เกาะกระแสรถยนต์ไฟฟ้าในสเปน

เกาะกระแสรถยนต์ไฟฟ้าในสเปน

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ธ.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,305 view
ข่าวการนั่งรถยนต์ไฟฟ้าของเกรตา ทุนเบิร์ก นักเคลื่อนไหวเรื่องวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่กรุงมาดริด ประเทศสเปนเพื่อเข้าร่วมงานประชุมภาคีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 25 หรือ COP 25 นับเป็นเรื่องฮือฮาที่ทั่วโลกจับตามองและจุดประกายความสนใจเรื่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าขึ้นมา และใครที่ได้มาร่วมงาน COP 25 ก็จะพบว่าบริษัท Iberdrola ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญของสเปนและเป็นผู้สนับสนุนการจัดงานดังกล่าวได้ติดตั้งจุดชาร์จไฟรถยนต์ไฟฟ้า 34 จุดภายในสถานที่จอดรถของศูนย์ประชุมและจัดนิทรรศการ IFEMA กรุงมาดริด ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน COP 25 
วันนี้ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สังกัดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริดจะพาพาผู้อ่านไปรู้จักสถานการณ์รถยนต์ไฟฟ้าในสเปน นโยบายของภาครัฐบาลและภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศสเปน 
 
 

ความนิยมเรื่องการใช้รถไฟฟ้าในสเปนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันในสเปนมีรถไฟฟ้ารวม 63,000 คัน โดยการจดทะเบียนรถไฟฟ้าในปี ค.ศ. 2019 ที่เป็นรถสำหรับบริษัทเพิ่มขึ้นร้อยละ 94.5 รถส่วนบุคคลเพิมขึ้นร้อยละ 140 และรถสำหรับเช่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 352.3 โดยรถยนต์ไฟฟ้าที่จัดจำหน่ายในสเปนมีหลายแบรนด์ ได้แก่ Renault, Tesla, Audi, Jaguar, Hyundai, Nissan, BMW, Kia, Volkswagen, Mitsubishi, Smart และ Citroën แต่หากพูดถึงภาพรวมของประเทศเรื่องรถไฟฟ้า สเปนยังเป็นรองประเทศอื่น ๆ ในยุโรปอย่างนอร์เวย์ สวีเดน ฮอลแลนด์ เยอรมนี ในด้านราคา ระยะทางที่แล่นได้จำกัดและเครือข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ยังมีไม่มาก จึงทำให้รถไฟฟ้าครองส่วนแบ่งตลาดในสเปนเพียงแค่ร้อยละ 0.41 เท่านั้น (ในปี ค.ศ. 2018 มีการซื้อรถไฟฟ้าในสเปน 4,746 คัน)

ตามร่างกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Ley de Cambio Climático y Transición Energética - LCCTE)[1] รัฐบาลสเปนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและมุ่งมั่นว่าภายในปี ค.ศ. 2050 เศรษฐกิจสเปนต้องเป็นแบบ Decarbonization และได้กำหนดเส้นตายสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยสันดาปภายในในปีดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้น รัฐบาลสเปนจึงได้มีนโยบายส่งเสริมให้ใช้รถไฟฟ้ามากยิ่งขึ้นและต้องการให้มีการจัดจำหน่ายและจดทะเบียนเฉพาะรถปลอดมลพิษ (Zero Emission) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2040 เป็นต้นไป โดยรัฐบาลสเปนและภาคเอกชนได้ออกมาผลักดันเรื่องการใช้รถไฟฟ้าในหลายรูปแบบ อาทิ

1. แผนความช่วยเหลือในการซื้อรถไฟฟ้า ในระดับประเทศรัฐบาลสเปนได้อนุมัติแผน Plan Moves เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2019 ภายใต้งบประมาณ 45 ล้านยูโร เพื่อส่งเสริมการซื้อรถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่แคว้นมาดริดก็มีแผน Plan MUS II (MUS มาจากคำว่า Movilidad Urbana Sostenible หรือการสัญจรอย่างยั่งยืนในตัวเมือง) เพื่อส่งเสริมการซื้อรถไฟฟ้า นอกจากนี้ บางแคว้นในสเปนก็มีมีนโยบายลดหย่อนภาษีจากการซื้อรถไฟฟ้าอีกด้วย เช่น แคว้นนาบาร์รา หรือแคว้นกาสตียา อี เลออน เป็นต้น

2. จุดชาร์จรถไฟฟ้า รัฐบาลสเปนส่งเสริมการจัดทำเว็บไซต์เพื่อบริการประชาชนในการค้นหาจุดบริการชาร์จรถไฟฟ้าภายใต้ร่างกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยขอให้ปั๊มน้ำมันรถที่มีจุดชาร์จรถไฟฟ้าแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับทำเลที่ตั้ง การให้บริการ ราคาค่าชาร์จไฟฟ้าแก่กระทรวงการเปลี่ยนผ่านสิ่งแวดล้อมสเปน นอกจากนี้ กระทรวงการเปลี่ยนผ่านสิ่งแวดล้อมสเปนกำลังเตรียมมาตรการในการสร้างเครือข่ายจุดชาร์จรถไฟฟ้าทั่วสเปน โดยขอให้ปั๊มน้ำมันขนาดใหญ่หรือปั๊มที่สร้างใหม่จำเป็นต้องติดตั้งจุดชาร์จรถไฟฟ้าด้วย ซึ่งปัจจุบันในสเปนมีปั๊มน้ำมันกว่า 11,600 แห่งทั่วประเทศ

ปัจจุบันสเปนมีจำนวนจุดชาร์จไฟฟ้าสาธารณะแล้ว 4,545 แห่ง โดยร้อยละ 32 ยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงมาดริด นครบาร์เซโลนาและเมืองบาเลนเซีย ซึ่งถือว่ามีจำนวนน้อยและยังต้องผลักดันอีกมากหากรัฐบาลต้องการให้มีรถไฟฟ้าแล่นบนท้องถนน 5 ล้านคันภายในปี ค.ศ. 2030  (รถยนต์ รถตู้ รถบัสและรถจักรยานยนต์) ทั้งนี้ ตามร่างแผนบูรณาการพลังงานและภูมิอากาศแห่งชาติปี ค.ศ. 2021-2030 (Plan Nacional Integrado de Energía y Clima 2021-2030 - PNIEC) [2] ที่รัฐบาลสเปนตั้งเป้าไว้ ควรจะต้องมีจุดชาร์จรถไฟฟ้า 65,000-95,000 แห่งเพื่อให้เพียงพอกับจำนวนรถไฟฟ้าดังกล่าว

ภาคเอกชนก็ได้เข้ามาบทบาทสำคัญในการผลักดันการติดตั้งจุดชาร์จรถไฟฟ้า สมาคม Faconauto (สมาคมผู้รับสัมปทานแบรนด์รถยนต์และเครื่องจักรทางการเกษตรในตลาดสเปน) ได้ออกมาเปิดเผยในการประชุม COP 25 ว่าจะลงทุน 68 ล้านยูโรในปี ค.ศ. 2020 เพื่อเพิ่มจุดชาร์จรถไฟฟ้าอีก 5 เท่าจาก 2,500 แห่งเป็น 12,500 แห่งซึ่งจะช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์และรองรับการใช้งานของรถไฟฟ้าทั้งในตัวเมืองและชนบท ในส่วนของบริษัท Endesa (บริษัทพลังงานไฟฟ้าและก๊าซสเปน) ได้ประกาศเมื่อปลายปี ค.ศ. 2018 ถึงแผนติดตั้งจุดชาร์จรถไฟฟ้าสาธารณะและส่วนบุคคลจำนวน 100,000 แห่ง ในสเปนภายในปี ค.ศ. 2023 บริษัท Iberdrola วางแผนที่จะติดตั้งจุดชาร์จไฟรถไฟฟ้า 25,000 แห่งภายในปี ค.ศ. 2021 ตามแผนงาน Smart Mobility ของบริษัทฯ นอกจากนี้ บริษัท Repsol และบริษัท Ente Vasco de la Energía (EVE) ก็เพิ่งเปิดใช้สถานีชาร์จไฟฟ้าความเร็วสูงแห่งแรกของสเปนไปเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2019 โดยสามารถชาร์จแบตเตอร์รี่รถไฟฟ้าได้ภายใน 6 นาทีเท่านั้น

สถิติข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวของทั้งภาครัฐและเอกชนของสเปน ที่หันมาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าตามติดเทรนด์สิ่งแวดล้อมโลก ไทยในฐานะที่เป็น “ศูนย์กลางการผลิตรถ” รายใหญ่ที่สุดของอาเซียนและเป็นอันดับที่ 12 ของโลก ก็จำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีเตรียมการรับมือกับแนวโน้มการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดยานยนต์โลก ไม่ใช่เฉพาะแต่ค่ายรถยนต์รายใหญ่ช้ามชาติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบรายย่อยของอุตสาหกรรมยานยนต์อีกด้วย

สามารถติดตามสาระดี ๆ เกี่ยวกับสเปนได้ที่เว็บไซต์ของศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในสเปน สังกัดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริดได้ที่ http://www.thaiembassy.org/bic.madrid/

 



[1] ร่างกฎหมาย LCCTE ฉบับนี้ ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีสเปนแล้ว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2019 แต่ยังรอรัฐสภาสเปนชุดใหม่ ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019 เปิดสมัยประชุมเพื่อพิจารณา

[2] เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ. 2019 คณะรัฐมนตรีสเปนอนุมัติร่างแผน PNIEC และได้เสนอแผนนี้ต่อไปยังคณะกรรมาธิการยุโรป โดยแผนดังกล่าวได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ว่าปี ค.ศ. 2030 ร้อยละ 42 ของพลังงานที่ใช้ในสเปนต้องมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 74 และคาดว่าหากปฏิบัติตามแผนนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานถึงร้อยละ 39.6 และในขณะเดียวกันแผนนี้ก็เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยคาดว่าจะสร้างตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ภายในปี ค.ศ. 2030  ทั้งนี้ ภายในวันที่  31 ธันวาคม ค.ศ. 2019 นี้ ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป รวมถึงสเปน ต้องเสนอแผน PNIEC ฉบับปรับปรุงให้คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณาอีกครั้ง 

 
 

ที่มาของภาพ

https://www.motorpasion.com/industria/iberdrola-se-lanza-a-democratizacion-coche-electrico-apertura-200-electrolineras-2019