นครบาร์เซโลนาตั้งเป้าเป็นเมืองหลวงด้านการท่องเที่ยวเชิงวิทยาศาสตร์ระดับโลกในปี 2566

นครบาร์เซโลนาตั้งเป้าเป็นเมืองหลวงด้านการท่องเที่ยวเชิงวิทยาศาสตร์ระดับโลกในปี 2566

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 เม.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 เม.ย. 2565

| 1,320 view

ตามที่ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้เคยพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับเป้าหมายและความก้าวหน้าของนครบาร์เซโลนาในมิติต่าง ๆ มาแล้วก่อนหน้านี้ อาทิเช่น โครงการ 5G Barcelona ซึ่งนครบาร์เซโลนาได้ตั้งเป้าจะนำตัวเองขึ้นไปเป็น “Hub 5G ชั้นนำของยุโรปใต้”

วันนี้ ศูนย์ฯ จะขอพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับอีกเป้าหมายหนึ่งที่น่าสนใจของบาร์เซโลนา นั่นคือ การก้าวขึ้นไปเป็นเมืองหลวงด้านการท่องเที่ยว เชิงวิทยาศาสตร์ระดับโลก

ALBA Synchrotron เป็นศูนย์วิจัยเรื่องแสงซินโครตรอนที่สำคัญที่สุดในแถบเมดิเตอร์เรเนียน

ALBA Synchrotron เป็นศูนย์วิจัยเรื่องแสงซินโครตรอนที่สำคัญที่สุดในแถบเมดิเตอร์เรเนียน 

ปัจจุบัน แคว้นคาตาโลเนีย (นครบาร์เซโลนา เมืองหลวงของแคว้นฯ) มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม (R&D) เป็นจำนวนสูงถึง 3,619 ล้านยูโร หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ของงบประมาณด้าน R&D ในสเปนทั้งประเทศ (15,768 ล้านยูโร) ซึ่งถือว่าสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากแคว้นมาดริด โดยมีสัดส่วนรายจ่ายด้าน R&D ของแคว้นคาตาโลเนียต่อประชากร 1 คน อยู่ที่ 468.9 ยูโร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสเปน (328.6 ยูโรต่อคน) และสูงเป็นอันดับที่ 4 รองจากแคว้นบาสก์ แคว้นมาดริดและแคว้นนาบาร์รา  ทั้งนี้ การทุ่มเทงบประมาณดังกล่าวไปกับงานวิจัยและพัฒนา ได้ส่งผลให้นครบาร์เซโลนา กลายเป็นแหล่งผลิตองค์ความรู้ที่สำคัญแห่งหนึ่งของยุโรป มีโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย และได้รับการจัดอันดับเป็นเมืองนวัตกรรมอันดับที่ 5 ของยุโรปในด้านจำนวนสตาร์ทอัพ และการลงทุน

ในการนี้ รัฐบาลแคว้นคาตาโลเนียจึงมีแนวคิดที่จะใช้ประโยชน์จากความพร้อมของโครงข่ายระบบนิเวศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนครบาร์เซโลนา ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ Barcelona Supercomputing Center, ALBA Synchrotron (ศูนย์วิจัยเรื่องแสงซินโครตรอน), สมาคม Tech Barcelona, โครงการ Ciutadella del Coneixement, อุทยานการวิจัยทางการแพทย์แห่งนครบาร์เซโลนา (Barcelona Biomedical Research Park), และอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งนครบาร์เซโลนา (Parc Científic de Barcelona) เพื่อนำมาต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีความสนใจในวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ให้เข้ามาท่องเที่ยวและเรียนรู้การดำเนินงานของหน่วยงานเหล่านี้  

ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา องค์กร SciTech DiploHub ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร และมีวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้นครบาร์เซโลนาเป็นห้องปฏิบัติการระดับโลกในด้านการทูตวิทยาศาสตร์ ได้นำเสนอแผนปฏิบัติงานด้านการท่องเที่ยวเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนครบาร์เซโลนา ภายใต้งบประมาณ 2 ล้านยูโร โดยตั้งเป้าให้นครบาร์เซโลนาก้าวขึ้นไปมีสถานะเป็น “เมืองหลวงด้านการท่องเที่ยวเชิงวิทยาศาสตร์ระดับโลก” ภายในปี 2566  เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวมิติใหม่ของนครบาร์เซโลนาที่เน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและยั่งยืน ซึ่งภายใต้แผนปฏิบัติการดังกล่าว จะเน้นการเชิญชวนให้นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เดินทางเข้าร่วมการงานแสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญในนครบาร์เซโลนา อาทิ งาน Mobile World Barcelona (MWC) งาน Integrated Systems Europe (ISE) และการประชุม European Society of Cardiology Conference (ESC) ฯลฯ ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมเพื่อรับทราบข้อมูล รวมทั้งทำความรู้จักกับหน่วยงานและโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนครบาร์เซโลนา ใน 6 สาขาเป้าหมาย ได้แก่ 1) ชีววิทยาศาสตร์ 2) การวิจัยคลีนิก 3) วิทยาศาสตร์การวิจัยและประยุกต์ใช้แสง (Photonics)  4) Supercomputing  5) เมืองอัจฉริยะ และ 6) เศรษฐกิจสีน้ำเงินและการรับมือกับปัญหาโลกร้อน ซี่งหากประสบความสำเร็จ ก็คาดกันว่าโครงการนี้จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากกว่า 1 แสนคน ภายในระยะเวลาอีก 5 ปีข้างหน้า

 

ติดตามสาระดี ๆ เกร็ดความรู้และโอกาสทางธุรกิจในสเปนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้ที่ https://bic-madrid.thaiembassy.org

************************