วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ม.ค. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
หลังจากที่ทั่วโลกประสบกับผลกระทบจากการพัฒนาที่ขาดความสมดุล ประชาคมโลกจึงได้ร่วมกันสร้างเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย (Sustainable Development Goals: SDGs) เมื่อปี ค.ศ. 2015 เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชากรโลก สร้างความเท่าเทียม ขจัดปัญหาความยากจน และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า เพื่อมุ่งไปสู่การสร้างสังคมที่ยั่งยืนในอีก 15 ปีข้างหน้าหรือในปี ค.ศ. 2030
ความยั่งยืนได้กลายเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกที่มีขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากระบบทุนนิยมสุดโต่งที่เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ยกระดับศักยภาพความยั่งยืนของโลก ตอบสนองผลประโยชน์ทั้งภาคธุรกิจ มนุษย์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายความว่าธุรกิจที่ดีไม่ได้วัดกันที่ตัวเลขเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังคำนึงถึงความยั่งยืนของธุรกิจนั้นในแง่ของการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้โลกน่าอยู่มากยิ่งขึ้น
ในภาคธุรกิจสเปน มีหลายบริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งวันนี้ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สังกัดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ขอนำตัวอย่างธุรกิจความยั่งยืนในสเปน 3 สาขา มาให้ผู้อ่านได้รู้จัก ได้แก่
1) เฟอร์นิเจอร์ LUFE (LUFE = Local, Universal, Fuctional และ Ecological) เป็นแบรนด์จากจังหวัดกิปุซโกอา แคว้นบาสก์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของสเปน ได้รับฉายาว่าเป็น “Ikea แห่งแคว้นบาสก์”ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้สนเนื้อแข็งที่ได้มาจากป่าท้องถิ่นซึ่งมีมาตรฐาน PEFC เป็นตัวการันตีว่าไม้ที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์มาจากป่าที่มีระบบการจัดการอย่างยั่งยืน LUFE เป็นธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยคนในพื้นที่ให้มีรายได้ และป้องกันการตัดไม้อย่างผิดกฎหมาย เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่มีสไตล์เรียบง่าย ใช้งานง่าย และประกอบเองได้ ราคาไม่แพง จึงเป็นที่นิยมของลูกค้า (เว็บไซต์ https://muebleslufe.com/)
ตัวอย่างเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ LUFE
2) เครื่องดื่ม บริษัท Auara มีโมเดลธุรกิจ Social Enterprise (กิจการเพื่อสังคม) และเป็นบริษัทเครื่องดื่มแบรนด์แรกของยุโรปที่ใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิ้ล 100% ในการผลิต บริษัทฯ มีโครงการเพื่อสังคม 50 โครงการใน 15 ประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่ม โดยตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี จะทำให้ประชากร 2 แสนคนสามารถเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดได้ นอกจากนี้ Auara เป็น Social Enterprise แห่งแรกของสเปนที่ได้รับมาตรฐาน Social Enterprise Mark อีกด้วย (เว็บไซต์ https://auara.org/)
น้ำแร่ Auara
3) เสื้อผ้าและแฟชั่น แบรนด์ Ecoalf ใช้วัสดุรีไซเคิ้ลทั้งจากขวดพลาสติก PET เม็ดกาแฟ อวนจับปลาหรือยางรถที่ใช้แล้วมาผลิตสินค้าเสื้อผ้าและแฟชั่น บริษัท ฯ ดำเนินโครงการ Upcycling the Oceans เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กลุ่มประมงเรือเล็กและประชาชนตระหนักถึงปัญหาขยะในทะเลและร่วมเก็บขยะในทะเล และนำมาแปรรูปผลิตเป็นเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่นของแบรนด์ดังกล่าว ปัจจุบัน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (พีทีทีจีซี) และมูลนิธิ Ecoalf ได้ร่วมกันดำเนินโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand เพื่อจัดการขยะในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทย อนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล และใช้ประโยชน์จากขยะมาผลิตเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่น (เว็บไซต์ https://ecoalf.com/es/)
เสื้อผ้าแบรนด์ Ecoalf
และหากพูดถึงวงการเสื้อผ้าและแฟชั่นสเปน ความยั่งยืนก็เป็นประเด็นสำคัญในวงการดังกล่าวไม่ใช่น้อย อาทิ María de Lafuente ซึ่งเป็นดีไซน์เนอร์ที่ประยุกต์แนวคิดเรื่องความยั่งยืน ความรับผิดชอบต่อสังคมและนวัตกรรมมาใช้ในการออกแบบ โดย collection ล่าสุดสำหรับฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2020 ชื่อ Alquimia ได้มีการใช้เส้นใย Petsilk ที่ทำจากขวดพลาสติก PET รีไซเคิ้ลในรูปแบบของ 3D และใช้ยางรถยนต์และเปลือกไม้ยูคาลิปตัสที่ได้มาจากป่าที่ได้รับมาตรฐานระบบการจัดการป่า PEFC ในการออกแบบเสื้อผ้า
Alquimia