ข้อมูลแนวปฏิบัติที่ดีและเทคโนโลยีด้านการรับมือภัยพิบัติของสเปน

ข้อมูลแนวปฏิบัติที่ดีและเทคโนโลยีด้านการรับมือภัยพิบัติของสเปน

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 พ.ค. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 พ.ค. 2568

| 12 view

1. ภาพรวม  ภัยพิบัติในสเปนส่วนมากเกิดจากอุทกภัย วาตภัย พายุหิมะ ภัยแล้งและคลื่นความร้อน ภัยจากไฟป่า และมีการประทุของภูเขาไฟในพื้นที่หมู่เกาะคานารี  การจัดการภัยพิบัติของสเปนจะอยู่ภายใต้หน่วยงานการป้องกันพลเรือน (Civil Protection - Protección Civil) โดย รบ. แบ่งความรับผิดชอบออกเป็นระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับเทศบาล และแบ่งมาตรการออกเป็นระดับต่าง ๆ ได้แก่ การป้องกัน การเตรียมพร้อม การตอบสนอง และการฟื้นฟู โดยมีกฎหมายการป้องกันพลเรือนแห่งชาติ (National Civil Protection Law (17/2015) รองรับและกำหนดระบบการป้องกันภัยพิบัติในทุกระดับของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เน้นการตอบสนองอย่างบรูณาการ และมี คกก. การป้องกันพลเรือนแห่งชาติ (National Commission for Civil Protection) ภายใต้กระทรวงมหาดไทยสเปน เป็นผู้มีอำนาจรับผิดชอบในการดำเนินงาน โดยระบบของสเปนจะกำหนดโครงสร้างแบบกระจายอำนาจในการจัดการภัยพิบัติระหว่างหน่วยงานระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับเทศบาล

 

2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2.1 สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติสเปน AEMET (Agencia Estatal de Meteorologia) มีการใช้เทคโนโลยีเฉพาะทางที่หลากหลาย อาทิ (1) การบูรณาการข้อมูลดาวเทียมจาก EUMETSAT (องค์การดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาแห่งยุโรป) ถ่ายภาพความละเอียดสูงเพื่อวิเคราะห์ฝนและอุณหภูมิ (2) เครื่อข่ายเรดาร์ REDAR ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยใช้ Doppler Radar ตรวจจับฝน ลูกเห็บ และหิมะ วิเคราะห์โครงสร้างและการเคลื่อนไหวของพายุ และป้อนข้อมูลเข้าสู่แบบจำลองพยากรณ์อากาศระยะสั้น (3) แบบจำลองพยากรณ์อากาศเฉพาะของ AEMET อาทิ HARMONIE-AROME (แบบจำลองภูมิอากาศละเอียดสูงสำหรับระยะสั้น) สามารถปรับแบบจำลองให้เหมาะกับภูมิประเทศของสเปน (ภูเขา ชายฝั่ง ภูมิอากาศเฉพาะถิ่น) เพื่อตรวจจับน้ำท่วม/ไฟป่าฉับพลัน (4) ระบบคาดการณ์ความเสี่ยงไฟป่า โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนที่ความเสี่ยงไฟป่า ใช้ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา สภาพพืชและความแห้งของพื้นที่ และการติดตามค่าดัชนีความเสี่ยงอัตโนมัติรายวันเพื่อช่วยการป้องกันไฟป่า (5) ระบบข้อมูลเปิด (Open Data) และ API เปิดให้ใช้งานข้อมูลผ่านเว็บไซต์และ API สำหรับนักพัฒนา หน่วยงานวิจัย หรือหน่วยงานดูแลภัยพิบัติ โดยแสดงข้อมูลแบบ real time เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ลม ฝน ดัชนีรังสี UV โดยรองรับการทำงานของ Smart city โปรแกรมแอพลิเคชั่นมือถือ และระบบวิเคราะห์ความเสี่ยง (6) การสังเกตการณ์ชั้นบรรยากาศตอนบน ผ่านการปล่อยบอลลูนตรวจอากาศ เป็นประจำเพื่อเก็บข้อมูล (7) ระบบ Nowcasting (คาดการณ์ระยะสั้น) สำหรับการพยากรณ์ในช่วง 0–2 ชั่วโมงข้างหน้า  เหมาะสำหรับการติดตามพายุ การคาดการณ์ลูกเห็บ เป็นต้น (8) เครือข่ายตรวจจับฟ้าผ่าทั่วประเทศ  สามารถระบุพิกัดของฟ้าผ่าได้แม่นยำสูง และสนับสนุนข้อมูลการเตือนภัยพายุ และการป้องกันไฟป่า และ (9) การติดตามภูมิอากาศและวิเคราะห์ย้อนหลัง (Reanalysis) โดยใช้ข้อมูลย้อนหลังและจากดาวเทียม สนับสนุนการศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คาดการณ์แนวโน้ม และความผิดปกติของอากาศ และยังร่วมมือกับโครงการระดับยุโรป เช่น Copernicus Climate Change Service (C3S)

 

2.2 ทหารเฉพาะกิจของสเปน Unidad Militar de Emergencias (UME) เป็นหน่วยงานทางทหารภายใต้กระทรวงกลาโหมของสเปน กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศสเปน (และแบ่งออกเป็นหน่วยงานเฉพาะทาง อาทิ BIEM – หน่วยภาคสนาม BTUME – หน่วยสนับสนุนทางเทคนิค GRUME – หน่วยฝึกและเตรียมความพร้อม) มีภารกิจหลักในการช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินรุนแรง เช่น การควบคุมไฟป่า ช่วยเหลือเหตุน้ำท่วม/แผ่นดินไหว/พายุ/ อุบัติเหตุทางเคมี/ชีวภาพ/นิวเคลียร์ ค้นหาและกู้ภัยในเหตุการณ์ต่าง ๆ ตลอดจนสนับสนุนภารกิจด้านสาธารณสุข (เช่น ในช่วง COVID-19) เป็นต้น UME ยังมีอุปกรณ์เฉพาะทางและเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น โดรน เครื่องบินดับไฟ และระบบสื่อสารฉุกเฉิน มีการฝึกฝนเฉพาะทางสำหรับสถานการณ์วิกฤตโดยเฉพาะ และคุ้นเคยกับการทำงานร่วมกับหน่วยงานพลเรือนอย่างใกล้ชิด นอกจากการช่วยเหลือในประเทศสเปนแล้ว UME ยังส่งกำลังเข้าร่วมภารกิจ รปท. ด้านมนุษยธรรมและช่วยเหลือใน ตปท. ด้วย เช่น ในเฮติ เนปาล และโมร็อกโก

 

3. ระบบ/เทคโนโลยีในสเปน

3.1 ระบบแจ้งเตือน 112 กำหนดให้เบอร์ 112 เป็นหมายเลขรวมศูนย์เพื่อให้ ปชช. สามารถการแจ้งเตือนภัยและขอรับความช่วยเหลือ เชื่อมกับสถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง และความช่วยเหลือด้านสุขภาพ นอกจากนี้ ยังเชื่อมกับระบบการแจ้งเตือนล่วงหน้า ES-Alert และการแจ้งเตือนอื่น ๆ ด้วย

3.2 ระบบแจ้งเตือนภัยสาธารณะ ES-Alert (อีกชื่อคือ reverso 112) เป็นระบบแจ้งเตือนภัยของสเปน บริหารจัดการโดยกระทรวงมหาดไทยสเปน ร่วมกับ คกก. ป้องกันภัยพลเรือนแห่งชาติ รบ.ท้องถิ่น และผู้ให้บริหารเครือข่ายมือถือ โดยใช้เทคโนโลยี Cell Broadcast เพื่อส่งข้อความเตือนภัยฉุกเฉินโดยตรงไปยังโทรศัพท์มือถือของ ปชช. ในพื้นที่ที่กำหนด (location-based) โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรมแอปมือถือหรือสมัครใช้งานล่วงหน้า หากโทรศัพท์เปิดอยู่และเชื่อมต่อเครือข่ายก็จะได้รับข้อความโดยอัตโนมัติ โดยนำมาใช้ในกรณี เช่น ภัยธรรมชาติ (เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟป่า) / อุบัติเหตุทางอุตสาหกรรม / ภัยคุกคามหรือการก่อการร้าย / ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข / อุบัติเหตุจราจรครั้งใหญ่

3.3 ระบบป้องกันภัยพิบัติ ARIEM+  เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างพรมแดนเพื่อตอบสนองเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติในพื้นที่ชายแดนระหว่าง สเปน-โปรตุเกส-ฝรั่งเศส โดยครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสเปน (แคว้น Castilla y León และ Galicia) ภาคเหนือของโปรตุเกส และภาคตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส โดยส่งเสริมให้มีการทำงานร่วมกันของหน่วยงานฉุกเฉินของทั้งสามประเทศ มีการแบ่งปันข้อมูลและเทคโนโลยีในระหว่างเกิดเหตุ ตลอดจนจัดการฝึกอบรมและซักซ้อมเหตุการณ์ร่วมกัน

3.4 ระบบ Copernicus Emergency Management Integration ของอียู โดยสเปนเป็นหนึ่งใน ปท. อียูที่ใช้ระบบ EU Copernicus EMS (Emergency Management Service) อย่างแข็งขัน และใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและเครื่องมือ AI เพื่อตรวจสอบไฟป่า ติดตามน้ำท่วม วิเคราะห์ความเสียหายหลังเกิดภัยพิบัติ ตลอดจนสามารถทำแผนที่แบบเรียลไทม์และรองรับการตัดสินใจเพื่อตอบสนองต่อภัยพิบัติและฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว

3.5 ระบบการทำแผนที่ฉุกเฉินแบบเรียลไทม์ SITREM โดยใช้เทคโนโลยี Geographic Information System (GIS) โดยหน่วยป้องกันภัยพลเรือนเพื่อแสดงภาพภัยพิบัติที่เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ ประสานงานหน่วยงาน (ทีมกู้ภัย เฮลิคอปเตอร์ และศูนย์พักพิง) รวมถึงสร้างและแชร์แผนที่ปฏิบัติการกับหน่วยงานในพื้นที่

3.6 ระบบจัดการไฟป่าอัจฉริยะ INFOCA ใช้ในแคว้นอันดาลูเซีย และถือเป็นแบบจำลองสำหรับเทคโนโลยีตรวจจับและป้องกันไฟป่าทั่วทั้งยุโรป โดยมีการใช้การคาดการณ์ความเสี่ยงจากไฟไหม้จาก AI ข้อมูลสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ การเฝ้าระวังด้วยดาวเทียมและโดรน และการสร้างแบบจำลองไฟป่าด้วย GIS เพื่อจำลองการแพร่กระจายของไฟป่า

3.7 เทคโนโลยีอื่น ๆ ที่นำมาใช้ในการป้องกันภัยพิบัติ (1) การนำ AI และ big data มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงทำนาย (Predictive Analytics) เช่น ในการจัดทำโมเดลทำนายไฟป่า (wildfire modeling) การทำแผนอพยพ และการวางแผนทรัพยากรของหน่วยงานในช่วงภัยพิบัติ โดยเฉพาะในแคว้นที่สุ่มเสี่ยงต่อภัยพิบัติ เช่น หมู่เกาะคานารี และแคว้น อันดาลูเซีย เป็นต้น (2) การใช้โดรนและดาวเทียมในระบบตรวจตราและเฝ้าระวัง (3) เทคโนโลยี smart city โดยการติดตั้งเครื่องตรวจจับและการวิเคราะห์ข้อมูลในเมืองหลักเช่น มาดริดและบาร์เซโลนา เพื่อแจ้งเตือนความเสี่ยงภัยพิบัติในเขตเมือง อาทิ การตรวจจับระดับน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม การตรวจจับระดับฝุ่นควันในเมือง และตรวจจับระดับอุณหภูมิความร้อน โดยเชื่อมข้อมูลกับหน่วยงานป้องกันภัยพลเรือน