แนวโน้มการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสเปน

แนวโน้มการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสเปน

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ก.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 13 ก.ค. 2566

| 1,973 view

Cigarrillo_electrónico

ที่มาของภาพ หนังสือพิมพ์ El Mundo

สืบเนื่องจากที่สังคมไทยกำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางถึงความเหมาะสมที่จะอนุญาตให้มีการนำเข้าและสูบบุหรี่ไฟฟ้า (electronic cigarette) ได้อย่างเปิดกว้างมากขึ้น ในวันนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด จึงจะขอพาท่านผู้อ่านมารับฟังข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในสเปน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ยิมยอมให้มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้ภายใต้มาตรการควบคุมของหน่วยงานด้านสาธารณสุข 

ทั้งนี้ ตามสถิติของ Eurostat พบว่า ปัจจุบันประเทศในยุโรปที่มีสัดส่วนผู้สูบบูหรี่ไฟฟ้ามากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ฝรั่งเศส (ร้อยละ 6.6) โปแลนด์ (ร้อยละ 6) และเนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 5.9) ขณะที่สเปนเป็นหนึ่งในประเทศ   ที่มีผู้สูบบูหรี่ไฟฟ้าน้อยที่สุดเพียง ร้อยละ 1 เท่านั้น ซึ่งสาเหตุหลักประการหนึ่ง ก็เนื่องมาจากการที่รัฐบาลสเปนมีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าที่ค่อนข้างเข้มงวด โดยมีกฏหมายหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

 

1. พระราชกฤษฎีกา 579/2017 ณ วันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 2017 ว่าด้วยการผลิต การนำเสนอ และการค้าบุหรี่และสินค้าที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของ “อุปกรณ์ที่ปล่อยสารนิโคติน” (Dispositivos susceptibles de liberación de nicotina หรือ DSLN) โดยกำหนดให้ผู้ค้า ผู้ผลิตและผู้นำเข้า DSLN จะต้องแจ้งข้อมูลสินค้าให้แก่กรมสาธารณสุขสเปน (Dirección General de Salud Pública) ทั้งส่วนผสม กระบวนการผลิต ลักษณะสินค้า ตลอดจน หลักเกณฑ์ด้านคุณภาพและความปลอดภัย นอกจากนี้ ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าจะต้องนำเสนอรูปแบบของฉลากและต้องจัดทำรายงานตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า รวมถึงรายงานการตลาดในการขายสินค้าและการบริโภคสินค้าเป็นประจำทุกปีด้วย

นอกจากนี้ พรก. ดังกล่าว ยังกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่าย DSLN ต้องมีการลงทะเบียนไว้กับทางการ รวมถึง ต้องจัดทำระบบรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในกรณีที่พบว่าสินค้าที่จำหน่ายมีผลข้างเคียง/ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค ด้วย 

อนึ่ง เมื่อเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขสเปน ได้เริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Consultation) เกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไข พรก. 579/2017 ให้ทันสมัยมากขึ้น เนื่องจาก พรก. ฉบับปัจจุบัน ยังไม่ครอบคลุมถึงการนำเข้า ผลิตและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีสารนิโคตินและสินค้าที่ใช้พืชสมุนไพรสำหรับการสูบ รวมทั้ง ยังขาดระเบียบที่ทันสมัยเพื่อรองรับสินค้าชนิดใหม่ ๆ ในท้องตลาด

 

2. พระราชบัญญัติ 17/2017 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 2017 ว่าด้วยมาตรการสาธารณสุขของ การสูบบุหรี่และควบคุมการขาย การจัดหา การบริโภค และการโฆษณาบุหรี่ โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่การควบคุมสถานที่ในการบริโภคสินค้าในกลุ่ม DSLN  วิธีการโฆษณา และบทลงโทษหากผู้ผลิต ผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่าย DSLN ไม่ปฏิบัติตามกฏหมาย ทั้งนี้ ภายใต้ พรบ. ดังกล่าว ผู้บริโภคจะสามารถสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้เฉพาะในพื้นที่/อาคารส่วนตัว และร้านอาหาร/พับ-บาร์ ที่มีการแบ่งพื้นที่สำหรับผู้สูบบุหรี่ เท่านั้น และไม่อนุญาตให้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่ต่อไปนี้ ได้แก่ สถานที่ราชการ  โรงพยาบาล สถานีอนามัย  สถาบันการศึกษา รถโดยสารสาธารณะ รวมถึง รถไฟ เรือ และเครื่องบิน ด้วย

นอกจากนี้ พรบ. ดังกล่าวยังได้จำกัดการโฆษณาและการส่งเสริมการขายสินค้า DSLN ในหลายรูปแบบ อาทิ การสื่อสารเชิงพาณิชย์เพื่อเป็นการส่งเสริมสินค้าทั้งทางตรงและทางอ้อมในสื่อสิ่งพิมพ์ทั่วไป ยกเว้น      สื่อสิ่งพิมพ์เฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าดังกล่าว รวมถึง ห้ามการประชาสัมพันธ์ทางวิทยุ การสนับสนุนรายการวิทยุต่าง ๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมสินค้า และการสื่อสารทางพาณิชย์ด้วยสื่อโสตทัศน์ เป็นต้น

ล่าสุด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 รัฐบาลสเปนได้อนุมัติ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยตลาดบุหรี่และสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่การกำหนดให้ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ ร่าง พรบ. มีผลบังคับใช้ ให้การจำหน่ายสินค้าในกลุ่ม DSLN รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า จะสามารถกระทำได้เฉพาะร้านขายบุหรี่เท่านั้น ตลอดจนเพิ่มมาตรการควบคุมคุณภาพสินค้าและช่องทางการโฆษณา โดยเฉพาะการห้ามการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้ เพื่อให้สเปนมีกฎระเบียบที่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าที่สอดคล้องกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรปมากขึ้น อย่างไรก็ดี ร่าง พรบ. ดังกล่าว ได้รับเสียงคัดค้านอย่างมากจากกลุ่มธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าที่มองว่า เป็นการจำกัดเสรีภาพทางการการค้ามากเกินไป จนอาจส่งผลถึงขั้นที่บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กในสาขาธุรกิจนี้ อาจต้องปิดตัวลงในอนาคตเป็นจำนวนมาก

           

อนึ่ง ถึงแม้บุหรี่ไฟฟ้าจะยังไม่เป็นที่นิยมมากนักในสเปน แต่ในทางกลับกัน สเปนกลับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้นิยมสูบบุหรี่แบบมวนมากที่สุดในยุโรป ซึ่งจากสถิติพบว่า สเปนมีประชากรที่สูบบุหรี่ เป็นสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 23.1 ซี่งสูงเป็นลำดับที่ 8 ในยุโรป โดยประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูบบุหรี่มากที่สุด ได้แก่ บัลแกเรีย (ร้อยละ 28.2) และน้อยที่สุดได้แก่ สวีเดน (ร้อยละ 9.3)

 

ติดตามสาระดี ๆ เกร็ดความรู้และโอกาสทางธุรกิจในสเปนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้ที่ https://bic-madrid.thaiembassy.org