ท่าเรือเซบียา ท่าเรือแม่น้ำแห่งเดียวของสเปน

ท่าเรือเซบียา ท่าเรือแม่น้ำแห่งเดียวของสเปน

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ธ.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 7 ธ.ค. 2566

| 2,390 view

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปนได้เคยนำเสนอข้อมูลท่าเรือหลายแห่งในสเปนที่น่าสนใจให้แก่ผู้อ่านได้รับทราบมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับวันนี้ ศูนย์ ฯ จะขอพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับท่าเรือเซบียา (Sevilla) ซึ่งเป็นอีกท่าเรือหนึ่งที่มีความสำคัญและศักยภาพที่โดดเด่นของแคว้นอันดาลูเซียกัน 

ท่าเรือเซบียา เป็นท่าเรือแห่งเดียวในสเปนที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำ (ลักษณะเดียวกันกับท่าเรือคลองเตย) และตั้งอยู่ในตัวเมืองเซบียาซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นอันดาลูเซีย ทางตอนใต้ของประเทศสเปน ท่าเรือดังกล่าวมีพื้นที่กว่า 850 เฮกเตอร์ และเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจและการพัฒนาสำหรับแคว้นอันดาลูเซียอย่างมาก เนื่องจากเป็นที่ตั้งของบริษัทสัญชาติสเปนและต่างชาติถึงกว่า 200 ราย และมีการสร้างงานถึง 23,000 ตำแหน่ง คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,100 ล้านยูโร 

 

Puerto_de_Sevilla

 

ที่มาของภาพ เว็บไซต์การท่าเรือเซบียา (https://www.puertodesevilla.com/)

 

ท่าเรือเซบียาเป็นท่าเรือที่มีการขนส่งหลากหลายรูปแบบ (Intermodality) ทั้งในรูปแบบการขนส่งทางเรือ รถไฟ และรถบรรทุก โดยถือเป็นท่าเรือแห่งแรกในแคว้นอันดาลูเซียที่มีการขนส่งแบบรถไฟ นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในท่าเรือระดับภูมิภาคที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายการคมนาคมในอียู (Trans-European Transport Network หรือ TEN-T) ด้วย

Trans_European_Network

ที่มาของภาพ เว็บไซต์การท่าเรือเซบียา (https://www.puertodesevilla.com/)

สำหรับสินค้าที่มีการนำเข้า-ส่งออกจากท่าเรือแห่งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มสินค้าเกษตร สินค้ากลุ่มเหล็กและโลหะ โดยเป็นท่าเรืออันดับ 1 ของแคว้นฯ ที่มีปริมาณการขนส่งธัญพืชและปุ๋ยมากที่สุดและอันดับ 2 ของแคว้นฯ สำหรับการขนส่งสินค้าเหล็ก/โลหะ นอกจากนี้ ยังเป็นท่าเรือที่มีการขนส่งที่เชื่อมต่อกับหมู่เกาะคานารี (ซึ่งเป็นดินแดนสเปนในทวีปแอฟริกา) มากที่สุดอีกด้วย ตลอดจน ยังมีรางรถไฟเชื่อมต่อไปยังเมืองสำคัญของสเปนและโปรตุเกส อาทิ กรุงมาดริด เมืองบิลเบา เมืองเอสเตรมาดูรา เมืองกอร์โดบา เมืองบาเลนเซีย เมืองซีเนส (โปรตุเกส) เป็นต้น ขณะที่ในเชิงของการท่องเที่ยว ท่าเรือเซบียาก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถรองรับเรือสำราญเข้าเทียบท่าได้เช่นกัน  

ด้วยความพิเศษด้านภูมิศาสตร์ที่เป็นท่าเรือแม่น้ำ ท่าเรือเซบียาจึงเป็นท่าเรือแห่งเดียวของสเปนที่มีประตูกั้นน้ำทำหน้าที่เสมือนลิฟต์ในการเคลื่อนย้ายเรือระหว่างแม่น้ำกวาดัลกีบีร์ (Guadalquivir) กับมหาสมุทรแอตแลนติกซึ่งมีระดับน้ำที่ไม่เท่ากัน (ท่าเรือฯ อยู่ห่างจากมหาสมุทรแอตแลนติกประมาณ  80 กิโลเมตร) กอปรกับการที่ท่าเรือฯ ตั้งอยู่กลางเมืองเซบียา ทำให้เรือสินค้าสามารถล่องเข้ามาเข้าเทียบท่าได้ถึงในใจกลางเมือง จึงเป็นการช่วยลดปริมาณรถบรรทุกที่จะต้องใช้สำหรับขนถ่ายสินค้า รวมถึงช่วยลดมลภาวะจากการขนส่งลงได้อย่างมีนัยสำคัญ (ทั้งนี้ ท่าเรือและแม่น้ำกวาดัลกีบีร์สามารถรองรับเรือความยาวไม่เกิน 190 เมตร ความกว้างไม่เกิน 30 เมตร และน้ำหนัก (Dead Weight Tonnage – DWT) ไม่เกิน 40,000 ตัน)

Dársena_de_Batán

ท่าเทียบเรือ Batán ภายในท่าเรือเซบียา

ที่มาของภาพ เว็บไซต์การท่าเรือเซบียา (https://www.puertodesevilla.com/)

ท่าเรือเซบียาและพลังงานทดแทน

 ปัจจุบันท่าเรือเซบียามีการส่งเสริมการจัดตั้งบริษัท/โครงการด้านพลังงานทดแทนขึ้นภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมการต่อเรือ (Polígono de Astilleros) ซึ่งได้รับการกำหนดให้เป็นเขตที่ตั้งของบริษัทด้านอุตสาหกรรมโลหการและด้านพลังงานทดแทน โดยขณะนี้มีบริษัทด้านพลังงานทดแทนที่ได้เข้าไปเปิดดำเนินการในท่าเรือฯ อาทิ  

- บริษัท GRI Towers Sevilla มีพนักงาน 300 คนและมีผลประกอบการ 50-70 ล้านยูโร/ปี ดำเนินธุรกิจผลิตชิ้นส่วนกังหันลมในเขตปลอดภาษีอากร (Free Zone) ของท่าเรือเซบียา โดยบริษัท ฯ เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัท GRI Renewable Industries ซึ่งมีโรงงาน 16 แห่งทั่วโลกในสเปน สหรัฐ ฯ บราซิล อาร์เจนตินา จีน ตุรกี อินเดียและแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นผู้ผลิตกังหันลมและชิ้นส่วนสำหรับการติดตั้งกังหันลมทั่วโลก

- บริษัท Solaner Dos ซึ่งเพิ่งได้รับสัมปทานจากการท่าเรือเซบียา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ในการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฮโดรเจนสีเขียว โดยจะมีการก่อสร้างโรงงานบนพื้นที่รวม 23,390 ตารางเมตร ภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมการต่อเรือ ซึ่งถือว่าเป็นโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวแห่งแรกของท่าเรือเซบียาเพื่อใช้สำหรับกิจการต่างๆ ของท่าเรือในอนาคต

นอกจากนี้ ศูนย์นวัตกรรม CIU3A[1] ของท่าเรือเซบียายังได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ตั้งของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันอีกด้วย โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัวเครื่อง tokamak SMART (Small Aspect Ratio Tokamak) ภายใต้โครงการ Fusion2Grid ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซบียากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัย Princeton (สหรัฐ ฯ) สถาบัน Culham Centre for Fusion Energy (สหราชอาณาจักร) ทั้งนี้ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะส่งเสริมให้เซบียาเป็นผู้นำด้านการผลิตพลังงานสะอาดจากนิวเคลียร์ฟิวชันได้ในปี ค.ศ. 2030 และจะสามารถใช้ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันมาผลิตไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้ต่อไปด้วย  

 

ติดตามสาระดี ๆ เกร็ดความรู้และโอกาสทางธุรกิจในสเปนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้ที่ https://bic-madrid.thaiembassy.org

 

 

 

[1] CIU3A (Andalusia, Alentejo and Algarve University Innovation Centre) เป็นศูนย์นวัตกรรมที่เน้นการพัฒนาโครงการ 4 ด้าน ได้แก่ อุตสาหกรรม 4.0 โลจิสติกส์ วัสดุและความยั่งยืน เป็นความร่วมมือระหว่าง 3 มหาวิทยาลัยจากสเปนและโปรตุเกส ได้แก่ มหาวิทยาลัยเซบียา (สเปน) มหาวิทยาลัย Algarve และมหาวิทยาลัย Évora (โปรตุเกส)