภายนอกเป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกของชาวสเปนอยู่แล้ว ทำให้ในแต่ละปีชาวสเปนใช้จ่ายซื้อน้ำหอมและเครื่องสำอางเฉลี่ยอยู่ที่ 147 ยูโรต่อคน ซึ่งมากกว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของชาวยุโรป (137 ยูโรต่อคนต่อปี) อย่างไรก็ดี แม้ว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะน้อยกว่าประเทศยุโรปอื่น เช่น สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ฝรั่งเศส อิตาลี แต่สมาคมน้ำหอมและเครื่องสำอางแห่งสเปนหรือ Stanpa ยืนยันว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวยังสามารถเติบโตได้อีก กอปรกับกระแสผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากวัตถุดิบจากธรรมชาติและออร์แกนิกมาแรง ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางฮาลาลซึ่งทำด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น สารสกัดจากพืชและแร่ธาตุ ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และสัตว์ จึงน่าจะเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มชาวมุสลิมในสเปนได้เป็นอย่างดี

ผู้ประกอบการที่สนใจบุกตลาดเครื่องสำอางในแดนกระทิงดุ สามารถพิจารณาเข้าร่วมงานแสดงสินค้าได้ที่ 1) งาน Cosmo Beauty Barcelona ระหว่างวันที่ 6-8 เมษายน 2562 ณ นครบาร์เซโลนา (https://cosmobeautybarcelona.com/) 2) งาน Cosmotrium Concept to product ระหว่างวันที่ 23-24 ตุลาคม 2562 ณ นครบาร์เซโลนา (https://www.cosmetorium.es/) หรือ 3) งาน SALÓN LOOK ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม 2562 ณ กรุงมาดริด (http://www.ifema.es/salonlook_06/)  หรืออาจพิจารณาติดต่อร้านผู้จัดจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม ซึ่งมีสาขาหลายแห่งทั่วสเปน อาทิ 1) ร้าน Druni (https://www.druni.es/) 2) ร้าน Primor (https://www.primor.eu/) 3) Douglas (https://douglas.es/)



[1] ตามสถิติของ Global Muslim Travel Index ปี 2560 สเปนเป็นประเทศอันดับ 2 ของประเทศในกลุ่มที่ไม่ใช่มุสลิมที่มีนักท่องเที่ยวมุสลิมมาเยือนมากที่สุดจำนวน 1.7 ล้านคนรองจากรัสเซีย (Top 10 Muslim Inbound Destinations -non-OIC) และสเปนติดอันดับ 9 ของประเทศในกลุ่มที่ไม่ใช่มุสลิมที่ได้รับความนิยมจากนักเดินทางชาวมุสลิมมากที่สุด (Top 20 Non-OIC Destination) โดยนักท่องเที่ยวจากประเทศมุสลิม 5 อันดับแรกที่มาเยือนสเปน (สถิติปี 2557) ได้แก่ อัลจีเรีย ตุรกี โมร็อกโก อียิปต์ และอินโดนีเซีย

ที่มาของภาพ

  • https://www.eleconomista.es/mercados-cotizaciones/noticias/9317333/08/18/La-mayor-esperanza-de-vida-impulsara-a-la-cosmetica-a-beneficio-record-en-2018.html
  • http://www.guiahalal.es/sofeskal-sl-fid-751
  • https://www.stanpa.com/Catalogo-exportadores-2018/mobile/index.html#p=147

2 มกราคม 2562