ตามติดเทรนด์น้ำมันปาล์มในสเปน

ตามติดเทรนด์น้ำมันปาล์มในสเปน

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ก.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,181 view

น้ำมันปาล์มกลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ เพราะสหภาพยุโรปกำลังมองว่าอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มมีส่วนในการตัดไม้ทำลายป่า ทำลายที่อยู่อาศัยของคนพื้นถิ่นและสัตว์ป่า รวมทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับพืชชนิดอื่น

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 คณะกรรมาธิการยุโรป รัฐสภายุโรปและคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปบรรลุข้อตกลงต่อร่างข้อบังคับเรื่องการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Directive: RED II) ซึ่งเห็นชอบให้กำหนดสัดส่วนที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะสามารถใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่เสี่ยงต่อการทำลายป่า (High Indirect Land Use Change (ILUC) risk) โดยจะค่อย ๆ ลดสัดส่วนจนเหลือศูนย์ภายในปี 2573 โดยมิได้เจาะจงเฉพาะกับน้ำมันปาล์ม อย่างไรก็ดี น้ำมันปาล์มน่าจะเป็นพืชที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ประกอบกับเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 คณะกรรมาธิการยุโรปเพิ่งเห็นชอบร่างกฎเกณฑ์เพิ่มเติม (Delegated Act) เรื่องการประเมินความเสี่ยงของเชื้อเพลิงชีวภาพประเภทต่าง ๆ ซึ่งเชื้อเพลิงชีวภาพจากน้ำมันปาล์มถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการทำลายป่า ประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรวมถึงไทยจึงได้พยายามที่จะกดดันให้สหภาพยุโรปปรับเปลี่ยนนโยบายดังกล่าว เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ผลิตน้ำมันปาล์มภายในประเทศ

ไทยเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ซึ่งสามารถผลิตได้ 1.8 ล้านตันหรือร้อยละ 2.93 ของผลผลิตน้ำมันปาล์มโลก แม้ว่าไทยอาจได้รับผลกระทบทางตรงจากมาตรการดังกล่าวน้อยกว่าสองผู้ผลิตน้ำมันปาล์มหลักของโลกอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งผลิตได้ 33 ล้านตันและ 19.8 ล้านตันตามลำดับ และไทยส่งออกน้ำมันปาล์มไปยังสหภาพยุโรปเพียงเล็กน้อย แต่อุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันปาล์มของไทยก็คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากมาตรการดังกล่าวได้

ในวันนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด จะมานำเสนอเทรนด์น้ำมันปาล์มในสเปน 2 มิติ ทั้งด้านพลังงานและอาหาร เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยรับทราบแนวโน้มและความต้องการของตลาดสเปนกัน

ในปี 2560 สหภาพยุโรปนำเข้าน้ำมันปาล์มมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอินเดียด้วยปริมาณ 10 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 6 พันล้านยูโร โดยร้อยละ 75 เป็นการนำเข้าจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย และนำไปใช้สำหรับผลิตไบโอดีเซล (ร้อยละ 46) ใช้ผลิตอาหารคน อาหารสัตว์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรม (ร้อยละ 45) และผลิตพลังงานไฟฟ้าและความร้อน (ร้อยละ 9)

หากเจาะลึกในส่วนของสเปน ข้อมูลล่าสุดระบุว่าในปี 2560 สเปนนำเข้าน้ำมันปาล์มประมาณ 1.9 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1,238.1 ล้านยูโร ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.3 และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.7 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 ถือเป็นปริมาณการนำเข้าที่มากเป็นอันดับสองในสหภาพยุโรป รองจากเนเธอร์แลนด์ โดยนำเข้าจากอินโดนีเซีย (ร้อยละ 72.2) มาเลเซีย (ร้อยละ 12.2) และโคลอมเบีย (ร้อยละ 6.2) น้ำมันปาล์มที่นำเข้าถูกนำมาใช้สำหรับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ (ร้อยละ 83) อุตสาหกรรมการผลิตอาหารคน (ร้อยละ 10.3) และอุตสาหกรรมการผลิตโอลีโอเคมีคอล (Oleochemical Industry อาทิ การผลิตน้ำหอม สบู่ ครีม ลิปสติก ผงซักฟอก) และอาหารสัตว์ (ร้อยละ 6.7)

ด้านมิติพลังงาน มาตรการของสหภาพยุโรปอาจส่งผลกระทบต่อสเปน เพราะมากกว่าร้อยละ 50 ของไบโอดีเซล และร้อยละ 98.46 ของไฮโดรไบโอดีเซล (Hydrobiodiesel) ที่ผลิตในสเปนทำมาจากน้ำมันปาล์ม นอกจากนี้ สเปนเป็นผู้ผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มหลักของสหภาพยุโรป โดยนำเข้าน้ำมันปาล์มปริมาณ 1.53 ล้านตัน หรือร้อยละ 83 ของการนำเข้าทั้งหมดเพื่อมาใช้สำหรับผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับภาคขนส่งและพลังงาน โดยผลผลิตรวมของ 3 ประเทศ อย่างสเปน อิตาลีและเนเธอร์แลนด์มีสัดส่วนร้อยละ 80 ของไบโอดีเซลที่ผลิตได้ในสหภาพยุโรปเลยทีเดียว ซึ่งน้ำมันปาล์มที่มาใช้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพในสเปนทั้งหมดจำเป็นต้องได้รับมาตรฐาน ISCC (International Sustainability and Carbon Certification) ตามกฎข้อบังคับ RED ของสหภาพยุโรป

ISCC คือมาตรฐานการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน (sustainability) และสามารถสืบย้อนตลอดห่วงโซ่ การผลิต (traceability) โดยบริษัทผู้นำเข้านำมันปาล์มของสเปนได้ยึดปฏิบัติตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรปด้วย ดังนั้น จึงเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการน้ำมันปาล์มของไทยควรให้ความสนใจ เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีผู้ประกอบการไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าว  

บริษัท Repsol ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในสเปนและนำเข้าน้ำมันปาล์มเพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพอันดับ 1 ของประเทศ ด้วยปริมาณ 7 แสนตัน/ปี รวมทั้งนำเข้า palm oil residue 3 แสนตัน/ปี โดยนำเข้าจากอินโดนีเซียและมาเลเซียเป็นหลัก เผยว่าสนใจนำเข้า palm oil residue จากไทยโดยเฉพาะ Palm Fatty Acid Distillate (PFAD) Free Fatty Acid (FFA) และ Palm Oil Mill Effluent (POME) บนเงื่อนไขที่ว่าผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกจากไทยต้องได้รับรองมาตรฐาน ISCC เสียก่อน นี่จึงเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขอรับรองมาตรฐานดังกล่าวเพื่อสามารถทำธุรกิจและส่งออกสินค้าไปยังบริษัทในสหภาพยุโรปอย่างบริษัท Repsol  

ในส่วนของมิติอาหาร สเปนนำเข้าน้ำมันปาล์มเพื่ออุตสาหกรรมการผลิตอาหารปริมาณ 1.9 แสนตันหรือคิดเป็นร้อยละ 10.3 ของการนำเข้าทั้งหมด โดยแบ่งเป็นน้ำมันปาล์ม 1.69 แสนตันและน้ำมันจากเนื้อในเมล็ดปาล์ม (palm kernel oil) 2 หมื่นตัน โดยนำมาใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร อาทิ เนยเทียม คุ้กกี้ เบเกอรี่ เค้ก ไอศกรีม ซอสช็อกโกแลต อาหารเตรียมสำเร็จ (prepared foods) ขนมทานเล่น เป็นต้น และในแต่ละปีชาวสเปนบริโภคน้ำมันปาล์มและน้ำมันจากเนื้อในเมล็ดปาล์มรวม 3.77 กิโลกรัม/ปี หรือ10.32 กรัม/วัน[1]

การใช้วัตถุดิบจากน้ำมันปาล์มที่ได้รับมาตรฐานความยั่งยืนในสเปนเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากสถิติปี 2561 พบว่าร้อยละ 43.7 ของน้ำมันปาล์มและร้อยละ 18 ของน้ำมันจากเนื้อในเมล็ดปาล์มที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมอาหารที่วางขายในท้องตลาดสเปนได้รับมาตรฐาน CSPO (Certified Sustainable Palm Oil) ซึ่งมากกว่าปี 2559 ที่มีเพียงแค่ร้อยละ 23.7 และร้อยละ 14.9 ตามลำดับ แต่มิได้หมายความว่าน้ำมันปาล์มและน้ำมันจากเนื้อเมล็ดปาล์มที่เหลือไม่ได้มาผ่านกรรมวิธีการผลิตอย่างยั่งยืน เพียงแค่ว่าน้ำมันเหล่านี้ไม่ได้รับมาตรฐานความยั่งยืนเท่านั้น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผู้บริโภคสเปนหลายคนตื่นตัวกับกระแสการบริโภคน้ำมันปาล์มเนื่องจากข้อกังวลด้านสุขภาพ ทำให้ผู้ประกอบการบางรายเลือกใช้คำอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการระบุคำว่า “น้ำมันปาล์ม” (aceite de palma ในภาษาสเปน) ที่ฉลากสินค้าแทน[2] และผู้ผลิตบางรายก็ติดฉลาก “no palm oil” (sin aceite de palma ในภาษาสเปน) บนสินค้าไปเลย ในปี 2560 จึงมีการจัดตั้งมูลนิธิน้ำมันปาล์มยั่งยืนสเปน (Fundación Española del Aceite de Palma Sostenible) ขึ้นมา โดยประสานงานร่วมกับองค์กร European Palm Oil Alliance (EPOA) และองค์กร RSPO เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางด้านการวิจัย เผยแพร่ความรู้ทางวิชาการบนหลักการทางวิทยาศาสตร์เรื่องน้ำมันปาล์มให้สังคมสเปนได้ทราบและเข้าใจอย่างถูกต้องในหลายประเด็น อาทิ ข้อเท็จจริงเรื่องโภชนาการ คุณประโยชน์ของน้ำมันปาล์มต่อสุขภาพ การเพาะปลูกปาล์มน้ำมันและผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน เป็นต้น และเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทต่าง ๆ จึงมีข้อตกลงกันว่าบริษัทต่าง ๆ จะนำเข้าน้ำมันปาล์มที่มาจากการปลูกและผลิตอย่างยั่งยืน รวมทั้งจะส่งเสริมให้บริษัทอื่น ๆ หันมาใช้น้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนด้วย

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกน้ำมันปาล์มดิบหรืออาหารที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มควรปฏิบัติตามมาตรฐานความยั่งยืนที่ยอมรับกันในระดับสากลและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ผู้บริโภคในยุโรปต้องการน้ำมันปาล์มที่ได้รับรองมาตรฐานความยั่งยืน อาทิ Certified Sustainable Palm Oil (CSPO), Rainforest Alliance และ International Sustainability and Carbon Certification (ISCC)

อนึ่ง ในปัจจุบัน มีหน่วยงาน/องค์กรสเปนมากกว่าร้อยแห่งที่เป็นสมาชิก Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) ซึ่งมุ่งมั่นเรื่องการผลิตปาล์มน้ำมันยั่งยืนและใช้น้ำมันปาล์มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อชุมชน โดยสามารถค้นหาสมาชิกองค์กร RSPO จากสเปนได้จาก https://rspo.org/members/all นอกจากนี้ ในส่วนของมูลนิธิน้ำมันปาล์มยั่งยืนสเปนก็มีสมาชิกทั้งจากในสเปนและต่างประเทศ โดยสมาชิกจากสเปนประกอบด้วยบริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลต Ferrero Ibérica S.A. บริษัทผู้ผลิตเนยเทียม สินค้าเบเกอรี่และอาหาร Gracomsa Alimentaria บริษัทกลั่นน้ำมันและไขมัน Lipsa และบริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง Natra ซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจเข้าไปศึกษารายละเอียดของบริษัทเหล่านี้ เพื่อเปิดตลาดธุรกิจกับสเปนต่อไป

สามารถติดตามข่าวสาร โอกาส ช่องทางการประกอบธุรกิจ และสาระดี ๆ เกี่ยวกับสเปนได้ที่ http://www.thaiembassy.org/bic.madrid/



[1] โดยแบ่งเป็นการบริโภคน้ำมันปาล์ม 3.32 กิโลกรัม/ปี และน้ำมันจากเนื้อในเมล็ดปาล์ม 0.449 กิโลกรัม/ปี 

[2] อาทิ น้ำมันจากเนื้อในเมล็ดปาล์ม (aceite de palmiste) ไขมันพืชจากกระบวนการแยกและเติมไฮโดรเจนในน้ำมันจากเนื้อในเมล็ดปาล์ม (grasa vegetal fraccionada e hidrogenada de palmiste) ปาล์มสเตียริน (estearina de palma) หรือไขมันปาล์ม (manteca de palma)

 

 

ที่มาของภาพ

  • https://www.alimente.elconfidencial.com/nutricion/2018-07-13/la-batalla-del-aceite-de-palma_1591776/
  • https://aceitedepalmasostenible.es/nace-la-fundacion-espanola-del-aceite-de-palma-sostenible/
  • https://www.iscc-system.org/

 

2 กรกฎาคม 2562