ส่องทิศทางธุรกิจ Inditex ยักษ์ใหญ่เจ้าของแบรนด์ Zara หลังโควิด-19

ส่องทิศทางธุรกิจ Inditex ยักษ์ใหญ่เจ้าของแบรนด์ Zara หลังโควิด-19

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ต.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 ต.ค. 2565

| 3,390 view

Inditex1

ภาพจาก Reuters

เมื่อพูดถึงวงการแฟชั่นของสเปน เชื่อว่า ผู้อ่านทุกคนคงไม่มีใครที่ไม่รู้จักแบรนด์ Zara ด้วยชื่อเสียงของ  แบรนด์ที่มีจุดเด่นด้านคุณภาพและราคาที่ย่อมเยา วันนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปนจะขอนำเสนอเรื่องราว  ที่น่าสนใจของกลุ่มบริษัท Inditex ของสเปน ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ Zara และยังผู้ผลิต/จำหน่ายเสื้อผ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีร้านค้ากว่า 7,469 แห่งใน 69 ประเทศ/เมืองทั่วโลก โดยนอกจาก Zara แล้ว บริษัทฯ ยังมีแบรนด์อื่นๆ ในเครือ ได้แก่ Pull & Bear, Bershka, Massimo Dutti, Stradivarius, Oysho, Zara Home และ Uterque ด้วย

 

จุดเริ่มต้นของบริษัทฯ และการเติบโตแบบก้าวกระโดด  

บริษัท Inditex มีเจ้าของคือนาย Amancio Ortega เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1936 โดยนาย Ortega เริ่มชีวิตการทำงานจากการเป็นพนักงานส่งของในเมือง A Coruña แคว้น Galicia  ซึ่งงานดังกล่าวได้ทำให้นาย Ortega ได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักการทำธุรกิจเสื้อผ้าค้าปลีกอย่างเป็นระบบ จนเมื่อนาย Ortega ได้ก่อตั้งบริษัท Inditex ขึ้น เมื่อปี ค.ศ. 1985 ก็ได้นำประสบการณ์ดังกล่าวมาปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจของ Inditex ผ่านการปรับกระบวนการผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถขายสินค้าได้ในราคาที่ถูกกว่าคู่แข่ง โดยมี แบรนด์ Zara เป็นต้นแบบ นับตั้งแต่ที่ Inditex  ได้เปิดร้าน Zara สาขาแรกที่ A Coruña เมื่อปี ค.ศ. 1975 ซึ่งนับแต่นั้นมา Zara ก็ได้เติบโตและขยายสาขาไปทั่วสเปน และประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยใช้กลยุทธ์ด้านราคาเป็นจุดแข็ง

Inditex2

นาย Amancio Ortega ภาพจาก Fotopress/Getty Images

ปัจจุบัน บริษัท Inditex ได้มีการปรับยุทธศาสตร์ของบริษัทฯ ให้เน้นการเป็นผู้นำด้าน “fast fashion” โดยมีแบรนด์นำเทรนด์ที่สำคัญคือ Zara ทั้งนี้ ภายใต้แนวคิด fast fashion บริษัทฯ ได้คิดค้นกระบวนการลดช่วงเวลาสำหรับวงจรการดีไซน์ ผลิตและจำหน่วยเสื้อผ้าให้สั้นลง จากเดิมหลายเดือนให้เหลือเพียงไม่กี่สัปดาห์ โดยนำกระบวนการผลิตแบบ just-in-time มาใช้ ควบคู่กับการตั้งราคาที่ย่อมเยา และการดีไซน์ที่หลากหลาย นอกจากโมเดลธุรกิจ fast fashion แล้ว Inditex ยังกำลังก้าวไปสู่ยุค “ultra fast fashion” โดยการลดวงจรการผลิตและจำหน่ายให้สั้นลงไปอีกขั้น ผ่านการสร้างช่องทางการดำเนินธุรกิจออนไลน์ และปรับยุทธศาสตร์ที่เน้นเครือข่าย logistics และการกักเก็บสินค้าที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการให้ความสำคัญต่อการมี digital presence ผ่านมือถือและแอพลิเคชั่น เป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคด้วย

ในภาพรวม ผลสำเร็จของ Inditex มาจากโมเดลธุรกิจที่มองภาพระยะยาวและยั่งยืน รวมถึงการผนวกเชื่อมหน้าร้านและร้านค้าออนไลน์เข้าด้วยกัน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจด้านนวัตกรรม การสร้างความเชี่ยวชาญและความเข้าใจด้านแฟชั่นอย่างลึกซึ้ง ผ่านการดีไซน์ที่ทันสมัยและสร้างสรรค์ ซึ่งล้วนเป็นปัจจุจัยที่ทำให้บริษัทฯ สามารถเติบโตและขยายกิจการไปตลาดต่างประเทศอย่างรวดเร็ว

 

Inditex3

ภาพจาก Moncloa

โควิด – 19 กับผลกระทบต่อของบริษัทฯ

ในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักสุดในสเปนและทั่วโลก บริษัทฯ ได้ปิดสาขาของร้าน Zara ไปถึง 3,785 แห่งทั่วโลก หรือเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนร้านค้าทั้งหมดของบริษัทฯ โดยเฉพาะในตลาดสำคัญ เช่น สเปน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี โปรตุเกส และบราซิล และต้องหยุดการทำงานของโรงงานในสเปนจำนวน 13 แห่ง และศูนย์กระจายสินค้าของบริษัทฯ ในสเปนอีกกว่า 10 แห่ง รวมทั้งลดการจ้างพนักงานเหลือแค่ 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็นสัดส่วนแค่ร้อยละ 15 ของเวลาการทำงานปกติของพนักงาน ซึ่งส่งผลให้กำไรของบริษัทฯ ลดลงกว่าร้อยละ 70 โดยเฉพาะในตลาดยุโรป ซึ่งหลายประเทศต่างก็ได้รับกระทบจากโควิด-19 เช่นกัน อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะต้องปิดสาขาลงจำนวนมาก แต่บริษัทฯ ก็ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจมาเน้นช่องทางการขายสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเพื่อรักษาช่องทางการตลาดและลูกค้าเอาไว้ รวมทั้ง เพิ่มไลน์ธุรกิจโดย    หันไปผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ชุดป้องกันโควิดทางการแพทย์ และหน้ากากอนามัย เพิ่มอีกด้วย เพื่อชดเชยกับรายได้จากสินค้าหลัก ซึ่งได้แก่ เสื้อผ้าและรองเท้า ที่มียอดขายลดลงเนื่องจากมาตรการ social distancing และ work from home ส่งผลให้ประชาชนไม่มีเหตุผลมากนักที่จะซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ และเน้นเฉพาะเสื้อผ้าที่จำเป็นเท่านั้น

Inditex4

ภาพจาก A.Camera

 

ปี 2564 ปีแห่งการฟื้นฟูและการพลิกวิกฤตสู่ดิจิทัล

ตั้งแต่ต้นปี 2564 สถานการณ์โควิด-19 ในสเปนและหลายประเทศเริ่มดีขึ้น ส่งผลให้ประชาชนสามารถเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันได้มากขึ้น และมีความต้องการซื้อเสื้อผ้าสำหรับการทำงานและร่วมกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งในส่วนของธุรกิจบริษัท Inditex เอง ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจำหน่ายสินค้าให้สอดคล้องกับแนวทางการใช้ชีวิตแบบ new normal ของผู้บริโภค โดยหันมาให้ความสำคัญกับ e-commerce และ digital economy เพื่อให้สินค้าของบริษัทฯ สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ในวงกว้าง โดยปัจจุบัน ช่องทางขายสินค้าออนไลน์ มีสัดส่วนถึงร้อยละ 25 ของมูลค่าการขายทั้งหมดของบริษัทฯ และขยายตัวกว่าร้อยละ 124 ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี อีกทั้งยังช่วยให้รายได้ของบริษัทฯ เติบโตอยู่ที่ระดับสูงกว่าร้อยละ 10 จากระดับก่อนโควิด-19 อีกด้วย

ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้สร้างช่องทางออนไลน์เพื่อเชื่อมการให้บริการและการชอปปิ้งระหว่างหน้าร้านและออนไลน์ให้ลูกค้าผ่านระบบ ชื่อว่า Inditex Open Platform โดยมีการเปิดตัว Store Mode ในแอพลิเคชั่นของ Zara ไปแล้ว ซึ่งขณะนี้ มีผู้ใช้งานติดตั้งแอพลิเคชั่นดังกล่าวกว่า 146 ล้านเครื่องทั่วโลก และมีผู้เข้าใช้บริการออนไลน์แพลตฟอร์มกว่า 6.2 พันล้านครั้ง  

นอกจากช่องทางการขายออนไลน์แล้ว บริษัทฯ ยังได้ทยอยกลับมาเปิดให้บริการสาขาต่างๆ ตามปกติ โดยในปี 2564 – 2565 บริษัทฯ ได้เปิดสาขาใหม่ไปแล้วกว่า 226 แห่ง ใน 40 ประเทศ/เมืองทั่วโลก โดย Zara ยังคงเป็นแบรนด์ที่สร้างรายได้แก่บริษัทฯ มากที่สุด กว่าร้อยละ 70 ของมูลค่ารายได้ทั้งหมดของบริษัทฯ โดย Zara และ Zara Home สร้างรายได้ให้บริษัทฯ กว่า 20 พันล้านในปี 2564 

Inditex5

ภาพจาก AFP

กล่าวได้ว่า Inditex ได้แสดงศักยภาพความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยใช้ความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นกลับมาพื้นฟูธุรกิจสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างน่าชื่นชม ดังจะเห็นได้จาก เมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้รายงานผลประกอบการในปี 2564 ซึ่งมีรายได้ขยายตัวกว่าร้อยละ 35.8 คิดเป็นมูลค่ารวม 27.7 พันล้านยูโร โดยมีรายได้ที่มาจากการขายออนไลน์อยู่ที่ 7.5 พันล้านยูโร ขยายตัวร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.5 ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทฯ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสัดส่วนได้ถึงร้อยละ 30 ในปี 2566 อีกด้วย

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการจ้างงานพนักงานเพิ่มขึ้นจาก 144,116 คน ในปี 2563 เป็น 165,042 คน ในปี 2564 และยังมีแผนที่จะลงทุนอีกกว่า 80 ล้านยูโร ในปี 2565 เพื่อขยายกำลังผลิตอีกร้อยละ 20 ที่โรงงานในเมือง Zaragoza ในสเปน ด้วย

อย่างไรก็ดี ถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น แต่สถานการณ์การความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ก็ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทฯ อยู่บ้าง เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปต่อรัสเซีย และกระแสต่อต้านรัสเซีย ทำให้บริษัทฯ ต้องปิดสาขากว่า 502 ร้านในรัสเซีย ซึ่งรวมถึงการขายทางออนไลน์ในรัสเซียด้วย ทั้งนี้ รัสเซียเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองของบริษัทฯ โดยมีมูลค่าการขายกว่า 216 ล้านยูโร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทฯ

 

สู่อนาคตที่ยั่งยืน

เพื่อเป็นการตอบสนองต่อนโยบาย European Green Geal ของสหภาพยุโรป และกระแสของผู้บริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในการประชุมใหญ่ของบริษัทฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 บริษัทฯ จึงได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืน โดยมีกลยุทธ์ที่จะดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว อาทิ (1) การนำฝ้ายที่มีกระบวนการเพาะปลูกอย่างยั่งยืนมาใช้ในการผลิตเสื้อผ้า ภายในปี ค.ศ. 2023 ซึ่งเร็วขึ้น 2 ปี จากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ในปี ค.ศ. 2025 (2) การปรับไลน์เสื้อผ้ากว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทฯ มาใช้ฉลาก Join Life ในปีนี้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า เสื้อผ้าดังกล่าวผ่านกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน (3) การนำพลังงานทดแทนมาใช้ในกระบวนการผลิต และ (4) การลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตลงร้อยละ 25 ภายในปี ค.ศ. 2025 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะนำเทคโนโลยีหมุนเวียน (circular) มาใช้ในกระบวนการผลิตให้มากขึ้น และเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังได้ทำความตกลงกับบริษัท Infinited Fiber Company มูลค่า 100 ล้านยูโร เพื่อซื้อเส้นใยสิ่งทอที่ทำมาจากขยะเหลือใช้ เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตเสื้อผ้าด้วย

 

ติดตามสาระดี ๆ เกร็ดความรู้และโอกาสทางธุรกิจในสเปนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้ที่ https://bic-madrid.thaiembassy.org