เว็บไซต์ INVEST IN SPAIN (http://www.investinspain.org) เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการลงทุนและการดำเนินธุรกิจในประเทศสเปน ได้ระบุเหตุผล 6 ข้อที่นักลงทุนต่างชาติควรเลือกลงทุนในประเทศสเปนไว้ดังนี้[1]
1. เป็นตลาดที่น่าสนใจ สเปนเป็นตลาดที่มีประชากร 46 ล้านคน และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือน 75.3 ล้านคนในปี ค.ศ. 2016 ซึ่งถือว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ดัชนีผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่อันดับที่ 13 ของโลกและอันดับที่ 5 ของสหภาพยุโรป (EU) และโดยที่สเปนเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป นักลงทุนต่างชาติสามารถใช้สเปนเป็นประตูการค้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป ซึ่งมีประชากร 500 ล้านคนและมีรายได้ต่อหัว 29,851 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ นักลงทุนยังได้รับสิทธิประโยชน์หลายประการ อาทิ การใช้ระบบเงินตราสกุลเดียว ไม่มีกำแพงภาษีระหว่างประเทศสมาชิกใน EU การเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุนและประชากรอย่างเสรี สเปนยังสามารถเป็นประตูการค้าไปสู่พื้นที่แถบเมดิเตอร์เรเนียน แอฟริกาเหนือ และลาตินอเมริกาซึ่งมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับสเปน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ ภาษา และวัฒนธรรม
2. ศูนย์รวมของธุรกิจต่างชาติ
-
ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของสเปน
-
สเปนมีที่ตั้งที่เหมาะแก่การทำธุรกิจกับตลาดยุโรป ลาตินอเมริกา และแอฟริกาเหนือ ซึ่งมีจำนวนผู้บริโภครวมกันกว่า 1,300 ล้านคน
-
มีบริษัทต่างชาติมากกว่า 12,800 บริษัทในสเปน โดย 70 บริษัทอยู่ในรายชื่อ 100 บริษัทข้ามชาติชั้นนำของนิตยสาร FORBES
-
สาธารณูปโภคและการคมนาคมที่ทันสมัย
-
ท่าอากาศยาน: สเปนเป็นประเทศอันดับที่ 3 ของยุโรปด้านการเดินทางทางอากาศ ท่าอากาศยานกรุงมาดริดและนครบาร์เซโลนาจัดถูกอยู่ใน 10 ท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป
-
ท่าเรือ: สเปนจัดอยู่ในอันดับ 3 ของยุโรปในการขนส่งทางเรือ โดยรัฐเป็นเจ้าของท่าเรือหลัก
-
ถนน: สเปนเป็นอันดับ 1 ของยุโรปในด้านเครือข่ายถนน-ทางด่วน ระยะทางรวมของถนนในสเปนถือว่ามีสัดส่วนที่สูง (5.9%) เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของ EU (1.2%) สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น (0.6%)
-
รถไฟ: สเปนมีเครือข่ายรถไฟที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศ EU ดั้งเดิม หรือ EU-15 (15,500 กิโลเมตร) และเป็นผู้นำของโลกในด้านรถไฟความเร็วสูง โดยสเปนเป็นประเทศอันดับ 1 ของยุโรปเรื่องระยะทางการให้บริการของรถไฟความเร็วสูงที่ยาวถึง 2,515 กิโลเมตร และเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากจีนและญี่ปุ่น ปัจจุบัน สเปนได้เข้าไปลงทุนในสาขาระบบราง รถไฟ รถไฟความเร็วสูงในประเทศต่าง ๆ เนื่องจากมี เทคโนโลยี ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก อาทิ โครงการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เชื่อมต่อระหว่างนครเมกกะกับเมืองเมดินาของซาอุดีอาระเบีย ระยะทาง 450 กม. เส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เชื่อมระหว่างอังการาและอีสตันบูล ระยะทาง 206 กม. เส้นทางรถไฟใต้ดินที่กรุงริยาดซาอุดีอาระเบีย ระยะทาง 65 กม. เส้นทางรถไฟใต้ดิน ที่กรุงลิมา ประเทศเปรู ระยะทาง 27 กม. ล่าสุด เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2560 บ. OHL ของสเปนเพิ่งชนะการประกวดราคาโครงการปรับปรุงถนนมอเตอร์เวย์ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐ ฯ
3. สภาพเอื้อเฟื้อต่อการลงทุน
-
ค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจในสเปน เช่น อัตราค่าจ้าง ค่าเช่าคลังสินค้าและสำนักงานไม่สูงมากเมื่อเทียบกับตลาดยุโรปอื่น ๆ
-
ระบบภาษี
-
อัตราภาษีของสเปนอยู่ในระดับปานกลาง และน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ EU 27 และยูโรโซน
-
อัตราภาษีนิติบุคคล (อัตราภาษีปีล่าสุด ค.ศ. 2016)[2]:
-
อัตราร้อยละ 25 สำหรับบริษัททั่วไป
-
อัตราร้อยละ 15 สำหรับผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มกิจการ
-
อัตราร้อยละ 25 สำหรับบริษัท SMEs
-
อัตราร้อยละ 20 และ 25 สำหรับวิสาหกิจรายย่อย
-
อัตราร้อยละ 20 สำหรับสหกรณ์
-
มีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทที่ดำเนินการด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม (R&D&I)
-
สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน
-
รัฐบาลสเปนให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อส่งเสริมการสร้างงานประจำ การลงทุนในด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม (R&D&I)
-
สิทธิประโยชน์สำหรับการอบรมและการจ้างงานพนักงานบางประเภท
-
สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพื่อกระตุ้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
-
สเปนได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากยุโรป เนื่องจากเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป อาทิ กองทุนยุโรปเพื่อการลงทุนแบบยุทธศาสตร์ (European Fund for Strategic Investment - EFSI)[3] ในการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานเชิงนวัตกรรมและสนับสนุนธุรกิจ SMEs และโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมของสหภาพยุโรป Horizon 2020[4]
4. แรงงานสเปนมีคุณภาพสูง ในไตรมาสที่ 4 ของปี ค.ศ. 2016 สเปนมีจำนวนประชากรวัยทำงาน22,745,900 คน[5] และเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของยุโรปที่มีประชากรมีการศึกษาสูง
5. ระบบการโทรคมนาคมที่ทันสมัย
-
สเปนเป็นผู้นำของยุโรปด้านการใช้บรอดแบนด์ในบริษัท (ร้อยละ 97 ของบริษัทมีอินเตอร์เนตใช้ และร้อยละ 99 ใช้บรอดแบนด์) ร้อยละ 64 ของบริษัทมีหน้าเว็บไซต์และร้อยละ 70 ทำการติดต่อหรือประสานงานทางออนไลน์
-
จากการจัดอันดับของ UN E-Government Survey 2016[6] พบว่าสเปนอยู่ในอันดับที่ 17 ของโลกด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index: EGDI) และอันดับที่ 7 ของโลกด้านการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Participation Index)
6. คุณภาพชีวิตที่เป็นเลิศ
-
จากการจัดอันดับของ HSBC Expat Explorer Survey ปี ค.ศ. 2016 พบว่าสเปนเป็นประเทศที่คนต่างชาติให้คะแนนเป็นอันดับ 2 ของโลกด้านประสบการณ์ในต่างแดน (การตั้งถิ่นฐาน ผู้คน และวิถีชีวิต) และอันดับที่ 16 ของโลกหากพิจารณาเกณฑ์การประเมินทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านเศรษฐกิจ (อาชีพการงาน เศรษฐกิจท้องถิ่น การบริหารการเงินส่วนบุคคล) 2) ประสบการณ์ (การตั้งถิ่นฐาน ผู้คนและวิถีชีวิต) และ 3) ครอบครัว (ความสัมพันธ์ การศึกษาและการดูแลเด็ก การอบรมเลี้ยงดูเด็ก)[7]
-
สเปนมีระบบการสาธารณสุขที่ทันสมัยและมีคุณภาพเป็นเลิศ
-
สเปนมีระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันสำหรับประชาชนและการดำเนินธุรกิจ
-
สเปนมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและมีประวัติศาสตร์อันยาวนานหลายแห่ง
-
อาหารสเปนเป็นที่นิยมในระดับนานาชาติ
-
ในปี ค.ศ. 2015 สเปนมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกและมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเป็นอันดับ 3 ของโลกเช่นกัน[8]
13 กุมภาพันธ์ 2560
[1]ที่มาของข้อมูล http://www.investinspain.org/invest/es/por-que-espana/index.html
[2] El impuesto sobre sociedades: http://infoautonomos.eleconomista.es/fiscalidad/impuesto-de-sociedades/
[3] The European Fund for Strategic Investments (EFSI): http://www.eib.org/efsi/
[4] Horizon 2020 The EU Framework Programme for Research and Innovation: https://ec.europa.eu/programmes/horizon2020/en
[5] Instituto Nacional de Estadística (NIE): http://www.ine.es/prensa/epa_tabla.htm
[6] UN E-Government Survey 2016: http://workspace.unpan.org/sites/Internet/Documents/UNPAN96407.pdf
[7] HSBC Expat Explorer Survey: https://www.expatexplorer.hsbc.com/survey/countries
[8] World Tourism Organization (UNWTO): http://www.e-unwto.org/doi/pdf/10.18111/9789284418145
ที่มาของภาพ 20minutos.es