อุตสาหกรรมฮาลาลในสเปน

อุตสาหกรรมฮาลาลในสเปน

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 มิ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,131 view

อุตสาหกรรมฮาลาลเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ เนื่องจากมีตลาดที่เป็นกลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิมกว่า 1,800 ล้านคนทั่วโลก กอปรกับกำลังซื้อของผู้บริโภคจากกลุ่มประเทศมุสลิม โดยเฉพาะแถบตะวันออกกลางที่มีอยู่สูง ทำให้ผู้ประกอบการสเปนเริ่มให้กับความสนใจกับอุตสาหกรรมฮาลาล ทั้งสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเกษตรแปรรูป อาทิ ธุรกิจท่องเที่ยว สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง

  1. สถานการณ์อุตสาหกรรมฮาลาลสเปน อุตสาหกรรมฮาลาลสเปนเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี 2558 อุตสาหกรรมดังกล่าวสร้างรายได้ให้แก่สเปนมากกว่า 1,000 ล้านยูโร สเปนมีบริษัทที่ได้รับมาตรฐานฮาลาลจำนวน 300 แห่งจากสถาบันฮาลาลสเปนที่ตั้งอยู่ที่จังหวัด Córdoba แคว้นอันดาลูเซีย (http://www.institutohalal.com) โดยร้อยละ 95 ของบริษัทที่ได้รับการรับรองเป็นธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนใหญ่เป็นกิจการโรงฆ่าสัตว์และบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ (ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.guiahalal.es/) ส่วนธุรกิจการท่องเที่ยวฮาลาลของสเปนนั้น ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ปัจจุบัน มีโรงแรม Alanda Hotel Marbella ที่เมือง Marbella เพียงแห่งเดียวที่ได้มาตรฐานฮาลาล
  1. ลักษณะสินค้าฮาลาลของสเปน สินค้าฮาลาลที่สเปนส่งออกไปยังต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นสินค้าราคาแพง/คุณภาพสูง และเป็นสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม เช่น เนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้อแกะ และเนื้อแพะ นอกจากนี้ บริษัทสเปนได้มีการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของชาวมุสลิม อาทิ การผลิตฆามอน (แฮม) จากเนื้อวัวสายพันธุ์วากิวจากญี่ปุ่น (Wagyu Ibérico) แทนการใช้เนื้อหมู ฆามอนเนื้อแกะ ไส้กรอกเนื้อวัวพันธุ์วากิว ลูกอมปลอดเจลาตินหมู ขนมสเปนที่ไม่มีส่วนผสมจากไขมันสัตว์ และน้ำผลไม้ไม่มีแอลกอฮอล์
  1. ตลาดสินค้าฮาลาลภายในประเทศ สินค้าฮาลาลของสเปนไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศมากนั้น แม้ว่าสเปนจะมีชาวมุสลิมเกือบ 2 ล้านคน เนื่องจากบริษัทสเปนที่ได้รับมาตรฐานฮาลาลเน้นผลิตเพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศ กอปรกับสินค้าส่วนใหญ่มีราคาสูงที่มุสลิมในประเทศอาจไม่มีกำลังซื้อ ผู้ประกอบการสเปนจึงหันไปให้ความสนใจตลาดต่างประเทศมากกว่า ส่วนสินค้าฮาลาลที่พบในสเปนมักจะเป็นสินค้าที่นำเข้าจากประเทศมุสลิม อาทิ โมร็อกโก ตุรกี ซึ่งมีจำหน่ายในย่านชุมชนมุสลิม อาทิ ร้าน Carrefood ซึ่งตั้งอยู่ละแวกมัสยิดกลาง ณ กรุงมาดริด
  2. สถิติยอดขายสินค้าฮาลาลสเปน จากข้อมูลจากสถาบันฮาลาลสเปน สินค้าฮาลาลของบริษัทที่ได้รับมาตรฐานฮาลาล ระหว่างปี 2555-2557 มีดังนี้
  • ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ได้แก่ เนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อไก่งวง และเนื้อแกะ เป็นสินค้าที่มียอดจำหน่ายสูงสุด หรือร้อยละ 90 ของสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม
  • ยอดขายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลขยายตัวร้อยละ 40 จาก 1.03 แสนตันในปี 2555 เป็น 1.45 แสนตันในปี 2557 เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มลูกค้าชาวมุสลิม อาทิ เนื้อไก่หรือเนื้อวัว ซึ่งมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 32 และ 45 ตามลำดับ ส่วนสินค้าชนิดอื่น ๆ ก็มีความต้องการเพิ่มขึ้นเช่นกัน อาทิ เนื้อแพะซึ่งมียอดขายเพิ่มขึ้นจาก 200 ตันในปี 2555 เป็น 1,743 ตันในปี 2557 น้ำองุ่นไม่มีแอลกอฮอล์มียอดขายเพิ่มขึ้นจาก 600 กิโลกรัมในปี 2555 เป็น 2 พันตันในปี 2557
  1. สถิติการส่งออกสินค้าฮาลาลสเปน การส่งออกสินค้าฮาลาลระหว่างปี 2555-2557 มีการขยายตัว ดังนี้
  • การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 82 จาก 11,120 ตันในปี 2555 เป็น 20,500 ตันในปี 2557
  • สินค้าส่งออกหลัก คือเนื้อวัว ซึ่งขยายตัวร้อยละ 90 จาก 2,931 ตันในปี 2555 เป็น 5,500 ตันในปี 2557 ส่วนสินค้าชนิดอื่นที่มียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นเช่นกัน ได้แก่ เนื้อไก่ เนื้อแกะ และเนื้อแพะ
  1. ตลาดหลักสินค้าฮาลาลของสเปน ตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 31 ประเทศในปี 2555 เป็น 53 ประเทศในปี 2557 ส่วนใหญ่อยู่ในแถบแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง โดยแอลจีเรีย (ร้อยละ 52 ของตลาดการส่งออกสินค้าฮาลาลสเปนทั้งหมด) และโมร็อกโก (ร้อยละ 10) เป็นตลาดสินค้าฮาลาลหลักของสเปน ในทวีปยุโรป มีฝรั่งเศส (ร้อยละ 8.5) และสหราชอาณาจักร (ร้อยละ 4) นอกจากนี้ สเปนยังส่งสินค้าฮาลาลไปยังประเทศอื่น ๆ อาทิ คูเวต และซาอุดีอาระเบีย

การส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังประเทศดังกล่าวขยายตัวอย่างรวดเร็ว การส่งออกไปแอลจีเรียเพิ่มขึ้นร้อยละ 32 ในปี 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555 ส่วนโมร็อกโกเพิ่มการนำเข้าสินค้า     ฮาลาลจาก 724 ตันในปี 2555 เป็น 2,400 ตันในปี 2557 คูเวตเพิ่มการนำเข้าสินค้าจาก 25 ตันในปี 2555 เป็น 976 ตันในปี 2557 และซาอุดีอาระเบียนำเข้าจาก 46 ตันในปี 2555 เป็น 1,496 ตันในปี 2557

  1. การส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลสเปน แม้ว่าอุตสาหกรรมฮาลาลของสเปนจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ธุรกิจดังกล่าวยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ที่ผ่านมา ภาครัฐและเอกชนสเปนได้ดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมธุรกิจฮาลาลของสเปนในหลายรูปแบบ อาทิ
  • งานส่งเสริมการขายอุตสาหกรรมฮาลาลสเปน Expo Halal Spain 2015: MediterraneanFood, Tourism & Lifestyle Exhibition จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2558 และครั้งที่ 2 (Expo Halal Spain 2016) ระหว่างวันที่ 10-11 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าด้านอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งเดียวของสเปน และเป็นจุดนัดพบของนักธุรกิจและผู้ประกอบการจากหลายประเทศ โดยมีการนำเสนอ 4 สาขาหลัก ได้แก่ อาหาร การบริการ การท่องเที่ยว และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมฮาลาล ผู้จัดงาน Expo Halal Spain 2016 แจ้งผลการจัดงานครั้งนี้ว่าประสบความสำเร็จและมีกระแสตอบรับที่ดี มีผู้ออกคูหาสินค้ามากกว่า 100 ราย ส่วนใหญ่มาจากยุโรป (ร้อยละ 80) รองลงมาคือ ตะวันออกกลาง (ร้อยละ 8) เอเชีย  (ร้อยละ 6) แอฟริกาเหนือ (ร้อยละ 3) อเมริกาเหนือ (ร้อยละ 1) และอื่น ๆ (ร้อยละ 2) และมีนักธุรกิจ/ผู้ประกอบการเข้าร่วมงานมากกว่า 2,000 คน อิหร่านได้รับเชิญเป็นแขกกิตติมศักดิ์ นอกจากการแสดงสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาล ยังมีผู้ประกอบการด้านการเงิน ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เข้าร่วมงาน รวมทั้งการเปิดตัวแฟชั่นโชว์เสื้อผ้าชาวมุสลิมอีกด้วย งาน Expo Halal Spain 2017 ระหว่างวันที่ 25-26 ตุลาคม 2560 ที่ศูนย์ประชุม Feria de Madrid กรุงมาดริด อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://expohalal.com/
  • หน่วยงานส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนสเปน (ICEX) จัดสัมมนาเรื่อง “เครื่องหมายรับรองฮาลาล: ประตูสู่ตลาดกลุ่มบริโภคมุสลิม” (ICEX Dinamiza. La certificación Halal: tu pasaporte a los mercados de mayoría musulmana) เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2559 ที่กรุงมาดริด เพื่อนำเสนอโอกาสทางธุรกิจและให้ข้อมูลเรื่องการขอมาตรฐานฮาลาล โดยก่อนหน้านี้ ICEX เคยจัดงานสัมนนาในลักษณะนี้ในต่างจังหวัดด้วย อาทิ จังหวัด Cáceres และ Vigo
  • หอการค้าและอุตสาหกรรมเมดิเตอร์เรเนียน (ASCAME) ร่วมกับสถาบันฮาลาล สเปนจัดงานสัมมนา I Fórum Mediterráneo Halal (1st Mediterranean Halal Forum) ในงาน Meda Week 2016: Mediterranean Week for Economic Leaders เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2559 ที่นครบาร์เซโลนา เพื่อนำเสนอข้อมูล กฎระเบียบต่าง ๆ เรื่องมาตรฐานฮาลาล โอกาสอุตสาหกรรมฮาลาลในแถบเมดิเตอร์เรเนียน และตัวอย่างความสำเร็จของธุรกิจอาหารฮาลาล
  • เทศบาลเมืองกอร์โดบาร่วมกับสถาบันฮาลาลสเปนมีแผนจัดตั้งคลัสเตอร์ฮาลาล (Clúster halal de Córdoba) แห่งที่สามของโลก (สองแห่งแรกตั้งอยู่ที่ประเทศเบลเยียมและมาเลเซีย) โดยคาดว่าจะสามารถดึงดูดบริษัทเอกชนจำนวน 1,330 รายมาที่คลัสเตอร์นี้ และสร้างงานกว่า 12,400 ตำแหน่ง ขณะนี้ อยู่ระหว่างการขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาลสเปน คาดว่า จะเริ่มจัดตั้งได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2560
  1. โอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย
  • ตลาดในประเทศสเปน ปัจจุบัน ตลาดสินค้าฮาลาลสเปนยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการสเปนเน้นการผลิตสินค้าฮาลาลเพื่อการส่งออก และสินค้าฮาลาลส่วนใหญ่ที่พบในสเปนเป็นสินค้านำเข้าจากบรรดาประเทศมุสลิม อย่างไรก็ตามมีประชากรมุสลิมในสเปนเกือบ 2 ล้านคน ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาหาลู่ทางในการส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลเพื่อเจาะตลาดมุสลิมในสเปน โดยเฉพาะในแคว้นที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่จำนวนมาก ได้แก่ แคว้นคาตาโลเนีย (510,481) แคว้นอันดาลูเซีย (300,460) แคว้นมาดริด (278,976) และแคว้นบาเลนเซีย (200,572)
  • ตลาดนอกประเทศสเปน สเปนมีที่ตั้งที่เหมาะสมในการกระจายสินค้าไปยังทวีปแอฟริกาเหนือ กอปรกับมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับกลุ่มประเทศแถบแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง (MENA region countries) ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาหาหุ้นส่วนในสเปนเพื่อ re-export สินค้าไปยังแถบแอฟริกาเหนือ อาทิ แอลจีเรีย และโมร็อกโก
  • การลงทุน ผู้ประกอบการไทยอาจใช้คลัสเตอร์ฮาลาลซึ่งจะมีการจัดตั้งที่เมืองกอร์โดบาเป็นฐานผลิตและกระจายสินค้าฮาลาลทั้งในสเปนหรือส่งออกไปยังทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลาง ขณะนี้ มีหน่วยงานบางแห่ง เช่น หน่วยงานการค้าและอุตสาหกรรมแอลจีเรีย-สเปน (El Círculo de Comercio e Industria Argelino-Español - CCIAE) ได้เริ่มเข้ามาติดต่อกับฝ่ายสเปนเพื่อศึกษาแนวทางความร่วมมือ

ในโครงการนี้แล้ว

  1. ข้อมูลเพิ่มเติม นอกจากงานส่งเสริมการขายอุตสาหกรรมฮาลาลที่สเปนแล้ว (Expo Halal Spain 2017) ยังมีการจัดงานในประเทศอื่น ๆ ในปี 2560 ซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาเข้าร่วมได้เช่นกัน อาทิ
  • Halal Expo 2017 Australia ณ ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ (ผู้เข้าร่วมงาน 20,000 คน ผู้แสดงคูหา 150 ราย และผู้ประกอบการจาก 150 บริษัท)
  • 3rd Halal Expo Europe ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 30 เมษายน-1พฤษภาคม (คาดว่าจะมีผู้ออกคูหาสินค้ามากกว่า 100 ราย และผู้เข้าร่วมงานจาก 20 ประเทศ)
  • 9th Halal Expo 2017 - Dubai ณ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 18-19 กันยายน (สถิติการจัดงาน นักธุรกิจ 3,700 ราย ผู้แสดงสินค้า 53 ราย จาก 13 ประเทศ และผู้เข้าร่วมงานจาก 40 ประเทศ)
  • Moscow International Halal Exhibition 2017 ณ ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน (สถิติปี 2559 มีบริษัทจากรัสเซียและต่างประเทศจำนวน 200 บริษัท รวมทั้งผู้แทนจาก 40 ประเทศเข้าร่วมงาน)
  • Halal Expo Japan 2017 ระหว่างวันที่ 15-16 พฤษภาคม ณ เมืองโอซากา และระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน ณ กรุงโตเกียว (สถิติปี 2559 มีผู้เข้าร่วมงาน 6,698 ราย 116 คูหาสินค้าจาก 6 ประเทศ และผู้เข้าร่วมสัมมนา 747 ราย)

 

ที่มาของภาพ http://www.institutohalal.com/

13 กุมภาพันธ์ 2560