ส่องการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนในสเปน

ส่องการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนในสเปน

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 มิ.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 มิ.ย. 2566

| 1,636 view

 

shutterstock_1207936660

Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นแนวคิดที่ประเทศต่าง ๆ รวมถึงสเปน สนใจ และให้ความสำคัญมากขึ้นในระยะหลายปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นการช่วยตอบสนองต่อเป้าหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจให้อยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน ซึ่งเน้นการนำทรัพยากรที่ใช้แล้วมาแปรรูปเพื่อใช้ซ้ำได้อีกในอนาคต ผ่านกระบวนการคัดเลือกวัสดุ การออกแบบผลิตภัณฑ์ และการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นำไปสู่การลดจำนวนของเสีย และมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว 

ในวันนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของสเปนและความคืบหน้าการดำเนินการของรัฐบาลสเปนตามนโยบายดังกล่าว ดังนี้

 

เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2563 รัฐบาลสเปนได้ประกาศใช้ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ España Circular 2030 เพื่อยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของสเปนให้ก้าวสู่การเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ปลอดคาร์บอน สะอาดและมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายที่ต้องการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวประกอบด้วย 6 เป้าหมายหลัก ที่ต้องบรรลุภายในปี ค.ศ. 2030 ได้แก่

1) ลดการใช้วัสดุที่ไม่จำเป็นในประเทศลงร้อยละ 30 โดยอ้างอิงจากปี ค.ศ. 2010

2) ลดการสร้างขยะลงร้อยละ 15 เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติในปี ค.ศ. 2010

3) ลดการสร้างขยะอาหารตลอดห่วงโซ่ของการบริโภคอาหาร ลงร้อยละ 50 ต่อคนในระดับของครัวเรือน และร้อยละ 20 ตลอดห่วงโซ่ของอุปสงค์ (การผลิต) และอุปทาน (การบริโภค) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020 ซึ่งเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของ UN

4) เพิ่มกระบวนการนำมาใช้ซ้ำและเตรียมความพร้อมสำหรับการนำมาใช้ซ้ำให้ถึงระดับร้อยละ 10 ของจำนวนขยะในชุมชนที่สร้างขึ้น

5)  ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำกว่า 10 ล้านตัน (tCO2eq)

6) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำร้อยละ 10

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ฯ เน้นให้ความสำคัญกับ 6 สาขาเศรษฐกิจ ได้แก่ 1) การก่อสร้าง 2) เกษตรกรรม ประมง และป่าไม้  3) อุตสาหกรรม 4) สินค้าอุปโภคบริโภค 5) การท่องเที่ยว และ 6) สิ่งทอและการตัดเย็บ

shutterstock_1120037774

นอกจากยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว ต่อมาในเดือนมีนาคม 2565 รัฐบาลสเปนยังได้อนุมัติแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ PERTE de Economía circular โดยการจัดสรรงบประมาณจำนวน 492 ล้านยูโร ระหว่างปี ค.ศ. 2022-2026 เพื่อเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน รวมถึง เพิ่มความสามารถการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการโดยรวม โดยแบ่งเป็น

1) งบประมาณ 300 ล้านยูโร สำหรับการสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมสิ่งทอ พลาสติก และพลังงานทดแทน อาทิ การรีไซเคิลพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาพลังงานลม/พลังงานแสงอาทิตย์ การพัฒนาแบตเตอรี่ เป็นต้น

2) งบประมาณ 192 ล้านยูโร เพื่อส่งเสริมการนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในบริษัท/ผู้ประกอบการ ซึ่งได้แก่ การลดการใช้วัตถุดิบใหม่ การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมและการนำสินค้าภายใต้การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมออกสู่ตลาด การจัดการของเสีย และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการผลิต  

 

นอกจากนโยบายระดับประเทศแล้ว ในระดับท้องถิ่น หลายแคว้นของสเปนก็ยังมีการประกาศใช้ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหมุนเวียนของตนเองด้วย อาทิ ในแคว้นกัสตียา อี เลออน แคว้นกัสตียา ลา มันชา แคว้นบาสก์ แคว้นเอสเตรมาดูรา แคว้นกาลิเซีย แคว้นนาบาร์ราและแคว้นมูรเซีย เป็นต้น โดยจัดทำให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระดับชาติ

ขณะที่ในระดับประชาชนก็มีความตื่นตัวอย่างมากเช่นกัน โดยเฉพาะการให้ความร่วมมือในการรีไซเคิลขยะ  โดยในปี 2565 ตามสถิติของ ECOEMBES (องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมผ่านการรีไซเคิลและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) ระบุว่า สเปนมีการรีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์ในครัวเรือน 1.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า  และ ECOVIDRIO (องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ดำเนินการเรื่องรีไซเคิลขยะแก้ว) ก็ได้ระบุเช่นกันว่าในปี 2565 มีการเก็บขยะที่เป็นแก้วได้มากถึง 940,000 ตันหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า  

ทั้งนี้ การรีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์ในครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลทำให้ในปี 2564 สเปนสามารถลดการใช้น้ำลงได้ถึง 21,460 ล้านลิตร ลดการใช้พลังงานได้ถึง 6.72 ล้านเมกะวัตต์-ชั่วโมง (MWh) และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 1.79 ล้านตัน ในขณะที่การรีไซเคิลขยะที่เป็นแก้วได้ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 590,000 ตัน และลดการใช้พลังงานได้ถึง 723,351 MWh

ในส่วนของภาคเอกชน ในปี 2565 Pacto Mundial de ONU España (Global UN Compact Spain) รายงานว่า มีบริษัทในตลาดหุ้นสเปน ร้อยละ 89 และร้อยละ 33 ของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ Pacto Mundial de ONU España ที่ได้มีการจัดทำระบบการประเมินผลกระทบจากการดำเนินการของบริษัทต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว โดยตัวอย่างหนึ่งของบริษัทสเปนที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ บริษัท Repsol (สาขาพลังงาน) ซึ่งได้มีการดำเนินโครงการ/กิจกรรมที่ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ไปแล้วกว่า 300 โครงการ และปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโรงงานรีไซเคิลโฟมโพลียูรีเทน (Chemical recycling of polyurethane foam) แห่งแรกของสเปน ณ เมือง Puertollano จังหวัด Ciudad Real (แคว้นกัสตียา ลา มันชา) คาดว่าโรงงานแห่งนี้จะสร้างเสร็จภายในปีนี้ และจะสามารถรีไซเคิลโฟมโพลียูรีเทนได้ในปริมาณ 2,000 ตัน/ปี

 

ติดตามสาระดี ๆ เกร็ดความรู้และโอกาสทางธุรกิจในสเปนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้ที่ https://bic-madrid.thaiembassy.org


ข่าวใกล้เคียง

ข่าวใกล้เคียง