บริษัท Indra กับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

บริษัท Indra กับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 พ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 พ.ย. 2562

| 2,779 view
องค์การสหประชาชาติระบุว่าในปี ค.ศ. 2050 ประชากรส่วนใหญ่ของโลกถึงร้อยละ 70 จะอาศัยอยู่ในเขตเมือง ซึ่งคาดกันว่าจะใช้พลังงานโลกร้อยละ 75 สร้างขยะร้อยละ 50 และผลิตก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 60-80 ทำให้หลาย ๆ เมืองต้องหามาตรการรับมือความท้าทายเหล่านี้ในอนาคต แนวคิดเรื่องเมืองอัจฉริยะ (Smart cities)จึงเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจะต้องบริหารจัดการเทคโนโลยี ความยั่งยืนและนวัตกรรมอย่างผสมผสานและมีประสิทธิภาพเพื่อพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ รวมถึงพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล
 
ในวันนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริดจะมาแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักบริษัทหนึ่งของสเปนที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาด้านเมืองอัจฉริยะในระดับโลก และที่สำคัญคือบริษัทนี้ได้เข้ามาจัดตั้งสำนักงานที่ไทยแล้ว 

บริษัท Indra ให้บริการทางเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก เชี่ยวชาญในหลายสาขาทั้งการป้องกันประเทศและความปลอดภัย การขนส่งและการจราจร พลังงานและอุตสาหกรรม โทรคมนาคมและการสื่อสาร บริการด้านการเงิน การจัดการภาครัฐและสาธารณสุข และเป็นหนึ่งบริษัทชั้นนำของโลกที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความยั่งยืน ดังจะเห็นได้จากการที่ Indra เป็นบริษัทหมวดซอฟต์แวร์และบริการแห่งเดียวในโลกที่ได้รับรางวัลดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) World มาแล้ว 14 ปีติดต่อกันจนถึงปัจจุบัน 

ภายใต้การบริหารงานของ Indra มีบริษัทลูกชื่อ Minsait ซึ่งดำเนินธุรกิจเรื่อง Digital Transformation ให้องค์กรและบริษัทต่าง ๆ เป็นบริษัทที่ให้บริการด้านการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะอย่างบูรณาการตั้งแต่การบริการประชาชน การขนส่งและสัญจร โครงสร้างพื้นฐานและพลังงานทดแทน ความมั่นคงและเหตุฉุกเฉิน การติดตั้งแพลตฟอร์มเพื่อรวบรวมและจัดการข้อมูลสำหรับเมือง

ในบทความนี้เราจะมาเจาะลึกเทคโนโลยีการพัฒนาเมืองด้านการขนส่งอย่างยั่งยืนและการบริหารจัดการเมืองของบริษัท Minsait ของ Indra

การขนส่งอย่างยั่งยืน Indra โดย Minsait ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่เมืองเมเดยิน ประเทศโคลอมเบีย จนทำให้เมืองแห่งนี้มีชื่อเสียงลือนามเรื่องการสัญจรที่ยั่งยืนและเป็นตัวอย่างการพัฒนาให้แก่เมืองอื่น และได้รับรางวัล MobiPrize 2015 และรางวัล International Sustainable Transport Award 2012 มาครอง Minsait ได้เข้าไปติดตั้งแพลตฟอร์มเทคโนโลยีด้านการขนส่งและการสัญจรแบบบูรณาการในเมืองแห่งนี้โดยเชื่อมโยงระบบรถไฟใต้ดิน รถกระเช้าไฟฟ้าประจำทาง (Metrocable) ระบบขนส่งรถโดยสารประจำทางต่างเมือง (Metroplús) และรถรางเข้าไว้ด้วยกันภายใต้แพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Hermes ซึ่งทำหน้าที่ติดตาม ควบคุมการจราจรในเวลาจริง เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการสัญจร ส่งผลให้การจราจรในเมืองเมเดยินคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ลดอุบัติเหตุได้ร้อยละ 18 และทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าจัดการเหตุฉุกเฉินได้ภายใน 17 นาทีเท่านั้น (จากเดิมต้องใช้เวลาถึง 35 นาที)

นอกจากเมืองเมเดยินแล้ว บริษัท Minsait ยังมีบทบาทในการติดตั้งระบบการจัดการขนส่งและจราจรในเมืองต่าง ๆ มากกว่าร้อยเมืองทั่วโลก อาทิ มาดริด ลอนดอน เม็กซิโกซิตี้ ซันติอาโก ริยาด ไคโร กัวลาลัมเปอร์ นิวเดลี เป็นต้น

ในด้านการบริหารจัดการเมือง Onesait Government Cities เป็นโซลูชั่นการบริหารจัดการเมืองที่ทันสมัยที่สุดในตลาดเทคโนโลยีปัจจุบัน เปรียบเสมือนสมองบูรณาการใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) Big Data และปัญญาประดิษฐ์ในการ 1) ประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลการให้บริการต่าง ๆ เพื่อเสนอข้อมูลประกอบการตัดสินใจและเข้าจัดการสถานการณ์ที่ตรวจพบในเวลาจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพและ 2) คาดการณ์และจำลองสถานการณ์ ซึ่งจะช่วยเจ้าหน้าปรับนโยบายและจัดการทรัพยากรให้ได้อย่างเหมาะสมต่อไป  

การใช้ Onesait Government Cities มีประโยชน์ต่อการบริหารจัดการเมืองหลายประการ อาทิ

  • การบริการประชาชน ทำให้เทศบาลเมืองมีข้อมูลรอบด้านเกี่ยวกับประชากร สามารถคาดการณ์ความต้องการ ความสนใจของประชาชนและตอบรับคำร้องขอเหล่านั้นได้ในเวลาจริง เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการได้ร้อยละ 25
  • เพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริการในเมืองทั้งด้านพลังงาน การเก็บขยะและความปลอดภัย โซลูชั่นชุดนี้ช่วยลดปริมาณน้ำรดน้ำต้นไม้ได้มากกว่าร้อยละ 35 เนื่องจากมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานพยากรณ์อากาศและหน่วยงานสิ่งแวดล้อม ลดค่าใช้จ่ายพลังงานทั้งไฟทางและอาคารของรัฐร้อยละ 45 ลดเวลาหาสถานที่จอดรถได้เกือบครึ่งหนึ่งจากการใช้แอปพลิเคชั่นที่เชื่อมต่อกับโซลูชั่นดังกล่าว ลดค่าจัดเก็บขยะได้อย่างน้อยร้อยละ 11 เนื่องจากมีเซนเซอร์ควบคุมดูแลเมื่อขยะเต็มถัง เป็นต้น
  • ส่งเสริมและจัดการบริการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเพิ่มรายได้ร้อยละ 5 และเพิ่มยอดนักท่องเที่ยวได้ร้อยละ 3 โซลูชั่นนี้จะคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวซึ่งจะช่วยให้สามารถจัดบริการได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น (เช่น การบริการสาธารณะ ร้านค้า) สร้างข้อเสนอทางการท่องเที่ยวเฉพาะบุคคล ประเมินพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เนตและค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเพื่อปรับข้อเสนอบริการให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถขอรับข้อมูลกิจกรรมสันทนาการหรือร้านอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือตามค่าที่ตั้งไว้ ซึ่งข้อมูลที่จะได้รับประมวลมาจากข้อมูลจากประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวคนอื่น ๆ และการค้นหาข้อมูลของตัวนักท่องเที่ยวเอง เป็นต้น

อนึ่ง บริษัท Minsait เจ้าของโซลูชั่น Onesait Government Cities ยังมีผลงานเรื่องการจัดการบริหารเมืองอัจฉริยะกว่า 120 โครงการทั่วโลก โดยในสเปนบริษัทได้ร่วมมือกับ Red.es (องค์กรรัฐวิสาหกิจที่ดูแลเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเศรษฐกิจสเปน) และเทศบาลเมืองหลายแห่ง เช่น Logroño, Las Palmas de Gran Canaria, Cáceres, Palencia และ Lugo ในการจัดทำโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและพัฒนาการให้บริการของเมืองผ่านการจัดการแบบบูรณาการ นอกจากนี้ ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ติดตั้งแพลตฟอร์มการจัดการเมืองอัจฉริยะที่เมืองแอนต์เวิร์ป (เบลเยียม) และกรุงเฮลซิงกิ (ฟินแลนด์) จากโครงการ Select for Cities ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Horizon 2020 ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรป

ล่าสุด เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2562 Indra เพิ่งชนะประมูลโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มการจัดการข้อมูลสำหรับเมืองของนครคาซาบลังกา ประเทศโมร็อกโก โดยลงนามทำสัญญาร่วมกับบริษัทท้องถิ่นชื่อ Casablanca Prestations ที่ในเบื้องต้นจะเชื่อมต่อโซลูชั่น Onesait Government Cities บูรณาการข้อมูลการบริการทำความสะอาดเมือง (เช่น ระยะเวลาจัดเก็บขยะ การค้นหาถังขยะและจำนวน) ระบบการจัดการโรงฆ่าสัตว์ (จัดการห่วงโซ่การผลิต) ตลาดผู้ค้าส่งผักและผลไม้ (จำนวนสินค้า ราคาและ suppliers) เป็นต้น

ความต้องการที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องของบริษัทและความมั่นใจในเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าซึ่งจะตอบโจทย์ประเทศกำลังพัฒนาหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Indra จึงไม่รีรอที่จะเข้าไปบุกตลาดอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีว่า Indra ก็เห็นศักยภาพของไทย และตัดสินใจเลือกไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงานแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น การที่ไทยมีความสนใจจะพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การเลือกใช้เทคโนโลยีจากสเปนอย่าง Indra จึงน่าจะเรียกได้ว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจและไม่ไกลเกินเอื้อม

สามารถติดตามสาระดี ๆ ข้อมูลเจาะลึกเกี่ยวกับสเปนและโอกาสทางธุรกิจได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน ในสังกัดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริดได้ที่ http://www.thaiembassy.org/bic.madrid/

 
21 พฤศจิกายน 2562