วันที่นำเข้าข้อมูล 18 มิ.ย. 2562
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 18 มิ.ย. 2562
หลายท่านอาจสงสัยกับคำว่า ท่าเรือบก ซึ่งแปลมาจากคำว่า Dry Port
ท่าเรือบก หมายถึง บริเวณพื้นที่ตอนในของประเทศที่มีการดำเนินการเป็นศูนย์โลจิสติกส์ ซึ่งทำหน้าที่เสมือนท่าเรือ (ยกเว้นการขนถ่ายสินค้า ขึ้น-ลงเรือ) เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในระบบตู้สินค้า และมีการเชื่อมโยงระบบการขนส่งตั้งแต่ 2 รูปแบบขึ้นไป โดยมีการขนส่งทางรางเป็นหลัก ปกติแล้ว กิจกรรมในท่าเรือบกจะประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนการตรวจปล่อยสินค้า และส่วนการให้บริการ นอกจากนี้ ยังอาจมีบริการด้านการเก็บพักตู้ การกระจายและรวบรมคอนเทนเนอร์ รวมทั้งบริการด้านพิธีการศุลกากรด้านการผ่านพิธีการใบขนสินค้า การชำระเงินและตรวจปล่อยสินค้าทั้งขาเข้าและขาออก ตลอดจนสินค้าถ่ายลำและผ่านแดนแบบครบวงจรเบ็ดเสร็จ (One-stop Service) ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบสินค้าในคอนเทนเนอร์ด้วย
เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคหรือกลุ่มประเทศ CLMV ให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างครบวงจร รวมทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถให้เกิดความรวดเร็วและคล่องตัวในการขนส่ง และสร้างความได้เปรียบให้กับผู้ประกอบการไทย รัฐบาลไทยจึงมีแผนที่จะพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ให้เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะตอบสนองความต้องการในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของไทย เพื่อสนับสนุนการให้บริการของท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง โดยการพัฒนาการขนส่งทางราง พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งศูนย์บริการด้านโลจิสติกส์ ตามแนวเส้นทางยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงฐานอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมหลักของประเทศไปยังประตูการค้าที่สำคัญ
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เล็งเห็นถึงประสิทธิภาพการให้บริการของท่าเรือบกในสเปน ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้ระบบท่าเรือบกเพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์โลจิสติกส์ด้านการขนส่ง โดยการอำนวยความสะดวกให้กับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศด้วยการลดภาระงานของท่าเรือทางทะเลและให้บริการด้านการขนส่งด้วยระบบรางหรือถนนที่มีความยั่งยืนและคุ้มทุนสูง เป็นการขยายพื้นที่หลังท่า (hinterland) และนำกิจกรรมบริเวณท่าเรือเข้าใกล้ศูนย์กลางของแผ่นดินใหญ่มากขึ้น จึงได้เดินทางไปศึกษาดูงานท่าเรือบกของสเปนเพื่อนำรูปแบบไปปรับใช้ในการดำเนินการก่อสร้างและให้บริการท่าเรือบกในประเทศไทย โดยคณะได้ไปศึกษาดูงานที่ท่าเรือบกหลัก ๆ ของสเปน คือ
ท่าเรือบกเมืองกอสลาดา
ท่าเรือบกเมืองกอสลาดา ก่อตั้งเมื่อปี 2538 ตั้งอยู่ห่างจากท่าอากาศยานบาราคัส กรุงมาดริดออกไปประมาณ 6 กิโลเมตร ในบริเวณเขตอุตสาหกรรมที่เป็นศูนย์กลางระบบขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศ ท่าเรือบกแห่งดังกล่าวให้บริการขนถ่ายสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกระหว่างท่าเรือที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะท่าเรือเมืองบาเลนเซีย และท่าเรือนครบาร์เซโลนากับกรุงมาดริด โดยใช้ข้อได้เปรียบจากที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ใกล้กรุงมาดริด ประกอบกับใช้ประโยชน์จากระบบเครือข่ายระบบรางและถนนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงข้อได้เปรียบในแง่ต้นทุนค่าใช้พื้นที่ ทำให้สินค้านำเข้าและส่งออกไปและจากกรุงมาดริด เลือกเส้นทางขนส่งผ่านท่าเรือบกแห่งนี้ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าของตน
ท่าเรือบกเมืองกอสลาดาแห่งนี้บริหารงานในลักษณะโครงการร่วมภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership) โดยมีภาครัฐ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เทศบาลเมืองกอสลาดา การท่าเรือสเปน ร่วมเป็นเจ้าของพื้นที่และให้สัมปทานแก่ภาคเอกชน เข้าไปบริหารงานท่าเรือบก โดยผู้รับสัมปทานรายปัจจุบันคือบริษัท Conterail ซึ่งจะบริหารงานท่าเรือบกเมืองกอสลาดาไปจนถึงปี 2571
แผนที่ที่ตั้งท่าเรือบกเมืองกอสลาดาและท่าเรือบกแห่งอื่น ๆ รอบกรุงมาดริด
ปัจจุบัน ท่าเรือบกเมืองกอสลาดามีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 115,000 ตารางเมตร อีกทั้งยังมีพื้นที่รางรถไฟและที่ว่างสำหรับจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ โดยมีความสามารถในการรองรับการใช้งานได้ถึง 190,000 TEUs ต่อปี เปิดให้บริการการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ ชั่งน้ำหนัก ให้บริการโกดังสินค้า และดำเนินกระบวนการทางศุลากรแก่ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกสินค้าจากทั่วทุกมุมโลก ทั้งนี้ เมื่อปี 2560 ท่าเรือบกแห่งนี้ ให้บริการขนส่งสินค้าปริมาณ 117,888 TEUs และคาดว่า ปริมาณรวมในปี 2561 จะเพิ่มขึ้นเป็น 131,000 TEUs
กิจการท่าเรือบอกในสเปน ถือว่าตอบสนองความต้องการของธุรกิจในประเทศได้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากการที่มีการเปิดให้บริการท่าเรือบกอีกหลายแห่งรอบ ๆ กรุงมาดริด ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของสเปน อาทิ ท่าเรือบกอาซูเกกา เด เอนาเรส รวมถึงแผนการก่อสร้างท่าเรือบกเพิ่มเติมในบริเวณเดียวกันนี้ เช่น ท่าเรือบกเมืองอารันคูเอซ เป็นต้น
ท่าเรือบกเมืองซาราโกซา
ท่าเรือบกเมืองซาราโกซา (Terminal Marítima Zaragoza - TMZ) ตั้งอยู่ในพื้นที่ Mercazaragoza ซึ่งเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของเมืองบาเญ เดล เอโบร จังหวัดซาราโกซา แคว้นอารากอน ที่มีที่ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ระหว่าง 4 เมืองเศรษฐกิจและท่าเรือหลักของสเปน ได้แก่ กรุงมาดริด นครบาร์เซโลนา เมืองบิลเบา และเมืองบาเลนเซีย อีกทั้งตั้งอยู่ไม่ไกลจากชายแดนฝรั่งเศส จึงสามารถเป็นทางผ่านสำคัญของสินค้าจากยุโรปใต้ (สเปนและโปรตุเกส) ไปสู่ประเทศอื่นในยุโรปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ท่าเรือบกเมืองซาราโกซา
ท่าเรือบกแห่งนี้ เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2544 จากการผลักดันของ Mercazaragoza และท่าเรือนครบาร์เซโลนา โดยมีเป้าหมายส่งเสริมกิจการการนำเข้าและส่งออกของแคว้นอารากอนและพื้นที่โดยรอบ โดยให้บริการขนถ่ายตู้สินค้า จัดเก็บและทำความสะอาดตู้สินค้า รวมถึงให้บริการด้านกระบวนการทางศุลกากร เช่นเดียวกับท่าเรือบกเมืองกอสลาดา เมื่อปี 2560 ปริมาณตู้สินค้าที่ผ่านการให้บริการของท่าเรือบกแห่งนี้ สูงถึง 350,000 TEUs โดยส่วนใหญ่ เป็นสินค้าประเภทเกษตรกรรมและอาหาร เนื่องจากท่าเรือแห่งนี้มีบริการขนถ่ายสินค้าด้วยตู้สินค้าควบคุมอุณหภูมิความเย็น จึงทำให้สินค้าอาหารถึงมือผู้บริโภคอย่างมีคุณภาพ
นอกจากข้อได้เปรียบที่ตั้งและการให้บริการตู้สินค้าควบคุมความเย็นแล้ว จุดขายของท่าเรือบกแห่งนี้ ยังมีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายระบบขนส่งทั้งในและนอกประเทศที่มีประสิทธิภาพ เช่น เชื่อมต่อกับทางด่วนบาสโก-อาราโกเนซา ทางหลวงมาดริด-ซาราโกซา ทางด่วนซาราโกซา-บาร์เซโลนา นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงกับระบบการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างยุโรปกับจีน โดยรถไฟขนส่งสินค้าขบวนแรกออกจากท่าเรือบกซาราโกซาไปมณฑลซินเจียงประสบความสำเร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 24 วัน
รูปแบบการบริหารงานของท่าเรือบกแห่งนี้ ก็เป็นการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐกับเอกชนเช่นกัน โดยมีรัฐเป็นเจ้าของพื้นที่และระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในท่าเรือบก ขณะที่ภาคเอกชนเป็นผู้เข้าไปบริหารงานด้านการขนส่งสินค้าภายในท่าเรือบกแห่งนี้
เครือข่ายความเชื่อมโยงของท่าเรือบกซาราโกซากับเส้นทางหลวงของประเทศ
นอกจากท่าเรือบกเมืองกอสลาดาและท่าเรือบกเมืองซาราโกซา ซึ่งเป็นท่าเรือบกที่สำคัญทางตอนกลางของประเทศแล้ว สเปนยังมีท่าเรือบกที่สำคัญอีกหลายแห่งที่รองรับการให้บริการขนถ่ายในสินค้าเข้าและออกจากพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศอย่างครอบคลุม อาทิ ท่าเรือบกเมืองซันตานเด ท่าเรือบกเมืองบูร์โกส จึงเห็นได้ว่า สเปนเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นด้านระบบการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ ซึ่งนอกจากจะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกผ่าน “ท่าเรือบก” ให้ถึงมือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วแล้ว ระบบดังกล่าวยังเป็นต้นแบบให้กับการพัฒนาการบริการท่าเรือบกในประเทศไทยให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้งานการขนส่งสินค้าในประเทศไทย และพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในอาเซียนได้อีกด้วย
9 มกราคม 2562