บิลเบา: พลิกโฉมหน้าจากเมืองอุตสาหกรรมสู่เมืองทันสมัย สุดยอดเมืองยุโรปปี 2018 (ตอน 2)

บิลเบา: พลิกโฉมหน้าจากเมืองอุตสาหกรรมสู่เมืองทันสมัย สุดยอดเมืองยุโรปปี 2018 (ตอน 2)

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 มิ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 10 มิ.ย. 2562

| 1,005 view

ในตอนที่แล้ว ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้นำเสนอข้อมูลพื้นฐานของแคว้นบาสก์ เมืองบิลเบาและประวัติพอสังเขป สาเหตุที่มีการปรับปรุงเมืองและหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการฟื้นฟูเมืองบิลเบา ในวันนี้ เราจะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักมิติอื่นที่น่าสนใจของบิลเบาหลังจากการเปลี่ยนแปลงเมืองครั้งใหญ่ นั่นคือ การคมนาคมขนส่งและสถาปัตยกรรมที่ทันสมัย รวมทั้งเหตุผลที่ทำให้บิลเบาได้รับคัดเลือกเป็น “สุดยอดเมืองยุโรปปี 2018”

พิพิธภัณฑ์ Guggenheim

พิพิธภัณฑ์ Guggenheim

นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 เมืองบิลเบาได้ขยายท่าเรือ สร้างรถไฟใต้ดิน ปรับปรุงถนนและทางรถไฟ สร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ การคมนาคมที่สะดวกสบายและเชื่อมต่อกับภายนอกทำให้ดึงดูดการลงทุนในพื้นที่ได้ดี โดยเฉพาะท่าอากาศยานซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการขนส่งทางตอนเหนือของสเปนเพราะเชื่อมต่อกับจุดหมายปลายทางหลายแห่งทั่วยุโรป

ภายนอกสถานีรถไฟในเมืองบิลเบา

ภายนอกสถานีรถไฟในเมืองบิลเบา

อาคาร Osakidetza ที่ทำการสำนักงานสาธารณสุขของเมืองบิลเบา

อาคาร Osakidetza ที่ทำการสำนักงานสาธารณสุขของเมืองบิลเบา 

ในแผนการปรับปรุงเมือง ได้มีการปรับพื้นที่อุตสาหกรรมเดิมให้เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์สำหรับการบริการการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ให้ความสำคัญต่อการออกแบบอาคาร โดยได้เชิญให้สถาปนิกชั้นนำของโลกเข้ามามีส่วนร่วม ที่นี่จึงมีอาคารและโครงสร้างพื้นฐานมากมายที่ได้รับออกแบบโดยสถาปนิกที่มีชื่อเสียง อาทิ สถานีรถไฟ ใต้ดินบิลเบาซึ่งเปิดให้บริการเมื่อปี ค.ศ. 1995 ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดัง Norman Foster ที่เน้นความเรียบง่าย การใช้งานและความสวยงาม เป็นผลงานที่ชาวบิลเบาชื่นชมมากที่สุดและได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ “บิลเบาใหม่” (Nuevo Bilbao) บิลเบายังมีอาคารหลายแห่งซึ่งได้กลายเป็นสัญลักษณ์เฉพาะเมือง อาทิ พิพิธภัณฑ์ Guggenheim (ผลงานของ Frank Gehry) ศูนย์การประชุม Euskalduna (ผลงานของสถาปนิก Federico Soriano และ Dolores Palacios) ความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมในเมืองบิลเบา ยังสะท้อนให้เห็นจากจำนวนสถาปัตยกรรม  ในพื้นที่ Abandoibarra ของเมืองที่ออกแบบโดยสถาปนิกที่ได้รับรางวัล Pritzker Prize (รางวัลสำหรับสถาปนิกโลก) หนาแน่นมากที่สุดในโลก อาทิ Frank Gehry, Norman Foster, Rafael Moreno, Álvaro Siza และ Zaha Hadid นอกจากนี้ สะพาน Zubizuri อาคารสูงของบริษัทพลังงาน Iberdrola ก็เป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมสำคัญที่ทำให้ภาพลักษณ์ของบิลเบาดูทันสมัย แต่ทั้งหมดนี้ บิลเบาไม่ได้ทิ้งความงดงามทางวัฒนธรรม โดยได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์มรดกอย่างโรงละคร Arriaga พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์แห่งบิลเบา หรือตลาด Ribera เป็นต้น การมีอาคารที่มีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรม และมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอยังทำให้บิลเบามีรายได้การท่องเที่ยว การค้าและธุรกิจเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการทำให้ประชาชนมีพื้นที่สาธารณะในการประกอบกิจกรรมสันทนาการ

สะพาน Zubizuri

สะพาน Zubizuri

สะพาน Zubizuri 

นาย David Rudlin ประธาน The Academy of Urbanism ชื่นชมเมืองบิลเบาว่า “เป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของการปรับปรุงเมืองทุกมิติ ไม่เฉพาะแค่เชิงกายภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงมิติด้านสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม การฟื้นฟูเมืองภายในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่น่าทึ่ง สิ่งเหล่านี้ทำสำเร็จได้เนื่องจากมีผู้นำที่กล้าหาญและมีความสามารถ” The Academy of Urbanism ยังกล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจในการพัฒนาเมืองบิลเบา ได้แก่

  • นโยบายและการจัดการภาษีที่ชาญฉลาด โดยใช้ความมีอิสระของเมืองในการจัดการภาษีของตนอย่างรอบคอบ[1] รู้จักบริหารและจัดการการเงินจนทำให้เมืองนี้ มีสภาพเศรษฐกิจที่มั่นคง อยู่ในฐานะปลอดหนี้มาตั้งแต่ปี 2010 แม้ว่าจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจโลกในปี 2008 ก็ตาม
  • การให้ความสำคัญต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและมีคุณภาพสำหรับประชาชน เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็ง ความเท่าเทียมและการมีส่วนร่วมของประชาชน อาทิ การมีระบบขนส่ง รวมถึงพื้นที่สาธารณะที่ได้รับการวางแผน ออกแบบ และบำรุงรักษาอย่างดีเยี่ยม การกระจายอำนาจไปยังประชาชนและให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน อาทิ การมีมาตรการรับมือสังคมผู้สูงอายุ การบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะร่วมกัน ซึ่งเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่สำคัญของเมืองในการสร้างความรู้สึกร่วมของการเป็นพลเมือง
  • ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ อาทิ การตัดสินใจลงทุนสร้างพิพิธภัณฑ์ Guggenheim ด้วยงบประมาณ 96 ล้านยูโรในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ซึ่งขณะนั้นบิลเบาประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจและสังคม แต่นักการเมืองท้องถิ่น มีความเป็นมืออาชีพ เปิดกว้างและโปร่งใสในการบริหารและเห็นประโยชน์ของเมือง จนทำให้ Guggenheim กลายเป็นหน้าเป็นตาของบิลเบาและสเปนในปัจจุบัน

นอกจากรางวัลชนะเลิศ Urbanism Awards ปี 2018 บิลเบายังได้รับรางวัลอื่นอีก อาทิ รางวัล  Lee Kuan Yew City Prize ปี 2010 เนื่องจากความเป็นเลิศเรื่องกระบวนการปรับปรุงเมือง และรางวัล World Mayor Prize ปี 2012 อีกด้วย เนื่องจากนาย Iñaki Azkuna นายกเทศมนตรีเมืองบิลเบาในขณะนั้น ได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเมืองบิลเบาจากเมืองอุตสาหกรรมไปสู่ศูนย์กลางการท่องเที่ยวและศิลปะระดับนานาชาติ   

การมาเยือนเมืองบิลเบาน่าจะตอบโจทย์ของใครหลายคน เพราะมีหลายสิ่งให้ได้ชมและศึกษา เป็นการผลิก เมืองอุตสาหกรรมที่มีมลพิษไปสู่เมืองที่มีการบริหารจัดการที่ดี เน้น R&D และยังเป็นเมืองที่สำคัญด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจ เผื่อว่าเราจะได้แรงบันดาลใจและนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและจัดการเมืองในประเทศไทยต่อไป

สามารถติดตามสาระดี ๆ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับประเทศสเปนได้ที่ http://www.thaiembassy.org/bic.madrid/

 

ที่มาของภาพ

  • https://www.civitatis.com/es/bilbao/tour-privado-museo-guggenheim/
  • https://www.flickr.com/photos/tatotitotu/15019178154/in/photostream/
  • https://www.minube.com/rincon/puente-zubizuri-a48651

 

28 พฤษภาคม 2562


[1] แคว้นบาสก์จัดเก็บภาษีของตนเอง ผ่านข้อตกลงทางเศรษฐกิจกับรัฐบาลสเปนที่เรียกว่า “Concierto económico” (Economic Accord) ซึ่งเป็นสิทธิ์ทางประวัติศาสตร์เมื่อเกือบ 150 ปีที่แล้ว โดยได้มีการฟื้นข้อตกลงทางเศรษฐกิจอีกครั้งหลังยุคนายพลฟรังโก  โดยแคว้นบาสก์สามารถกำหนดอัตราภาษีและเก็บภาษีจากประชาชนได้เอง เพื่อนำรายได้มาใช้สำหรับพัฒนาแคว้นฯ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา กิจการด้านวัฒนธรรมและสังคม และกำหนดสัดส่วนรายได้ที่จะส่งให้รัฐบาลกลางเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการบริหารจัดการที่แคว้นฯ ไม่ได้รับโอนอำนาจมาจากรัฐบาลกลาง อาทิ ด้านป้องกันประเทศ การต่างประเทศ การบริหารโครงสร้างพื้นฐาน (อาทิ ท่าเรือ ท่าอากาศยาน รถไฟความเร็วสูง) เป็นต้น ปัจจุบัน อัตราเงินโควต้าที่แคว้นบาสก์จ่ายให้แก่รัฐบาลกลางในแต่ละปีอยู่ที่ร้อยละ 6.24 ของรายได้ประเทศ