ทำความรู้จักตลาดข้าวในสเปน และโอกาสของข้าวไทย โดยเฉพาะข้าวไรซ์เบอร์รี่

ทำความรู้จักตลาดข้าวในสเปน และโอกาสของข้าวไทย โดยเฉพาะข้าวไรซ์เบอร์รี่

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 มิ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,655 view

แม้สเปนจะเป็นประเทศที่ปลูกข้าวมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของสหภาพยุโรป (อียู) และเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญประเทศหนึ่ง ซึ่งข้าวที่ปลูกและส่งออกร้อยละ 59 คือข้าวสายพันธุ์ Indica แต่ก็เป็นประเทศที่นำเข้าข้าวมาจากต่างประเทศเข้ามาเช่นกัน ปริมาณเฉลี่ยการนำเข้าข้าวในรอบ 5 ฤดูกาลเพาะปลูก (2554/2555 – 2558/2559) อยู่ที่ 81,432 ตัน โดยนำเข้าข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวจากไทย ข้าวบาสมาติจากอินเดีย ข้าวเหนียวเขียวจากเวียดนาม ข้าวญี่ปุ่นสำหรับทำซูชิจากญี่ปุ่น และข้าวหอมมะลิจากกัมพูชา เป็นต้น

สเปนนำเข้าข้าวจากต่างประเทศทั้งข้าวที่ใช้เพื่อการบริโภคและใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น อาทิ ใช้เป็นอาหารสัตว์และผลิตพลังงานชีวภาพ ทั้งนี้ ในส่วนของไทย เมื่อปี 2560 สเปนนำเข้าข้าวจากไทยมากที่สุด และสูงกว่าคู่แข่งอื่น ๆ รวมปริมาณ 36,328.07 ตัน หรือมีสัดส่วนร้อยละ 33.32 จากการนำเข้าข้าวทั้งหมดของสเปน (109,033.86 ตัน) โดยเป็นข้าวที่ใช้เพื่อการบริโภคและเป็นอาหารสัตว์ แบ่งเป็นข้าวเปลือก (0.30 ตัน) ข้าวกล้อง (2,981.69 ตัน) ข้าวขัดสี (29,038.14 ตัน) และข้าวหัก (4,307.92 ตัน) ส่วนใหญ่ขนส่งไปยังสเปนทางทะเลเข้าสู่ท่าเรือบาเลนเซีย ท่าเรือบาร์เซโลนา ท่าเรือเมลีญา (เมืองสเปนที่ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกา) และท่าเรือซานตา ครูซ เด เตเนริเฟ (เมืองเอกของหมู่เกาะแคนารี) นอกจากนี้ เมื่อปี 2560 สเปนยังได้นำเข้าอาหารและเครื่องดื่มจากไทยรวมมูลค่า 93.77 ล้านยูโร อาทิ ข้าว อีกด้วย  

คนสเปนคุ้นเคยกับการบริโภคข้าว โดยอาหารหลักที่เป็นที่นิยมคือปาเอญ่า (Paella) หรือข้าวผัดสเปน และข้าวไข่ดาวราดซอสมะเขือเทศ (Arroz a la cubana) ทั้งนี้ กระแสนิยมการบริโภคข้าวในครัวเรือนสเปนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1-2 โดยในปี 2559 การบริโภคข้าวในครัวเรือนอยู่ที่ 171,787 ตัน ปริมาณการบริโภคต่อคนอยู่ที่ 3.91 กิโลกรัม/ปี และรายจ่ายค่าข้าวต่อหัวอยู่ที่ 6.02 ยูโร/ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละร้อยละ 2-3 และเมื่อประกอบกับกระแสรักสุขภาพที่กำลังมาแรง จากสถิติซึ่งชาวสเปนร้อยละ 1 เป็นโรคเซลิแอค (Celiac) และร้อยละ 6 มีอาการแพ้กลูเตน ส่งผลให้ข้าวไทย โดยเฉพาะข้าวไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและผลิตภัณฑ์จากข้าวเป็นอีกทางเลือกของอาหารสำหรับชาวสเปน

ปัจจุบัน ได้มีการจำหน่ายข้าวไรซ์เบอร์รี่ในสเปนแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ด้วยเล็งเห็นถึงโอกาสในการเติบโตของตลาดข้าวไรซ์เบอร์รี่ในสเปน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เดินทางเยือนสเปนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 เพื่อศึกษาลู่ทางการขยายตลาดการค้าสินค้าไทยในสเปน โดยเฉพาะข้าวไรซ์เบอร์รี่ และในเวลาต่อมา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้ต่อยอดการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว โดยการนำคณะผู้แทนจากหน่วยงานสเปนจากกระทรวงเกษตร กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารและโภชนาการ (ICTAN-CSIC) เดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศไทย ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารระหว่างไทยกับสเปนเมื่อเดือนกันยายน 2561 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคณะผู้แทนจากสเปนเกี่ยวกับมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรของไทย โดยเฉพาะข้าวไรซ์เบอร์รี่ และเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมอาหาร ซึ่งจะปูทางไปสู่ความร่วมมือในสาขาดังกล่าว ระหว่างไทยกับสเปนในอนาคต โดยไม่เพียงแต่ในแง่การค้าขาย เพื่อเปิดตลาดสินค้าข้าวไรซ์เบอร์รี่ของไทยในสเปนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัย อาทิ การศึกษาค้นคว้าวิจัยคุณสมบัติด้านโภชนาการและการรักษาโรคของข้าวไรซ์เบอร์รี่ จากกระบวนการงอกของข้าว (Germination process) เป็นต้น ซึ่งจะช่วยผลักดันให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในกลุ่มผู้บริโภคสเปนมากขึ้น นอกจากนี้ เพื่อให้ข้าวไทยเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้จัดการสาธิตการประกอบอาหารไทย โดยมีข้าวเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น การสาธิตอาหารไทยในงาน Bazar Kermes Diplomatico 2018 กรุงมาดริด  การสาธิตอาหารไทยในงาน Expo Halal Alimentaria  2018 นครบาร์เซโลนา  โครงการเผยแพร่อาหารไทยที่หมู่เกาะ บาเลอาริกของสเปน  โดยการสาธิตการทำอาหารไทยที่สถาบันการโรงแรมแห่งหมู่เกาะบาเลอาริก (Escola d’Hoteleria de les Illes Balears-EHIP) และการสาธิตการทำอาหารไทยในรายการ Cinc Dies ของสถานีโทรทัศน์ช่อง IB 3 แห่งหมู่เกาะบาเลอาริก เป็นต้น

นอกจากนี้ ด้วยทำเลที่ตั้งของสเปน จึงเป็นประตูการค้าสู่ยุโรปใต้ แอฟริกา และลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการบริโภคข้าวด้วยเช่นกัน ผู้ประกอบการที่สนใจขยายตลาดสินค้าอาหารและเกษตรของไทยในสเปน โดยเฉพาะสินค้าข้าว อาจพิจารณาเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารและเกษตรที่สำคัญ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ได้ทำความรู้จักกับตลาดสเปน รวมถึงคู่ค้าในตลาดแห่งนี้ให้มากขึ้น อาทิ งาน Fruit Attraction ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่กรุงมาดริด (http://fruitattraction.com/en/home/) และงาน Alimentaria ซึ่งจัดขึ้นทุก 2 ปีที่นครบาร์เซโลนา (ครั้งต่อไปมีกำหนดจัดในปี 2563) (http://www.alimentaria-bcn.com/en/home) ผู้ประกอบการที่สนใจออกคูหาภายใต้คูหาประเทศไทยในงาน Alimentaria สามารถขอรับรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (http://www.ditp.go.th/) หรือที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด ได้ที่อีเมล์ [email protected]

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจยังสามารถเปิดตลาดสินค้าข้าวไทยผ่านผู้นำเข้าข้าวไทยในสเปน อาทิ 1) บริษัท Herba Ricemills ซึ่งมีบริษัท Herba Bangkok จัดตั้งในไทย (http://www.ebrofoods.es/en/) 2) บริษัท Iberochina (https://www.orientalmarket.es/shop/) 3) บริษัท S. Colomer Casas (http://www.scolomercasas.es)/ และ 4) บริษัท La Perla (http://www.laperlavalles.cat/) เป็นต้น  

โอกาสในการขยายตลาดข้าวไทยในสเปนมาถึงแล้ว!!

 

ที่มาของภาพ https://www.idskinexpert.com/

10 ธันวาคม 2561