บิลเบา: พลิกโฉมหน้าจากเมืองอุตสาหกรรมสู่เมืองทันสมัย สุดยอดเมืองยุโรปปี 2018 (ตอน 1)

บิลเบา: พลิกโฉมหน้าจากเมืองอุตสาหกรรมสู่เมืองทันสมัย สุดยอดเมืองยุโรปปี 2018 (ตอน 1)

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 มิ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 18 มิ.ย. 2562

| 3,036 view

หลายคนโดยเฉพาะผู้รักงานศิลปะอาจจะเคยได้ยินชื่อหรือรู้จักพิพิธภัณฑ์ Guggenheim และผลงานรูปสุนัขโดยฝีมือศิลปิน Jeff Koons ณ เมืองบิลเบา แคว้นบาสก์ มาบ้างแล้ว แต่เมืองบิลเบาไม่ได้มีสิ่งที่น่าสนใจเพียงแค่นี้ เพราะเมื่อปลายปี ค.ศ. 2017 เมืองนี้เพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ Urbanism Awards ปี ค.ศ. 2018 ให้เป็น “สุดยอดเมืองยุโรป” จาก The Academy of Urbanism ณ กรุงลอนดอน เนื่องด้วยความเป็นเลิศด้านการจัดการผังเมือง สภาพแวดล้อม สังคมและนวัตกรรม จนสามารถเอาชนะคู่แข่งที่แข็งแกร่งอย่างกรุงลูบลิยานา (สโลวีเนีย) และกรุงเวียนนา (ออสเตรีย) ไปได้

พิพิธภัณฑ์ Guggenheim

พิพิธภัณฑ์ Guggenheim

เหตุผลที่ทำให้บิลเบาได้รับรางวัลนี้คืออะไร??? นี่คงเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจของใครหลายคน ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด จะพาผู้อ่านไปรู้จักประวัติของเมืองบิลเบา หน่วยงานที่มีส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองบิลเบา เพื่อที่จะดูกันว่าภายในระยะเวลาเพียงแค่ 30 ปี บิลเบาบริหารจัดการพัฒนาเมืองอย่างไร ให้สามารถเปลี่ยนโฉมหน้าเมืองอุตสาหกรรมที่ทรุดโทรมให้กลายเป็นเมืองทันสมัยจนสามารถคว้ารางวัล Urbanism Awards มาครอง

ผลงานรูปสุนัขหน้าพิพิธภัณฑ์ Guggenheim

ผลงานรูปสุนัขหน้าพิพิธภัณฑ์ Guggenheim

เมืองบิลเบาตั้งอยู่ในจังหวัดบิซกาญา แคว้นบาสก์[1] ทางตอนเหนือของสเปน ปัจจุบันมีประชากรอาศัยอยู่ ราว 3.45 แสนคน ในช่วงศตวรรษที่ 19 บิลเบาเป็นเมืองอุตสาหกรรมอันดับ 2 ของสเปนรองจากนครบาร์เซโลนา และเศรษฐกิจของเมืองบิลเบาในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 ก็ขึ้นอยู่กับภาคอุตสาหกรรม (โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโลหะจำพวกเหล็ก) และการต่อเรือเป็นหลัก อีกทั้งมีความเชื่อมโยงกับเมืองใหญ่ของยุโรป บิลเบาจึงมีสถานะเป็นท่าเรือที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรปในสมัยนั้น โดยเป็นศูนย์กลางการขนส่งวัตถุดิบต่าง ๆ กับเมืองยุโรปอื่น อาทิ น้ำมันดิบ น้ำมันกลั่น เหล็กและคาร์บอน

ในปี ค.ศ. 1973 เศรษฐกิจที่ตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ ผู้คนตกงาน สภาพแวดล้อมของเมืองเสื่อมโทรม และมีปัญหามลพิษจากภาคอุตสาหกรรม ผู้บริหารเมืองบิลเบาจึงหันมาคิดว่าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างไร และได้ตัดสินใจเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเมืองโดยทำการปรับผังเมืองครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.1983 เพื่อให้บิลเบาเป็นเมืองแห่งธุรกิจการบริการแทนการพึ่งพาอุตสาหกรรมหนัก โดยในปี ค.ศ. 1992 ได้มีการก่อตั้งหน่วยงานชื่อ Bilbao Ría 2000 ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจากหลากหลายพรรคการเมือง เพื่อจัดการผังเมืองบิลเบา ทำการฟื้นฟูพื้นที่ทรุดโทรมและพื้นที่อุตสาหกรรมเดิม จัดทำโครงการปรับปรุงระบบการขนส่ง และสิ่งแวดล้อม และสิ่งที่น่าทึ่งคือแม้ว่าสมาชิกจะมาจากต่างพรรค แต่ก็สามารถบรรลุข้อตกลงได้หลายเรื่อง

หลังจากการฟื้นฟูเมือง บิลเบาได้กลายเป็นเมืองชั้นนำระดับนานาชาติด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจ และได้กลายเป็นศูนย์การจัดงานประชุมและงานแสดงสินค้าต่าง ๆ เช่น ศูนย์แสดงนิทรรศการบิลเบา ศูนย์จัดการประชุม Euskalduna ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ Guggenheim และศูนย์วัฒธรรมและสันทนาการ Azkuna Zentroa Alhóndiga Bilbao ซึ่งเป็นอาคารดัดแปลงมาจากโรงเก็บไวน์ เป็นต้น

 

ภาพก่อนการปรับปรุงเมืองบิลเบา แถบพื้นที่ Abandoibarra ปี 1970

ภาพก่อนการปรับปรุงเมืองบิลเบา แถบพื้นที่ Abandoibarra ปี 1970

ภาพหลังการปรับปรุงเมืองบิลเบา แถบพื้นที่ Abandoibarra ปี 2011

ภาพหลังการปรับปรุงเมืองบิลเบา แถบพื้นที่ Abandoibarra ปี 2011

นอกจากการดำเนินงานของ Bilbao Ría 2000 แล้ว ยังมีการจัดตั้ง Grupo SPRI หรือหน่วยงานพัฒนาธุรกิจซึ่งขึ้นตรงกับรัฐบาลแคว้นบาสก์ และมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาช่วยส่งเสริมให้บริษัทในเขตเมืองเก่าพัฒนาธุรกิจ โดยใช้เทคโนโลยีและการวิจัยและการพัฒนา (R&D) เป็นหลัก มีการจัดตั้งอุทยานเทคโนโลยีชั้นนำของยุโรปในทุกจังหวัดของแคว้นบาสก์ เพื่อเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจจากการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมมาเป็น R&D แทน ได้แก่ อุทยานเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์  บิซกาญา อุทยานเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์กิปุซกัว และอุทยานเทคโนโลยีอาลาบา

สถาบันการศึกษาก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองบิลเบาด้วย โครงการที่น่าสนใจคือ Deusto Cities Lab Katedra ของมหาวิทยาลัย Deustro ที่เน้นการสร้างระบบนวัตกรรมและการพัฒนามาตรการขับเคลื่อนเมืองอย่างมีบูรณาการและมีความสมดุล โดยมีมหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ กับประชาชน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืน การส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการ และการสร้างความเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติผ่านโครงการสหวิทยาการของมหาวิทยาลัย

บริเวณ Abandoibarra ในเมืองบิลเบา

บริเวณ Abandoibarra ในเมืองบิลเบา

จะเห็นได้ว่า การดำเนินการเพื่อพลิกโฉมเมืองบิลเบาจากเมืองอุตสาหกรรมหนักไปเป็นเมืองที่ทันสมัย เป็นไปอย่างมีระบบ โดยเริ่มจากระดับผู้นำที่ต่างร่วมมือกันตั้งวิสัยทัศน์และวางแผนร่วมกัน ทำให้ทุกภาคส่วนสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองจนกลายเป็นแม่แบบการพัฒนาเมืองในหลายประเทศ โดยมีองค์ประกอบของการพัฒนาหลัก ๆ คือ 1) การสร้างโครงข่ายการคมนาคมเพื่อเชื่อมต่อทั้งภายในและภายนอกเมือง 2) การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมและสภาพเมือง 3) การลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงเมืองโดยใช้เทคโนโลยี 4) การส่งเสริมการพัฒนาด้านวัตนธรรม ซึ่งหลักการสองข้อแรกเน้นการพัฒนาผังเมือง ส่วนหลักการสองข้อหลังเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเมือง

ในตอนหน้า ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักความโดดเด่นของเมืองบิลเบา  ในมิติอื่นหลังจากการเปลี่ยนแปลงเมืองครั้งใหญ่ เหตุผลที่ว่าทำไมบิลเบาจึงได้รับคัดเลือกเป็นสุดยอดเมืองยุโรป 2018 พลาดไม่ได้ ตอนหน้าค่ะ ติดตามสาระน่ารู้ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยดี ๆ เกี่ยวกับประเทศสเปนได้ผ่านเว็บไซต์  http://www.thaiembassy.org/bic.madrid/

ที่มาของภาพ

  • https://www.trampntrekker.com/blog/bilbaos-guggenheim-museum
  • https://www.civitatis.com/es/bilbao/tour-privado-museo-guggenheim/
  • http://www.bilbaoria2000.org/ria2000/cas/galeria/galeria.aspx?primeraVez=0
  • http://fotos-arquitectura.blogspot.com/2011/05/vista-abandoibarra-bilbao.html

 

17 พฤษภาคม 2562


[1] แคว้นบาสก์ประกอบด้วย 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบิซกาญา กิปุซกัว และอาลาบา เป็นแคว้นที่มี GDP มากเป็นอันดับ 5 ของสเปน (รองจากแคว้นคาตาโลเนีย แคว้นมาดริด แคว้นอันดาลูเซียและแคว้นบาเลนเซีย ตามลำดับ)