วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ต.ค. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 ต.ค. 2563
องค์การน้ำแห่งสหประชาชาติ (UN Water) ระบุว่าภายในปี ค.ศ. 2025 ประชากรราว 2 พันล้านคนอาจเผชิญการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง แม้ว่าพื้นที่ร้อยละ 71 ของโลกจะถูกปกคลุมด้วยน้ำก็ตาม เนื่องจากร้อยละ 97.5 ของปริมาณน้ำทั้งหมดบนโลก เป็นน้ำทะเล ขณะที่น้ำจืดมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2.5 เท่านั้น
วิกฤติการณ์การขาดแคลนน้ำในอนาคต มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโลกที่ทำให้เกิดการใช้น้ำมากขึ้น รวมทั้งสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยเหตุนี้หลายประเทศจึงกำลังหาแนวทางเพื่อจัดหาแหล่งน้ำให้กับพลเมืองของตนเองได้ใช้อุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ และสอดรับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 6 “สร้างหลักประกันเรื่องน้ำและการสุขาภิบาล ให้มีการจัดการอย่างยั่งยืนและมีสภาพพร้อมใช้”
โรงงานผลิตน้ำจืด Torrevieja จังหวัด Alicante ประเทศสเปน ที่มีกำลังผลิตสูงสุดในอียู
ทั้งนี้ การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Desalination) หรือการแยกเกลือและแร่ธาตุออกจากน้ำทะเล ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหาที่กำลังได้รับความนิยมจากประเทศต่างๆ มากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งในวันนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด จะได้พาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับความก้าวหน้าของสเปนในด้านการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 1) ศักยภาพของสเปนในการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล และ 2) ธุรกิจการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลของบริษัทสเปนในต่างประเทศ
1) ศักยภาพของสเปนในการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล
สเปนถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านการจัดการน้ำครบวงจรระดับโลก โดยข้อมูลจากสมาคมการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลและการนำน้ำกลับมาใช้แห่งสเปน (La Asociación Española de Desalación y Reutilización - AEDyR) ระบุว่าในปี ค.ศ. 2018 สเปนมีกำลังการผลิตน้ำจืดมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหรัฐอเมริกา โดยมีโรงงานผลิตน้ำจืดด้วยกระบวนการ Desalination จำนวน 765 แห่ง แบ่งเป็นการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล 360 โรงงานและจากน้ำกร่อย 405 โรงงาน นอกจากนี้ สเปนยังเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ที่เมือง Torrevieja จังหวัด Alicante ด้วย
โดยเฉลี่ยแล้ว ในแต่ละวันสเปนสามารถผลิตน้ำจืดได้ถึง 5 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับประชากรถึง 34 ล้านคนเลยทีเดียว ทั้งนี้ น้ำประปาที่ผลิตในสเปนที่สามารถดื่มได้ ร้อยละ 5 เป็นการผลิตโดยผ่านกระบวนการ Desalination โดยหมู่เกาะคานารีของสเปนเป็นพื้นที่ที่ใช้กระบวนการนี้ในการผลิตน้ำจืดมากที่สุดเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว ขณะที่ ด้านเกษตรกรรม ร้อยละ 22 ของน้ำที่ใช้ในการทำเกษตรของสเปนโดยเฉพาะในเรือนกระจกก็มาจากกรรมวิธีนี้เช่นกัน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ที่ร้อยละ 3
โรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลในสเปน
สาเหตุที่ทำให้สเปนเป็นผู้นำด้านการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล
ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนานมามากกว่า 50 ปีและการพัฒนาด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมอย่างไม่หยุดยั้งทำให้สเปนเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมการผลิตน้ำจืดของโลกในปัจจุบัน โดยย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 1964 มีการจัดตั้งโรงงานผลิตน้ำจืดแห่งแรกที่เกาะ Lanzarote ในหมู่เกาะคานารีเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ (แต่เดิมในช่วงทศวรรษ 1960 การผลิตน้ำจืดจะใช้กระบวนการกลั่นหรือการระเหย โดยเทคโนโลยีที่สเปนใช้เป็นส่วนมากคือการกลั่นแฟลชหลายขั้นตอน (Multi-stage flash distillation))
ต่อมาในทศวรรษ 1970 อุตสาหกรรมการผลิตน้ำจืดในสเปนเริ่มมีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยในปี ค.ศ. 1975 สเปนได้เริ่มนำระบบรีเวิร์สออสโมซิส (Reverse Osmosis) มาใช้แทนระบบเดิมซึ่งช่วยประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายได้มากกว่า โดยเริ่มจากการผลิตน้ำจืดจากน้ำกร่อย จากนั้นในปี ค.ศ. 1982 ก็ได้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลขนาดเล็กด้วยระบบรีเวิร์สออสโมซิสที่เกาะ Lanzarote ในปี ค.ศ. 1986 สเปนได้ก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลขนาดใหญ่ Las Palmas III ที่ใช้ระบบรีเวิร์สออสโมซิส และเปิดใช้งานในปี ค.ศ. 1990 ซึ่งนับว่าเป็นโรงงานผลิตน้ำจืดด้วยระบบรีเวิร์สออสโมซิสที่ใหญ่ที่สุด ณ เวลานั้น ความสำเร็จของโรงงาน Las Palmas III ทั้งด้านการลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนและการปฏิบัติการ รวมทั้งลดการใช้พลังงาน ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำจืดถูกลง ทำให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตน้ำจืดเป็นอย่างมากไปยังพื้นที่อื่นของสเปน โดยในช่วงปลายทศวรรษ 90 สเปนมีการใช้ระบบรีเวิร์สออสโมซิสผลิตน้ำจืดถึงร้อยละ 82 ของกำลังการผลิตทั้งหมด ในขณะที่ทั่วโลกใช้กระบวนการกลั่นร้อยละ 45 ของกำลังการผลิต และอีกร้อยละ 55 ใช้กระบวนการเมมเบรน (Membrane Process) โดยมีรีเวิร์สออสโมซิสเป็นระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลที่สำคัญ
นอกจากเรื่องเทคโนโลยีที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สเปนยังให้ความสำคัญกับ 1) การศึกษาวิจัยเพื่อลดการใช้พลังงานและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมผลิตน้ำจืด (เช่นการลด CO2 จากการใช้พลังงานไฟฟ้าในการผลิตน้ำจืด การลดผลกระทบทางเสียงจากโรงงาน และการปล่อยทิ้งน้ำเค็มจัดจากโรงงานผลิตน้ำจืดสู่ทะเล เป็นต้น) 2) การบริหารจัดการน้ำ โดยในปี ค.ศ. 2004 กระทรวงสิ่งแวดล้อมสเปนได้ดำเนินโครงการ A.G.U.A. (Actuaciones para la Gestión y la Utilización del Agua) โดยสนับสนุนการจัดตั้งโรงงานผลิตน้ำจืดจำนวนถึง 27 แห่งเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับพื้นที่ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งได้ช่วยให้บริษัทสเปนได้มีโอกาสสั่งสม ความเชี่ยวชาญและพัฒนาด้านเทคโนโลยีจนสามารถก้าวไปสู่ตลาดนานาชาติได้
การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลนับว่าเป็นสาขาอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของสเปนเป็นอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งหากไม่มีการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลมาช่วยสนับสนุน สเปนก็จะไม่มีปริมาณน้ำจืดเพียงที่จะสามารถรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมากดังเช่นทุกวันนี้ (ในปี ค.ศ. 2019 สเปนต้อนรับนักท่องเที่ยวจำนวน 83.7 ล้านคนมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากฝรั่งเศส)
2) ธุรกิจการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลของบริษัทสเปนในต่างประเทศ
ตามข้อมูลของสมาคมการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลนานาชาติ (International Desalination Association - IDA) ระบุว่า 4 ใน 10 บริษัทผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลระดับโลกที่ได้รับการว่าจ้างมากที่สุดในโลกช่วงปี ค.ศ. 2006-2017 เป็นบริษัทสัญชาติสเปน โดยบริษัทสเปนมีความเชี่ยวชาญอันดับต้น ๆ ของโลกทั้งด้านการก่อสร้างและบริหารจัดการโรงงานผลิตน้ำจืดขนาดใหญ่ เช่น
นอกจากนี้ บริษัทสเปนยังเป็นผู้นำด้านการใช้พลังงานทดแทนสำหรับโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลด้วย ยกตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตน้ำจืด Beckton ที่กรุงลอนดอน (สหราชอาณาจักร) ที่มีจุดเด่นด้านการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตน้ำจืด สร้างโดยบริษัท Acciona เอกชนด้านพลังงานทดแทนชื่อดังในสเปน (เมื่อเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 2020 บริษัท Acciona ได้รับรางวัล WEX Global 2020 ประเภทนวัตกรรมการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลจากผลงานในโครงการ Life Dreamer ที่เมือง Girona แคว้นคาตาโลเนีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป) และล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา บริษัทของสเปน ชื่อ Abengoa ก็ยังได้รับรางวัล Global Water Awards 2020 ประเภทโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลแห่งปี (Desalination Plant of the Year) จากผลงานการสร้างโรงงานผลิตน้ำจืด Shuaibah ด้วยระบบรีเวิร์สออสโมซิส ในซาอุดีอาระเบีย โดยบริษัท Abengoa เป็นผู้รับผิดชอบด้านวิศวกรรม การจัดหาและก่อสร้างโครงการ
ด้วยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญอุตสาหกรรมการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล โดยเฉพาะระบบรีเวิร์สออสโมซิสและการใช้พลังงานทดแทน รวมทั้งผลงานในต่างประเทศ ระบบการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลของสเปนดังกล่าว จึงน่าจะเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยที่จะพัฒนาความร่วมมือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคโนโลยีในด้านดังกล่าวกับฝ่ายสเปน เพื่อให้เกิดการใช้น้ำอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ รวมถึงดึงดูดการลงทุนจากบริษัทสเปนในสาขาดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย เพื่อตอบสนองต่อการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคต
อนึ่ง ผู้สนใจเข้าร่วมการประชุมด้านการบริหารจัดการน้ำ ณ ประเทศสเปน อาจพิจารณาเข้าร่วมงาน WEX Global 2021- the Water & Energy Exchange: UNLOCKING THE POWER OF THE SMART CIRCULAR ECONOMY ที่จะจัดระหว่าง 28-30 มิถุนายน ค.ศ. 2021 ณ เมืองบาเลนเซีย (http://wex-global.com/) และงาน AEDyR International Congress ครั้งที่ 8 ที่เน้นเรื่องการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลและการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ ณ เมืองกอร์โดบาในปี ค.ศ. 2022 (https://aedyr.com/en/events/)
ติดตามสาระดี ๆ เกร็ดความรู้และโอกาสทางธุรกิจในสเปนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้ที่ https://bic-madrid.thaiembassy.org
ที่มาของภาพ
30 ส.ค. 2564