ทำความรู้จักองค์กร IOSCO หรือองค์กร ก.ล.ต. นานาชาติในสเปน ตอนที่ 2 หญิงไทยมากความสามารถซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปฝึกงาน กับ IOSCO ในสเปน

ทำความรู้จักองค์กร IOSCO หรือองค์กร ก.ล.ต. นานาชาติในสเปน ตอนที่ 2 หญิงไทยมากความสามารถซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปฝึกงาน กับ IOSCO ในสเปน

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ก.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 ก.ย. 2563

| 2,221 view

IOSCO1

 

ก่อนอื่นไปทำความรู้จักกับสาวไทยคนเก่งคนนี้กันก่อนเลยค่ะ

ชื่อ ลลิดา ช่วยรักษ์  ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายยุทธศาสตร์และการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตอนนี้ ฝึกงานกับ IOSCO ในตำแหน่ง Implementation Monitoring Advisor ระหว่างมกราคม 2563 – มกราคม 2565 (ระยะเวลา 2 ปี) ค่ะ

 

อยากให้กล่าวถึง IOSCO ให้พวกเรารู้จักกันหน่อยค่ะ

IOSCO มีหน้าที่หลักในการกำหนดมาตรฐานสากลให้กับตลาดทุนทั่วโลก เพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแล (หรือหน่วยงานในลักษณะเดียวกับ ก.ล.ต. ไทย) นำไปใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแลตลาดทุนของตนเองให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ยุติธรรม และคุ้มครองผู้ลงทุนนอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งในระดับองค์กรที่ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานสากล (Standard Setting Bodies) และหน่วยงานกำกับดูแลด้วยกันเองค่ะ

 

บทบาทของ ก.ล.ต. ไทยในเวทีสากลของ IOSCO เป็นอย่างไรบ้างคะ

ก.ล.ต. ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ IOSCO ตั้งแต่ปี 2535 และมีส่วนร่วมและบทบาทสำคัญหลายด้านในเวทีสากล IOSCO อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ก.ล.ต.ไทยร่วมเป็นสมาชิกใน 4 คณะกรรมการ ได้แก่ 1) กลุ่มสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Regional Committee) 2) กลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Growth and Emerging Market Committee) 3) คณะกรรมการด้านมาตรฐานการกำกับบัญชี การตรวจสอบบัญชี และการเปิดเผยข้อมูล 4) คณะกรรมการด้านการคุ้มครองผู้ลงทุน รวมถึงงานด้านอื่น ๆ ของ IOSCO ด้วย

 

ทราบมาว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ไทยจะเป็นเจ้าภาพงานใหญ่ของ IOSCO

ใช่ค่ะ  ในปี 2565 ไทยได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุม IOSCO ประจำปี ซึ่งผู้เข้าร่วมเป็นผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานกำกับดูแล 115 ประเทศ รวมแล้วกว่า 1,000 คน  โดย ก.ล.ต. ไทยได้สมัครเพื่อเข้ารับการคัดเลือกล่วงหน้า 3 ปี และแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในทุก ๆ ด้าน เช่น สถานที่จัดประชุม โรงแรม ความปลอดภัย การสื่อสาร สถานที่ท่องเที่ยว และสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นต้น โดยมีประเทศออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพในปี 2562 ที่ผ่านมา และประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และโปรตุเกส จะเป็นเจ้าภาพในปี 2563-2564 ตามลำดับ การเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ และความพร้อมของประเทศไทย และมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มบทบาทเชิงรุกในเวทีโลกและสร้างความร่วมมือกับนานาชาติ รวมถึงประโยชน์ต่าง ๆ ต่อตลาดทุนไทยและประเทศในภาพรวม เช่น เป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงให้ไทยเป็นที่รู้จัก สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนไทยและต่างประเทศ อีกทั้งยังสนับสนุนเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และเผยแพร่วัฒนธรรม รวมถึงสนับสนุนอุตสาหกรรมการจัดประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติของไทยอีกด้วย

 

อยากให้เล่าถึงที่มาที่ไปของการได้เข้าไปฝึกงาน IOSCO ให้พวกเราทราบกันหน่อยค่ะ

เนื่องจาก IOSCO มีนโยบายสนับสนุนให้บุคลากรของหน่วยงานกำกับดูแลในแต่ละประเทศ ได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับทีมงานของ IOSCO และตัวแทนจากหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก  

ซึ่งการเข้าร่วมนี้ IOSCO จะพิจารณาคัดเลือกจากคุณสมบัติ ผ่านการสอบข้อเขียนเชิงวิชาการ และการสัมภาษณ์

โดยปัจจุบัน IOSCO มีพนักงานจาก ก.ล.ต. หลายประเทศเข้าร่วม อาทิ  อังกฤษ เกาหลี ญี่ปุ่น ไนจีเรีย มอริเชียส

เป็นต้น ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีบุคลากรจาก ก.ล.ต. ไทย ได้มีโอกาสเข้าร่วมทำงานกับ IOSCO

 

ทำไมจึงเลือกไปฝึกงานที่องค์กรนี้คะ

เพราะเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสายงานที่ตนเองรับผิดชอบในช่วงที่ทำงานฝ่ายยุทธศาสตร์และการต่างประเทศที่ ก.ล.ต. ไทย ทำให้มีความประสบการณ์ในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ IOSCO โดยตรง ประกอบกับมีความคุ้นเคยในการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ IOSCO จึงถือเป็นโอกาสอันดีของตนเองเมื่อ IOSCO ได้เปิดรับสมัคร และพิจารณาคัดเลือกรับบุคลากรจากประเทศไทยเข้าร่วมงาน

การได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรระดับนานาชาติ แม้จะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า และสามารถนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง นำไปพัฒนา และปรับใช้กับการทำงานของ ก.ล.ต. ไทยในอนาคตได้ค่ะ

 

ทำอะไรที่ IOSCO บ้างคะ

เป็นส่วนหนึ่งของ Implementation Monitoring Team ค่ะ ซึ่งทำหน้าที่

  1. บริหารจัดการงานด้านการประเมินผลตามมาตรฐานสากลร่วมกับคณะผู้ประเมิน และประเทศสมาชิก
  2. ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อการดำเนินงานร่วมกับองค์กร Standard Setting Bodies อื่น เช่น Financial Stability Board (FSB)
  3. รับผิดชอบงานของคณะกรรมการในระดับภูมิภาค (IOSCO Regional Committees) ทั้ง 4 คณะ ได้แก่ ภูมิภาค Africa / Middle-East, Asia-Pacific, Europe, และ Inter-America

 

ช่วงที่ COVID-19 แพร่ระบาดได้รับผลกระทบอะไรบ้างไหมคะ

พอรัฐบาลสเปนประกาศใช้ พรฎ. State of Alarm ตั้งแต่ 14 มีนาคม 2563 IOSCO ก็ได้ประกาศให้พนักงานทั้งหมดทำงานจากบ้าน (work from home) เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และแนวทางเดียวกับ ก.ล.ต. สเปน

 

นับตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา การทำงานทั้งหมดเป็นแบบ remote working การประชุมระหว่างประเทศต้องทำผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นความท้าทายทั้งของ IOSCO และหน่วยงานกำกับดูแลเอง เนื่องจากวิกฤตครั้งนี้ ถึงแม้จะเริ่มต้นจากภาวะโรคระบาด แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่วิกฤตด้านการเงินที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและต่อเนื่องกับภาคตลาดทุนและเศรษฐกิจโดยรวม ในภาวะเช่นนี้ หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกต้องทำงานอย่างหนัก

เพื่อช่วยกันรักษาเสถียรภาพ และดูแลให้ระบบการเงินและตลาดทุนทั่วโลกยังคงทำงานได้ และสนับสนุนภาคเศรษฐกิจโดยรวมต่อไป

 

จนถึงตอนนี้ คิดว่าได้ประสบการณ์อะไรจากการร่วมงานกับ IOSCO บ้างคะ

คิดว่า มี 3 ข้อใหญ่ ๆ นะคะ

  1. การได้เรียนรู้การทำงานจากองค์กรระหว่างประเทศ
  2. การได้ติดต่อประสานงานระหว่างประเทศสมาชิกต่าง ๆ ทั่วโลก
  3. การได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลายของแต่ละภูมิภาคทั่วโลก

 

และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งจากคำบอกเล่าของสาวไทยคนเก่ง คุณลลิดา ช่วยรักษ์ ซึ่งได้มีโอกาสเข้าไปแสดงความสามารถในองค์กรระดับโลกอย่าง IOSCO และเชื่อได้ว่าคุณหยี จะได้นำทั้งความรู้และประสบการณ์การทำงานกับผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมในองค์กรนี้ไปใช้ประโยชน์กับการทำงานใน ก.ล.ต. ของเธอต่อไปในอนาคต

 

ท้ายนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปนขอขอบคุณคุณลลิดา ช่วยรักษ์  ที่กรุณาสละเวลามาให้แบ่งปันเรื่องราวดี ๆ ของเธอกับ IOSCO ในวันนี้ค่ะ

 

 

ที่มาของภาพ https://www.iosco.org

อ่านเพิ่มเติม ทำความรู้จักองค์กร IOSCO หรือองค์กร ก.ล.ต. นานาชาติในสเปน ตอนที่ 1