แนวโน้มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในสเปน

แนวโน้มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในสเปน

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 ก.ย. 2565

| 2,156 view

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้เคยนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจให้ผู้อ่านผ่านบทความที่เกี่ยวกับเทรนด์ผู้บริโภคในสเปนและโอกาสของสินค้าไทยหลายเรื่องด้วยกันก่อนหน้านี้ อาทิ 1) ศักยภาพสินค้าปศุสัตว์สเปน 2) การวิจัยอาหารฟังก์ชันไทยในตลาดสเปน 3) เทรนด์อาหารมังสวิรัติและวีแกนในสเปน 4) ทำความรู้จักตลาดข้าวในสเปน และโอกาสของข้าวไทย โดยเฉพาะข้าวไรซ์เบอร์รี่ และ 5) โอกาสอาหารออร์แกนิกไทยในสเปน เป็นต้น

ในวันนี้ ศูนย์ ฯ จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในสเปน แนวโน้มการบริโภคอาหารของชาวสเปน และประเภทผลิตภัณฑ์อาหารที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในสเปน

shutterstock_553662235

 

ภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในสเปน

ตามข้อมูลจากสหพันธ์อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มสเปน (FIAB) และสถาบัน ICEX ของสเปน (ให้บริการด้านการลงทุน) ในปี 2564 อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของสเปนมีมูลค่ารวม 139,655 ล้านยูโร คิดเป็นร้อยละ 2 ของ GDP สเปน และร้อยละ 23 ของ GDP ภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยมีผู้ประกอบการ 30,573 บริษัท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.6 ของจำนวนบริษัททั้งหมดในสเปน ทั้งนี้ การผลิตเนื้อสัตว์เป็นสาขาที่มีมูลค่าสูงที่สุด (31,032 ล้านยูโร หรือร้อยละ 24.6 ของทั้งอุตสาหกรรมฯ ) ตามมาด้วยเครื่องดื่ม (ร้อยละ 13.4) การผลิตอาหารชนิดอื่น ๆ (ร้อยละ 10.6) ผักและผลไม้ (ร้อยละ 9.0) ผลิตภัณฑ์นม (ร้อยละ 7.9) น้ำมันและไขมัน (ร้อยละ 7.8) เบเกอรี่และพาสต้า (ร้อยละ 6.8) ประมง (ร้อยละ 5.4) และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับแป้ง (ร้อยละ 2.9)

นอกจากนี้ ยังพบว่าอาหารในกลุ่มออร์แกนิกและอาหารมังสวิรัติเป็นสินค้าที่กำลังได้รับความนิยมและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยล่าสุดในปี 2564 ตลาดอาหารในกลุ่มออร์แกนิก มีมูลค่าอยู่ที่ 2,752 ล้านยูโร โดยชาวสเปนซื้ออาหารออร์แกนิก 58.15 ยูโร/คน/ปี (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.71 จากปี 2563) และสเปนยังเป็นประเทศอันดับ 6 ที่มีพื้นที่เพาะปลูกพืช/ผักออร์แกนิกมากที่สุดในโลก จำนวน 2.44 ล้านเฮกเตอร์ หรือเกือบร้อยละ 10 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งประเทศ (Utilised agricultural area) (เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 ในรอบ 5 ปี) ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอาหารออร์แกนิกสเปนจะเน้นการผลิตอาหารที่มาจากพืชมากกว่าที่มาจากสัตว์ (สัดส่วนร้อยละ 86 และ 14 ตามลำดับ) โดยสินค้าพืชออร์แกนิกที่มีผู้นิยมซื้อบริโภคมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ผัก มันฝรั่งและถั่ว 2) ผลไม้สด 3) ผลไม้ตระกูลส้ม (citrus) ส่วนอาหารออร์แกนิกที่มาจากสัตว์ 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) เนื้อสัตว์และสินค้าจากเนื้อสัตว์ 2) นมและสินค้าจากนม 3) ไข่และสินค้าจากไข่[1]

ด้านอาหารกลุ่มมังสวิรัติ (จากพืช) จากสถิติ ณ เดือนกันยายน 2563 พบว่าในสเปนมียอดจำหน่วยรวม 448 ล้านยูโร (ขยายตัวร้อยละ 48 ภายใน 2 ปี) โดยมีสินค้าในกลุ่มเครื่องดื่มจากพืชเป็นสินค้าหลักที่ครองสัดส่วนตลาดถึงร้อยละ 70 (มูลค่า 318 ล้านยูโร) ตามมาด้วยสินค้ากลุ่มเนื้อที่ทำจากพืช (มูลค่า 87 ล้านยูโร) และโยเกิร์ตที่ทำจากพืช (มูลค่า 42 ล้านยูโร) ตามลำดับ ทั้งนี้ ในกลุ่มเครื่องดื่มที่มาจากพืช พบว่าเครื่องดื่มจากข้าวโอ๊ตมียอดขายสูงสุด ตามมาด้วยเครื่องดื่มจากถั่วเหลืองและเครื่องดื่มจากถั่วอัลมอนด์ ในส่วนของสินค้ากลุ่มเนื้อที่ทำจากพืช ร้อยละ 90 ของยอดจำหน่ายจะเป็นเนื้อที่ทำมาจากพืชแช่เย็น ตามด้วยเนื้อที่ทำมาจากพืชแช่เยือกแข็งและพืชจากอุณหภูมิห้อง ตามลำดับ

ไม่เพียงเท่านี้ จากผลการศึกษาของบริษัท Nielson และองค์กร ProVeg International ยังพบว่าสเปนเป็นประเทศที่มีปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มจากพืชต่อคนมากที่สุดในยุโรปเฉลี่ย 5.2 ลิตร/คน หรือ 246 ล้านลิตร/ปี อีกด้วย และมียอดขายเครื่องดื่มจากพืช ขยายตัวร้อยละ 14 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561

 

ชาวสเปนมีแนวโน้มบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น

ในปัจจุบัน มีข้อมูลที่น่าสนใจของการบริโภคของชาวสเปน โดยพบว่า 3 ใน 4 ของชาวสเปนให้ความสำคัญกับสุขภาพและการบริโภคอาหารมากขึ้น สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยชาวสเปนร้อยละ 88 คาดหวังว่า ร้านอาหารจะเสนอรายการอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น และร้อยละ 37 เริ่มรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพหลังจากโควิด-19 นอกจากนี้ ร้อยละ 55.4 ยังพร้อมที่จะจ่ายค่าอาหารที่แพงมากขึ้นเพื่ออาหารที่ดีต่อสุขภาพ[2]

นอกจากนี้ ชาวสเปนยังหันมาให้ความสนใจอาหารกลุ่มมังสวิรัติและออร์แกนิกมากขึ้นอีกด้วย โดยร้อยละ 50 มีแนวโน้มที่จะลดการบริโภคเนื้อสัตว์เนื่องด้วยหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลด้านสุขภาพ (ร้อยละ 63) สวัสดิภาพสัตว์ (ร้อยละ 20) และสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 15)  ในปี 2564 ยังมีการวิเคราะห์อีกด้วยว่าชาวสเปนจะหันมาบริโภคอาหารมังสวิรัติเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 และกลุ่มผู้สูงอายุชาวสเปนจะบริโภคอาหารมังสวิรัติอย่างจริงจังเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 13 ด้วย[3]

ในปี 2564 มีชาวสเปนที่รับประทานมังสวิรัติเป็นจำนวนมากถึง 5.1 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของประชากรในประเทศ ซึ่งประกอบด้วยผู้บริโภคมังสวิรัติแบบยืดหยุ่นร้อยละ 10.8 ผู้บริโภคมังสวิรัติร้อยละ 1.4 และกลุ่มผู้บริโภควีแกนร้อยละ 0.8  โดยตั้งแต่ปี 2562 มีชาวสเปนที่หันมาบริโภคอาหารมังสวิรัติเพิ่มขึ้นถึง 1.3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยหนุ่มสาวอายุระหว่าง 18-34 ปี ขณะที่กลุ่มอายุระหว่าง 25-34 เป็นกลุ่มที่บริโภคมังสวิรัติมากที่สุด (ร้อยละ 16.4)[4]

  918524

  918525  

ตัวอย่างสินค้ากลุ่มอาหารมังสวิรัติและออร์แกนิกในสเปน

 

แนวโน้มประเภทผลิตภัณฑ์อาหารที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในสเปน

สถาบันเทคโนโลยีด้านอาหาร AINIA ได้วิเคราะห์แนวโน้มผลิตภัณฑ์อาหารที่กำลังได้รับความนิยม ดังนี้

(1) Real food เน้นความเป็นธรรมชาติของวัตถุดิบที่ไม่ผ่านการแปรรูป เช่น ถั่ว ผัก ผลไม้ พืชตระกูล   ถั่ว ไข่ นมสด เนื้อสัตว์และปลา

(2) อาหารที่มี Storytelling ได้รับความนิยมมากในกลุ่มคนหนุ่มสาวสเปน ที่ให้ความสนใจต่อต้นกำเนิด/ประวัติของอาหารหรือร้านอาหาร โดยบริษัทและผู้ประกอบการจะใช้กลยุทธ์โฆษณาสินค้าผ่านรูปแบบดิจิทัลเช่น การมีรหัส QR บนตัวสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคสแกนอ่านข้อมูล

(3) ไขมันจากพืช ชาวสเปนมีแนวโน้มบริโภคไขมันจากพืชมากขึ้น เช่น อะโวคาโด น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันถั่วในการทำอาหาร เนื่องจากมีประโยชน์ ปรุงง่าย และดีต่อสุขภาพ

(4) มังสวิรัติแบบยืดหยุ่น (Flexitarian) ซึ่งเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพราะมีแหล่งที่มา      จากพืช ตอบสนองต่อกระแสรักษ์โลกที่เน้นการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยที่สุด

(5) Gut-healthy food  เป็นอาหารที่ช่วยปรับสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ อาทิ อาหารที่มีส่วนผสมของใยอาหาร โพรไบโอติกส์ พรีไบโอติกส์ โดยเฉพาะเครื่องดื่มคีเฟอร์และชาหมักคอมบูชา ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในสเปน

(6) อาหารออร์แกนิกและนวัตกรรม ชาวสเปนจำนวนมากพร้อมที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้สินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบที่ส่งเสริมความยั่งยืน และยังให้ความสำคัญกับการเลือกซื้ออาหารออร์แกนิกที่มีต้นกำเนิดจากพื้นที่ท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนผู้ผลิตในพื้นที่ ส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นและใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมถึง พิจารณาไปถึงคุณสมบัติของบริษัทผู้ผลิตที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งในการผลิต การจัดการขยะ หรือการใช้พลังงานทดแทนในกระบวนการผลิต เป็นต้น

อนึ่ง ผู้ประกอบการที่สนใจขยายตลาดอาหารมังสวิรัติและอาหารออร์แกนิกไทยในสเปนอาจพิจารณาเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่สำคัญ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ได้ทำความรู้จักกับตลาดสเปน รวมถึงคู่ค้าในตลาดแห่งนี้ให้มากขึ้น อาทิ 1) BioCultura วันที่ 3-6 พฤศจิกายน 2565 ณ กรุงมาดริด และ 4-7 พฤษภาคม 2566 ณ นครบาร์เซโลนา (http://www.biocultura.org/) 2) Salón Gourmets วันที่ 17-20 เมษายน 2566 ณ กรุงมาดริด (https://www.gourmets.net/home) และ 3) Organic Food Iberia 2023 วันที่ 7-8 มิถุนายน 2566 ณ กรุงมาดริด (https://www.ifema.es/organic-food-iberia)

 

ติดตามสาระดี ๆ เกร็ดความรู้ และโอกาสทางธุรกิจในสเปนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้ที่ https://bic-madrid.thaiembassy.org

 

[1] รายงานประจำปี 2565 เรื่องการผลิตอาหารออร์แกนิกในสเปน (Informe anual 2022 producción ecológica en España) ของสมาคมการผลิตอาหาร ออร์แกนิกสเปน Ecovalia

[2] รายงานอาหารจัดทำโดยบริษัท Food Barometer และสถาบัน Bord Bia

[3]  รายงาน the Green Revolution Analysis on Food Report 2021

[4] ข้อมูลจาก www.statistica.com และรายงาน the Green Revolution Analysis on Food Report 2021