ศักยภาพสินค้าปศุสัตว์สเปน

ศักยภาพสินค้าปศุสัตว์สเปน

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 พ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ค. 2565

| 2,203 view

ก่อนหน้านี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้นำเสนอบทความที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสเปนในฐานะหนึ่งในประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรอันดับต้นๆ ของโลกไปแล้ว

ในบทความนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด จะพาผู้อ่านมาทำความรู้จักกับอีกมิติหนึ่งของภาคเกษตรกรรมของสเปน คือ ภาคปศุสัตว์ ที่มีความโดดเด่นไม่น้อย และจะพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับพฤติกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์ของประชาชนในสเปนกันด้วย

shutterstock_1638695548

  1. ภาพรวมของภาคปศุสัตว์สเปน

ภาคการเกษตร ปศุสัตว์และประมงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสเปน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และเป็นแหล่งสร้างงานในประเทศกว่า 3 ล้านตำแหน่ง

หากพิจารณาเฉพาะอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของสเปน ในปี 2564 ที่ผ่านมา มีมูลค่าธุรกิจประมาณ 31,727 ล้านยูโร ขยายตัวร้อยละ 13 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งมูลค่าดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 28.5 ของอุตสาหกรรมอาหารทั้งหมดของประเทศ โดยในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์สเปน (การฆ่าสัตว์ การชำแหละและการแปรรูป)  ประกอบด้วยบริษัทประมาณ 2,800 ราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่จัดตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบท 

ในสเปนมีการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์จำนวน 969,193 แห่ง โดยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในแคว้นกาลีเซีย (213,203 แห่ง) แคว้นอันดาลูเซีย (163,021 แห่ง) และแคว้นกัสตียา อี เลออน (144,676 แห่ง) โดยแคว้นที่มีการเลี้ยงวัวมากที่สุดคือแคว้นกัสตียา อี เลออน แคว้นที่มีการเลี้ยงหมูมากที่สุดคือแคว้นคาตาโลเนีย และแคว้นที่มีการเลี้ยงแกะมากที่สุดคือ แคว้นเอกซ์เตรมาดูรา       

สเปนมีศักยภาพด้านสินค้าปศุสัตว์ในหลายด้าน โดยเป็นผู้ผลิตเนื้อสุกรมากเป็นอันดับ 4 ของโลกและอันดับ 2 ของสหภาพยุโรป เป็นผู้ผลิตเนื้อแกะอันดับ 1 ผู้ผลิตเนื้อวัวอันดับ 4 และผลิตสินค้าเนื้อสัตว์แปรรูปได้มากเป็นอันดับ 4 ของสหภาพยุโรปอีกด้วย

ในปี 2564 การผลิตสินค้าเนื้อสัตว์ในสเปนขยายตัวประมาณร้อยละ 3 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 และมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 9,107 ล้านยูโร (เป็นสถิติที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์) โดยมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น  ร้อยละ 5 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 และได้ดุลการค้ากับต่างประเทศสูงถึงร้อยละ 712

ผู้นำเข้าสินค้าเนื้อสัตว์หลักของสเปนคือ ประเทศจีน โดยมีมูลค่าการนำเข้ารวม 2,700 ล้านยูโร รองลงมาคือ ฝรั่งเศส โปรตเกส และอิตาลี ขณะที่เกาหลีใต้กำลังเป็นผู้นำเข้ารายใหม่ที่น่าสนใจ เนื่องจากมีการนำเข้าเนื้อสัตว์จากสเปนเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 116 ในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในภาพรวมแล้ว กลุ่มประเทศนอกสหภาพยุโรปนำเข้าสินค้าเนื้อสัตว์ทั้งในแง่ของปริมาณและมูลค่าสูงกว่ากลุ่มประเทศสหภาพยุโรป โดยสัดส่วนในด้านปริมาณอยู่ที่ร้อยละ 57 ต่อร้อยละ 43 และสัดส่วนมูลค่ายอดขายอยู่ที่ร้อยละ 53.9 ต่อร้อยละ 46.1

Carnes  

สินค้าเนื้อสุกร

เป็นสินค้าที่มีความสำคัญมากที่สุดในภาคปศุสัตว์สเปน โดยสเปนเป็นผู้ผลิตเนื้อสุกรได้มากเป็นอันดับ 4 ของโลกหรือร้อยละ 5.1 ของผลผลิตทั้งหมด เป็นรองเพียงจีน สหรัฐฯ และเยอรมนี เท่านั้น (ร้อยละ 38.8 ร้อยละ 13.1 และร้อยละ 5.2 ตามลำดับ) ส่วนในระดับสหภาพยุโรป สเปนเป็นผู้ผลิตเนื้อสุกรมากเป็นอันดับ 2 ใกล้เคียงกับเยอรมนี (ร้อยละ 21.8 และร้อยละ 22.1 ตามลำดับ)

ในปี 2564 สเปนสามารถสร้างสถิติการผลิตเนื้อสุกรได้มากเป็นประวัติการณ์ ด้วยปริมาณการผลิต 5.17 ล้านตัน หรือร้อยละ 67.2 ของการผลิตสินค้าเนื้อสัตว์ทุกประเภท (สุกร วัว แกะ แพะ ม้า สัตว์ปีก และกระต่าย) และร้อยละ 85.9 ของสินค้าเนื้อสัตว์ที่มีกีบเท้า (สุกร วัว แกะ แพะและม้า)

ด้านการส่งออกพบว่าสเปนส่งออกเนื้อ เครื่องใน ชิ้นส่วนอื่น ๆ และไขมันสุกรได้กว่า 2.88 ล้านตัน สูงกว่าปีก่อนหน้า และสร้างรายได้จากการส่งออก 6,466 ล้านยูโร (ลดลงร้อยละ 0.55 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563)

ตามรายงานพัฒนาการการส่งออกสินค้าสุกรสเปน (Informes de evolución de las exportaciones españolas del sector porcino) ระบุว่าในปี 2564 ประเทศผู้นำเข้าเนื้อสุกรและสินค้าจากสุกรจากสเปน (ไม่รวมสุกรมีชีวิต)[1] มากที่สุดตามลำดับ ได้แก่ จีน (1.24 ล้านตัน และครองสัดส่วนร้อยละ 40.4 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด) ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ โปรตุเกส อิตาลี ฟิลิปปินส์ เยอรมนี สหราชอาณาจักรและโปแลนด์ โดยเป็นการส่งออกไปยังประเทศนอกสหภาพยุโรปร้อยละ 62.3 ในแง่ของประมาณ และร้อยละ 61.7 ในแง่ของมูลค่า

ในส่วนของไทย ในปี 2564 ไทยเป็นผู้นำเข้าสินค้าเครื่องในหมูและชิ้นส่วนอื่น ๆ อันดับที่ 20 จากสเปนในแง่ของปริมาณจำนวน 1,286 ตัน (ครองสัดส่วน 0.2 ของการส่งออกสินค้าชนิดนี้) และอันดับที่ 19 ในแง่ของมูลค่าสินค้า (1.4 ล้านยูโร)

 

สินค้าเนื้อวัว

สเปนมีปริมาณการผลิตมากเป็นอันดับ 3 รองจากเนื้อสุกรและเนื้อสัตว์ปีก ด้วยปริมาณ 714,173 ตัน เมื่อปี 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 ซึ่งปริมาณเนื้อวัวที่สเปนผลิตได้มีสัดส่วนเป็นร้อยละ 9.3 ของปริมาณเนื้อสัตว์ที่ผลิตได้ในประเทศ ส่วนในระดับสหภาพยุโรป สเปนเป็นผู้ผลิตเนื้อวัวอันดับ 4 (ร้อยละ 9.9 ของผลผลิตเนื้อวัวในยุโรป) รองจากฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี (ร้อยละ 21, 16 และ 10.7 ตามลำดับ)

ด้านการส่งออกเนื้อ เครื่องใน ชิ้นส่วนอื่น ๆ และไขมันวัว พบว่ามีการขยายตัวทั้งด้านปริมาณและมูลค่าการส่งออก ด้วยปริมาณ 244,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 และสร้างมูลค่าส่งออกได้ 936 ล้านยูโร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 ผู้นำเข้าสินค้าหลักในแง่มูลค่า ได้แก่ โปรตุเกส อิตาลีและฝรั่งเศส ในขณะที่ผู้นำเข้าหลักนอกสหภาพยุโรปคือแคนาดาและอินโดนีเซีย อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าประเภทนี้ไปยังประเทศนอกสหภาพยุโรปกำลังอยู่ในระยะการเริ่มต้น โดยมีสัดส่วนร้อยละ 13.5 ของปริมาณการส่งออกเนื้อสัตว์ทั้งหมด  

 

สินค้าเนื้อแกะและเนื้อแพะ

หลังจากที่สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป สเปนได้กลายเป็นผู้ผลิตเนื้อแกะและเนื้อแพะอันดับ 1 ของสหภาพยุโรป มีสัดส่วนการผลิตร้อยละ 27.1 ของปริมาณเนื้อแกะและเนื้อแพะที่ผลิตได้ทั้งหมดในสหภาพยุโรป โดยในปี 2564 สเปนสามารถผลิตเนื้อแกะและเนื้อแพะได้ปริมาณ 126,000 ตันหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1  เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า

ในส่วนของเนื้อ เครื่องใน ชิ้นส่วนอื่น ๆ และไขมันแกะ ในปี 2564 สเปนส่งออกปริมาณ 74,492 ตัน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 294.5 ล้านยูโร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.8 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า สาเหตุที่การส่งออกขยายตัวเป็นอย่างมากนั้น เนื่องมาจากการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ซึ่งครองสัดส่วนร้อยละ 73.9 ของมูลค่าการส่งออก โดยเฉพาะผู้นำเข้าอย่างฝรั่งเศส เยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ กอปรกับการเติบโตของตลาดสินค้าชนิดนี้ในประเทศนอกสหภาพยุโรป อาทิ ในอิสราเอล กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย และโอมาน

 

Jamón

เนื้อสัตว์แปรรูป

สเปนผลิตเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น แฮมขาหมูดำ แฮมขาหมู แฮมปรุงสุก เป็นต้น ปีละ 1.4 ล้านตัน โดยเป็นผู้ผลิตอันดับ 4 ของสหภาพยุโรป เป็นรองจากเยอรมนี อิตาลีและฝรั่งเศส

ด้านการส่งออก ในปี 2564 สเปนส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์แปรรูปได้ปริมาณ 212,443 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า และมีมูลค่าการส่งออกรวม 1,280 ล้านยูโร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 ทั้งนี้  เนื้อสัตว์แปรรูปส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (ร้อยละ 67.4 ของมูลค่าการส่งออกและร้อยละ 74.2 ของปริมาณการส่งออก) โดยผู้นำเข้าหลักคือฝรั่งเศส (ร้อยละ 24 ของการส่งออก) เยอรมนี (ร้อยละ 12) และโปรตุเกส (ร้อยละ 8) ส่วนสหราชอาณาจักรเป็นผู้นำเข้าหลักนอกสหภาพยุโรป (ร้อยละ 10)

 

สินค้าเนื้อสัตว์ปีก

เนื้อสัตว์ปีกเป็นเนื้อที่ชาวสเปนนิยมบริโภคมากที่สุด และมีสัดส่วนการผลิตมากเป็นอันดับ 2 หรือร้อยละ 23 ของการผลิตเนื้อทุกชนิดในสเปน แคว้นที่มีการผลิตเนื้อสัตว์ปีกมากที่สุดคือแคว้นอันดาลูเซียและแคว้นคาตาโลเนีย ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงเกษตร การประมงและอาหารสเปนระบุว่า ในปี 2563 สเปนเป็นผู้ผลิตเนื้อไก่มากเป็นอันดับ 2 ของสหภาพยุโรป คิดเป็นปริมาณ 1.71 ล้านตัน โดยครองสัดส่วนการผลิตร้อยละ 12.7 รองจากโปแลนด์ (ร้อยละ 19.9) และส่งออกเนื้อสัตว์ปีกทั้งหมดจำนวน 241,169 ตัน ลดลงร้อยละ 8.6 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า ในส่วนของเนื้อไก่ สเปนเป็นผู้ผลิตเนื้อไก่มากอันดับ 2 ในสหภาพยุโรปเช่นกัน รองจากโปแลนด์ (ร้อยละ 12.9 และร้อยละ 20.3 ตามลำดับ) และเป็นผู้ผลิตเนื้อไก่งวงอันดับ 5 โดยครองสัดส่วนการผลิตร้อยละ 12.6 รองจากเยอรมนี โปแลนด์ ฝรั่งเศสและอิตาลี

ด้วยความสามารถด้านการผลิตดังกล่าว ทำให้ในปี 2563 สเปนมีการส่งออกเนื้อสัตว์ปีก[2]  ไปจำหน่ายในต่างประเทศในปริมาณรวมถึง 241,169 ตัน โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป   (142,512 ตัน) ซึ่งผู้นำเข้าหลัก ได้แก่ โปรตุเกสและฝรั่งเศส ในส่วนการส่งออกไปยังประเทศนอกสหภาพยุโรปนั้น ผู้นำเข้าหลัก ได้แก่ แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร เบนิน กินี และอันดอร์รา โดยในเอเชีย ผู้นำเข้าหลัก ได้แก่ ฮ่องกงและเวียดนาม อันดับ 9 และ 11 ตามลำดับ ซึ่งสินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นเนื้อไก่และเนื้อไก่งวง อย่างไรก็ดี ขณะเดียวกัน สเปนก็ยังมีความต้องการนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกจากต่างประเทศด้วย โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากฝรั่งเศส เยอรมนีและโปแลนด์ สำหรับไทยนั้น สเปนมีการนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกจากไทยในปริมาณ 244 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.7 ของการนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกทั้งหมด สูงที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศ นอกสหภาพยุโรปซึ่งเป็นต้นทางสินค้าเนื้อสัตว์ปีกที่สเปนนำเข้า เป็นรองเพียงบราซิล จีน อาร์เจนตินาและนอร์เวย์

 

  1. พฤติกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์ของชาวสเปน

ในปี 2563 สถานการณ์โควิด-19 และการ lockdown ในสเปนได้ส่งผลให้ผู้คนหันมารับประทานอาหารในบ้านพักอาศัยเพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้จากรายงานเรื่องการบริโภคอาหารในสเปน 2563 (Informe de consumo de alimentación en España 2020) จัดทำโดยกระทรวงเกษตร การประมงและอาหารสเปน ที่ระบุว่าการกักตัวอยู่ในบ้านพักอาศัยในช่วงโควิด-19 ทำให้ผู้คนรับประทานเนื้อสัตว์ในครัวเรือนเพิ่มขึ้นและทำให้กระแสการรับประทานเนื้อสัตว์ในครัวเรือนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมา 8 ปีตั้งแต่ปี 2555 หยุดชะงักลง โดยในปี 2563 ชาวสเปนรับประทานเนื้อสัตว์ภายในครัวเรือนปริมาณ 2,305.25 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 หรือเฉลี่ย 49.86 กิโลกรัม/คน/ปี (เพิ่มขึ้น 4.62 กิโลกรัมเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562) โดยแบ่งเป็นเนื้อสด 36.2 กิโลกรัม (ร้อยละ 72.6 ของปริมาณการรับประทานเนื้อสัตว์ทั้งหมด) เนื้อแปรรูป 12.39 กิโลกรัมและเนื้อแช่แข็ง 1.28 กิโลกรัม

ในส่วนของสินค้าเนื้อสด พบว่า เนื้อไก่เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ตามมาด้วยเนื้อหมูและเนื้อวัว (13.65 กิโลกรัม 10.93 กิโลกรัมและ 5.35 กิโลกรัม/คน ตามลำดับ) ด้านสินค้าเนื้อแปรรูปพบว่าสินค้าที่ชาวสเปนรับประทานจำนวนมากที่สุดในแง่ของปริมาณ 3 อันดับแรก ได้แก่ แฮมไส้กรอก แฮมขาหมูหมักเกลือ และแฮมขาหมูปรุงสุก

ในด้านค่าใช้จ่าย ชาวสเปนมีการจับจ่ายซื้อเนื้อสัตว์ในปี 2563 มูลค่า 16,160.37 ล้านยูโร (เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9) หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 349.54 ยูโร/คน/ปี (เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6) ซึ่งสินค้าเนื้อสัตว์มีสัดส่วนในค่าใช้จ่ายในหมวดอาหารและเครื่องดื่มของครัวเรือนสเปน สูงถึงร้อยละ 20.37 โดยผู้คนส่วนใหญ่ร้อยละ 48.9  จะมีการซื้อเนื้อสัตว์จากร้านซุปเปอร์มาร์เก็ต/ร้านค้าบริการตัวเอง (Self-service) ตามมาด้วยการซื้อสินค้าในร้านขายเนื้อ

กลุ่มผู้บริโภคที่รับประทานเนื้อสัตว์มากที่สุดคือกลุ่มครอบครัวที่ไม่มีบุตร ตามมาด้วยกลุ่มผู้เกษียณอายุ และกลุ่มคนโสด/ไม่มีครอบครัว (64.78 กิโลกรัม /64.53 กิโลกรัม และ 64.11 กิโลกรัม/คน/ปี)  ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่อยู่ที่ 49.86 กิโลกรัม/คน/ปี  ในขณะที่กลุ่มครอบครัวที่มีบุตรช่วงปฐมวัยบริโภคเนื้อสัตว์น้อยที่สุด (34.13 กิโลกรัม/คน/ปี)   หากพิจารณาจากสถานะทางเศรษฐกิจ พบว่า กลุ่มคนชนชั้นสูงและชนชั้นกลางระดับบนจะเป็นกลุ่มที่บริโภคเนื้อสัตว์มากที่สุดถึง 57.53 กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 15.4 ในขณะที่ผู้มีรายได้น้อยบริโภคเนื้อสัตว์น้อยกว่าค่าเฉลี่ยประเทศถึงร้อยละ 10.8 (44.5 กิโลกรัม/คน/ปี)

ด้านภูมิศาสตร์ พบว่าแคว้นที่มีการรับประทานอาหารประเภทนี้มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ แคว้นกัสตียา อี เลออน (57.49 กิโลกรัม) แคว้นนาบาร์รา แคว้นอารากอน แคว้นบาเลียแอริก และแคว้นกัสตียา ลา มันชา ในขณะที่แคว้นเอ็กซ์เตรมาดูรา และหมู่เกาะคานารี มีการบริโภคเนื้อสัตว์น้อยที่สุด

อย่างไรก็ดี หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง กลับพบว่า เมื่อปี 2564 ชาวสเปนรับประทานเนื้อสัตว์ ในครัวเรือนลดลง อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุ อาทิ การกลับมาทำงานที่บริษัทแทนการทำงานจากบ้าน  สภาวะเงินเฟ้อ ประกอบกับภาวะความใส่ใจสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเทรนด์การบริโภคสินค้าประเภท plant-based food  

โดยข้อมูลจากกระทรวงเกษตร การประมงและอาหารสเปน ระบุว่าในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2564 ปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ในครัวเรือนในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ 1,525 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 9.6 ในขณะที่มูลค่าการซื้อสินค้าชนิดนี้อยู่ที่ 10,745.3 ล้านยูโร หรือลดลงร้อยละ 7.3 หากพิจารณาในด้านค่าใช้จ่ายรายบุคคลจะพบว่า ชาวสเปนใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 232.83 ยูโร/คน หรือลดลงร้อยละ 7.1 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

สำหรับผู้สนใจทำความรู้จักสาขาเนื้อสัตว์ในสเปน อาจพิจารณาเข้าร่วมงาน Meat Attraction ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงมาดริด ระหว่างวันที่ 6-8 มีนาคม 2566 โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ifema.es/meat-attraction    

ติดตามสาระดี ๆ เกร็ดความรู้และโอกาสทางธุรกิจในสเปนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้ที่ https://bic-madrid.thaiembassy.org

 

****************

 

[1] ประเภทสินค้าที่ไม่รวมสุกรมีชีวิต อาทิ 1) เนื้อสด เนื้อแช่เย็นและเนื้อแช่แข็ง 2) เครื่องในและชิ้นส่วนอื่น ๆ 3) ไขมันหมู 4) แฮมขาหมูหมักเกลือ 5) แฮมขาหมูปรุงสุก 6) เบคอน เป็นต้น

[2] เนื้อสัตว์ปีกในที่นี้หมายถึงสัตว์ปีกมีชีวิต เนื้อไก่ เนื้อไก่งวง เนื้อเป็ด เนื้อห่าน เนื้อไก่ต๊อก และสินค้าอื่น ๆ


ข่าวใกล้เคียง

ข่าวใกล้เคียง