ส่องเทรนด์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ในสเปน

ส่องเทรนด์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ในสเปน

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 มิ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,147 view

ส่องเทรนด์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ในสเปน

ในช่วงที่ผ่านมาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมได้กลับมาเป็นประเด็นที่สังคมโลกตื่นตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากไม่รีบทำการแก้ไขอาจทำให้มนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ การรอให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเดียวนั้นคงไม่พอ ผู้ผลิตก็จำเป็นที่จะต้องให้ความร่วมมือเช่นกัน จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่เรียกว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ “Circular Economy”

Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นแนวคิดใหม่ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไปสู่ความยั่งยืน โดยการมุ่งให้ความสำคัญกับการเลือกใช้วัสดุ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในกระบวนการที่เกี่ยวข้องตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นำมาสู่การปราศจากของเสียและมลพิษตลอดทั้งกระบวนการของสินค้าและบริการ

รัฐบาลและนักสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันจึงให้ความสำคัญกับ Circular Economy มากขึ้น โดยเห็นได้จากนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลและหน่วยงานเพื่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ   ทั่วโลกได้ออกมารณรงค์เพื่อลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง และปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการใช้พลาสติก ซึ่งมีการผลิตมากถึง 300 ล้านตันต่อปี และครึ่งหนึ่งเป็นการใช้งานเพียงครั้งเดียว

สเปนเป็นอีกประเทศที่มีการกำหนดนโยบายรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบนี้ ทั้งระดับชาติ ระดับแคว้นและระดับท้องถิ่น โดยภาคประชาชนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเฉพาะการรีไซเคิลมากขึ้น ในปี 2561 มีการรีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์ในครัวเรือนทั้งสิ้น 1.45 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1.6 ล้านตัน ทำให้สเปนเป็นประเทศที่มีการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์มากที่สุดเป็นอันดัน 6 ของ EU ที่ร้อยละ 70.3

ในส่วนของภาคเอกชนสเปนมีหลายหน่วยงานที่นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการดำเนินงานปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ECOEMBES ก่อตั้งเมื่อปี 2539 เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมผ่านการรีไซเคิลและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมี ความโดดเด่นที่น่าสนใจทั้งการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ การศึกษา และนวัตกรรม

ECOEMBES มีหน้าที่จัดการขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติก กระป๋อง กล่องเครื่องดื่ม และบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษ และกระดาษ ผ่านกระบวนการคัดแยกและรีไซเคิลเพื่อนำทรัพยากรนำมาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ECOEMBES ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งรวมถึงชาวสเปน 47 ล้านคน เทศบาลเมือง 8,000 แห่ง องค์กร 400 แห่งและ บริษัท 12,000 ราย ซึ่งสถิติของ ECOEMBES ระบุว่าตั้งแต่ปี 2539 ECOEMBES ได้รีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์ในสเปนไปแล้วจำนวนกว่า 22.2 ล้านตัน ลดการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศได้ถึง 21.8 ล้านตัน และสถิติเฉพาะในปี 2561 ระบุว่าบริษัทสามารถ รีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์ ได้ถึงร้อยละ 78.8

นอกจากนี้ ECOEMBES ยังได้จัดตั้งศูนย์นวัตกรรม The Circular Lab (TCL) เมื่อปี 2560 ณ เมืองโลโกรโญ (Logroño) แคว้นลา ริโอฆา (La Rioja) ทางตอนเหนือของสเปน โดย TCL เป็นศูนย์นวัตกรรมเปิดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนแห่งแรกของยุโรป เน้นการศึกษาวิจัย ทดสอบ และพัฒนาแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์และการรีไซเคิลในสถานการณ์จริง โดยร่วมมือกับเครือข่ายบุคลากรภายนอก 200 ราย ทั้งจากบริษัท มหาวิทยาลัย ศูนย์เทคโนโลยีสตาร์ทอัพ และหน่วยงานภาครัฐ โดย TCL ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่สำคัญอย่าง รัฐบาลแคว้น La Rioja เทศบาลเมือง Logroño และ Environment Directorate General of the European Commission อีกด้วย

การวิจัยทางนวัตกรรมของ TCL แบ่งออกเป็น 4 สาขา ได้แก่ (1) Packaging of the future ซึ่งมุ่งเน้นการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (2) Awareness สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนเพื่อส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในกระบวนการรีไซเคิลมากยิ่งขึ้น (3) Smart Waste พัฒนาแอปพลิเคชันเทคโนโลยี เพื่อจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ เริ่มตั้งแต่กระบวนการจัดเก็บ คัดเลือกและรีไซเคิลอย่างชาญฉลาด และ (4) Entrepreneurship พื้นที่ส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ทอัพด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งที่ผ่านมา TCL ได้ส่งเสริมสตาร์ทอัพ 26 รายและให้การอบรมสตาร์ทอัพด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนมาแล้ว 400 ราย

นอกจากนี้ ศูนย์ TCL ยังได้ดำเนินโครงการนวัตกรรมมาแล้วไม่ต่ำกว่า 150 โครงการ โดยมีหลาย ๆ โครงการที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็น โครงการ Recycle 5.0 ที่ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรีไซเคิลโดยใช้สมาร์ทโฟนเชื่อมต่อกับถังขยะที่มีเทคโนโลยีติดตั้งรองรับ หรือโครงการ Packaging Circular Design ที่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้บริษัทสามารถคาดการณ์และปรับเปลี่ยนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของบรรจุภัณฑ์ก่อนเริ่มผลิตจริง ซึ่งเครื่องมือนี้จะช่วยประเมินว่าบรรจุภัณฑ์ที่จะผลิตขึ้นนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด ในขณะเดียวกันก็เสนอแนะข้อควรปรับปรุงด้วย

โครงการเหล่านี้ล้วนเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้สเปนก้าวไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับรัฐบาลไทยก็มีนโยบายส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG Economy เช่นกัน  โดยมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก 3 ด้านไปพร้อม ๆ กัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งยังจะช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของ UN อีกด้วย

ผู้ประกอบการไทยอาจลองนำโครงการหลาย ๆ โครงการของ ECOEMBES ไปเป็นต้นแบบสำหรับการเปลี่ยน “ขยะ” มาเป็น “ทองคำ” ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ให้กับธุรกิจแล้ว ยังเป็นกุญแจสำคัญ ในการนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกใบนี้อีกด้วย เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy นั้นจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ทุกภาคส่วนจึงจำเป็นต้องศึกษา และปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมให้ไทยก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ

 

Source:

ภาพ

ข้อมูล

 

โดยศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด

 

ที่มาของข่าว globthailand.com (https://globthailand.com/spain29052020/)