พลังงานทดแทนในสเปนในปี 2566

พลังงานทดแทนในสเปนในปี 2566

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 เม.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 10 เม.ย. 2567

| 1,380 view

ในวันนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด จะขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพการผลิตพลังงานทดแทนของสเปนของสเปน ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ดังนี้

shutterstock_367510784

 

สถิติโลกเกี่ยวกับพลังงานทดแทนของสเปน

สเปนถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านพลังงานทดแทนระดับโลก ดังจะเห็นได้จาก 1) รายงาน Renewable Energy Country Attractiveness Survey (RECAI) ครั้งที่ 62 จัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษา EY ในปี 2566 ระบุว่าสเปนเป็นประเทศที่น่าลงทุนด้านพลังงานทดแทนมากเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 2 ของโลกที่มีค่าดัชนี PPA (Power Purchase Agreement) สูงที่สุดรองจากเยอรมนี  2) รายงาน Global Green Growth จัดทำโดยบริษัท DriveElectric  จัดให้สเปนอยู่ในอันดับ 8 ของประเทศที่มีสภาพแวดล้อมด้านพลังงานทดแทนดีที่สุดในโลก ในปี 2566  3) รายงาน Global Electricity Review ครั้งที่ 4 จัดทำโดยบริษัท Ember จัดให้สเปนติดอันดับ 7 ของโลก ด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม (ปริมาณ 94.62 TWh) ในปี ค.ศ.2022 รองจากจีน สหรัฐ ฯ เยอรมนี อินเดีย ญี่ปุ่นและบราซิล  และ 4) ข้อมูลสมาคมธุรกิจพลังงานลมของสเปน (Asociación Empresarial Eólica) ระบุว่า สเปนมีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งจากพลังงานลมมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของยุโรปและอันดับ 5 ของโลก โดยครองสัดส่วนร้อยละ 3 รองจากจีน (ร้อยละ 40) สหรัฐ ฯ (ร้อยละ 16) เยอรมนี (ร้อยละ 7) และอินเดีย (ร้อยละ 5) ในปี 2566  

ภาพรวมการผลิตไฟฟ้าและกำลังไฟฟ้าติดตั้งในสเปน

ในปี 2566 สเปนสามารถผลิตไฟฟ้า (ทุกแหล่งพลังงาน) ได้รวมทั้งสิ้น 266,807 GWh (ลดลงร้อยละ 3.5 จากปีก่อนหน้า) โดยส่วนใหญ่ เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในสัดส่วนร้อยละ 23.5 (62,569 GWh) รองลงมาคือพลังงานนิวเคลียร์ (ร้อยละ 20.3 หรือ 54,276 GWh) พลังงานความร้อนร่วมหรือ Combined Cycle (ร้อยละ 17.3 หรือ 46,051 GWh) และพลังงานแสงอาทิตย์ (ร้อยละ 14 หรือ 37,332 GWh)

เฉพาะในส่วนของพลังงานทดแทน สเปนมีการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทนได้ถึงร้อยละ 50.3 หรือ 134,321 GWh จากกำลังการผลิตไฟฟ้าทั่วประเทศ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565  โดยส่วนใหญ่มาจากพลังงานลม (ร้อยละ 23.5 หรือ 62,569 GWh) พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ (ร้อยละ 14 หรือ 37,332 GWh) และพลังงานน้ำ (ร้อยละ 9.5 หรือ 25,273 GWh) ทั้งนี้ สเปนมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ให้ได้ถึงร้อยละ 74 จากกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 160,837 GWh ภายในปี 2573 (ค.ศ.2030)

ขณะที่ ในด้านกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง (Installed power generation capacity) พบว่า สเปนมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61.3 โดยผลิตจากพลังงานลมมากที่สุด (ร้อยละ 24.5) ตามมาด้วย ความร้อนร่วม (ร้อยละ 20.9) เซลล์แสงอาทิตย์ (ร้อยละ 20.3) และพลังงานน้ำ (ร้อยละ 13.6) ตามลำดับ

โครงสร้างแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าในสเปนปี 2566

โครงสร้างแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าในสเปนปี 2566
ที่มาของข้อมูล
Informe de resumen de energías renovables 2023 ของบริษัท Red Eléctrica

 

นอกจากการผลิตในประเทศแล้ว หากมองในระดับทวีปยุโรป ตามข้อมูลของ Eurostat ในปี 2565 พบว่า สเปนเป็นประเทศที่ใช้พลังงานทดแทนมากเป็นอันดับ 7 ของสหภาพยุโรป หรือเท่ากับร้อยละ 50.9 ของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปที่อยู่ที่ร้อยละ 41

Eurostat

ที่มาของข้อมูล https://www.soziable.es/entorno/espana-septimo-pais-europeo-en-energia-renovable

โครงสร้างกำลังไฟฟ้าติดตั้งในปี 2566

 

โครงสร้างกำลังไฟฟ้าติดตั้งในปี 2566

ที่มาของข้อมูล Informe de resumen de energías renovables 2023 ของบริษัท Red Eléctrica

พลังงานลม

ปัจจุบัน สเปนสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานลมได้มากเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.5 ของปริมาณพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 จากปี 2565) โดยในปี 2566 สเปนสามารถผลิตไฟฟ้าจากลมได้ถึง 62,569 GWh ซึ่งเป็นสถิติที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ พลังงานลมยังเป็นเทคโนโลยีที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งมากที่สุดอีกด้วย หรือคิดเป็นร้อยละ 24.5 ของกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งทั้งหมด

ด้านกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง แคว้นกาสตียา อี เลออน เป็นพื้นที่ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งจากพลังงานลมมากที่สุดในสเปนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.6 (6,640 MW) รองลงมาคือ แคว้นอารากอน (ร้อยละ 17 หรือ 5,246 MW) ทั้งนี้ พลังงานลมยังเป็นเทคโนโลยีหลักที่ใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใน 4 แคว้นของสเปน ได้แก่ แคว้นกาสตียา อี เลออน (ร้อยละ 48.8) แคว้นนาบาร์รา (ร้อยละ 46.1) แคว้นอารากอน (ร้อยละ 45) และแคว้น     กาลิเซีย (ร้อยละ 35.5) ซึ่งกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งของทั้ง 4 แคว้นรวมกัน ยังมีสัดส่วนถึงร้อยละ 56.3 ของกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งจากพลังงานลมของทั้งประเทศสเปนเลยทีเดียว 

การติดตั้งพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลมในสเปน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566)

การติดตั้งพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลมในสเปน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566)

ที่มาของข้อมูล https://www.sistemaelectrico-ree.es/informe-de-energias-renovables/viento/potencia-instalada-viento

ในส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม พบว่าแคว้นกาสตียา อี เลออนเป็นแคว้นที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในปี 2566 ได้มากที่สุดถึง 13,553 GWh หรือร้อยละ 21.7 ของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมของทั้งประเทศ ตามมาด้วย แคว้นอารากอนที่ผลิตได้ 12,004 GWh

ตัวอย่างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่สำคัญของสเปน

  • โรงไฟฟ้าพลังงานลม Gecama ประเภท onshore ของบริษัท Enlight Renewable Energy และบริษัท Menora Mivtachim Holdings จากอิสราเอล โครงการนี้พัฒนาโดยบริษัท Assignia Infraestructuras บริษัท Enlight Renewable Energy และ Grupo Essentium ตั้งอยู่ที่จังหวัดกูเอนกา แคว้นกาสตียา ลา มันชา เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในสเปน มีกำลังไฟฟ้าผลิตติดตั้ง 329.2 MW ที่จะสามารถผลิตและจัดจำหน่ายพลังงานสะอาดให้แก่ 260,000 ครัวเรือน/ปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศได้กว่า 150,000 ตัน/ปี

           

พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell หรือ Solar Photovoltaics)

ในปี 2566 นับเป็นปีแห่งประวัติศาสตร์ที่สเปนสามารถติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นได้ถึง 5,594 MW หรือร้อยละ 22 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า ทำให้ปัจจุบันสเปนมีเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 2,5549 MW หรือร้อยละ 20.3 ของกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งทั้งหมดในสเปน ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นดังกล่าวทำให้สเปนมีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งจากพลังงานแสงอาทิตย์ (พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์และพลังงานความร้อนแสงอาทิตย์) มากเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศขององค์กรพลังงานไฟฟ้า ENTSO-E (European Network of Transmission System Operators for Electricity)

แคว้นที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งจากพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์มากที่สุดคือแคว้นเอสเตรมาดูรา (ร้อยละ 25.1) แคว้นกาสตียา ลา มันชา (ร้อยละ 24) และแคว้นอันดาลูเซีย (ร้อยละ 21) โดยหากกำลังผลิตไฟฟ้าของทั้ง 3 แคว้นนี้รวมกัน จะมีสัดส่วนร้อยละ 70.1 ของกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งจากพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ของทั้งสเปน

การติดตั้งพลังงานไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ในสเปน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2023)

การติดตั้งพลังงานไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ในสเปน (ข้อมูล วันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2023)

ที่มาของข้อมูล https://www.sistemaelectrico-ree.es/informe-de-energias-renovables/sol/potencia-instalada/solar-fotovoltaica-solpotencia

 

ด้านการผลิตไฟฟ้า  เซลล์แสงอาทิตย์เป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าอันดับ 4 ของประเทศสเปน โดยมีสัดส่วนร้อยละ 14 หรือ 37,332 GWh รองจากพลังงานลม พลังงานนิวเคลียร์ และพลังงานความร้อนร่วม โดยในปี 2566 แคว้นเอสเตรมาดูราเป็นพื้นที่ที่ผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ได้มากที่สุดในปี จำนวน 9,167 GWh หรือร้อยละ 30.8 ของการผลิตทั้งหมดในสเปน

ตัวอย่างโครงการโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ที่สำคัญของสเปน

  • โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ Francisco Pizarro ของบริษัท Iberdrola ขนาด 590 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ จังหวัดกาเซเรส แคว้นเอสเตรมาดูรา บนพื้นที่กว่า 1,300 เฮกเตอร์ งบลงทุนกว่า 300 ล้านยูโร และเป็นโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปด้วย ซึ่งเริ่มเปิดผลิตไฟฟ้าเมื่อปี 2565 โดยสามารถผลิตและจัดจำหน่ายพลังงานสะอาดให้แก่ประชากรกว่า 334,000 ครัวเรือน/ปี รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกได้กว่า 150,000 ตัน/ปี
  • โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ Arañuelo III ของบริษัท Iberdrola เป็นโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์แห่งแรกของสเปนที่เชื่อมต่อกับแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ตั้งอยู่ที่จังหวัดกาเซเรส ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อปี 2564 โดยมีแบตเตอรี่ที่สามารถกักเก็บพลังงานได้ 3 MW และ 9 MWh  ทั้งนี้ โรงไฟฟ้า Arañuelo III เป็นส่วนหนึ่งของ Campo Arañuelo complex ซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ Arañuelo I, Arañuelo II และ Arañuelo III  โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งนี้ มีกำลังการผลิตรวมกัน 143 MW สามารถผลิตและจัดจำหน่ายพลังงานสะอาดให้แก่ประชากรกว่า 65,000 ครัวเรือน/ปี รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลก ได้กว่า 41,000 ตัน/ปี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสเปนจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในสัดส่วนที่สูง แต่จุดอ่อนสำคัญของสเปนคืออุตสาหกรรมนี้ คือการที่สเปนยังต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการกักเก็บพลังงาน การผลิตแบตเตอรี่และชิ้นส่วนอุปกรณ์ จากต่างประเทศอยู่ค่อนข้างมาก และทำให้รัฐบาลสเปนต้องเร่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจ/อุตสาหกรรมดังกล่าวภายในประเทศให้มีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เพื่อตอบสนองต่อแนวโน้มของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานทดแทนที่กำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็ว รวมถึง เพื่อเป็นการกักเก็บพลังงานสำรองไว้ให้เพียงพอต่อแนวโน้มปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มมากขึ้นในภาคการขนส่งและภาคอุตสาหกรรมด้วย (รัฐบาลสเปนได้กำหนดเป้าหมายที่จะติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานให้ได้ 20 GW ภายในปี ค.ศ. 2030)

 

ติดตามสาระดี ๆ เกร็ดความรู้และโอกาสทางธุรกิจในสเปนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้ที่ https://bic-madrid.thaiembassy.org