การแพทย์เฉพาะบุคคลในสเปน

การแพทย์เฉพาะบุคคลในสเปน

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 มี.ค. 2564

| 3,279 view

shutterstock_667121413

การแพทย์เฉพาะบุคคล (Personalised Medicine) เป็นการรักษาทางเลือกใหม่ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ โดยการนำเอาข้อมูลเกี่ยวกับพันธุกรรมมาประมวลผลร่วมกับข้อมูลแวดล้อมและการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์สามารถออกแบบการรักษาให้สอดคล้องกับผู้ป่วยแต่ละคน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในการรักษา

จากการจัดอันดับ Personalised Health Index ภายใต้โครงการ FutureProofing Healthcare Europe สเปนอยู่ในอันดับ 6 ของประเทศในยุโรปที่มีความพร้อมในการส่งเสริมการแพทย์เฉพาะบุคคลและการนำระบบดังกล่าวไปปรับใช้ในระบบสาธารณสุขของประเทศ โดยผลการศึกษาพบว่า สเปนมีจุดเด่นในด้านการวางแผนและการจัดการระบบสาธารณสุข คุณภาพของบุคลากรทางการแพทย์และโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข รวมทั้งการเข้าถึงการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดแบบเซลล์บำบัด (CAR-T cell) ในผู้ป่วยมะเร็ง (ซึ่งสเปนครองอันดับ 1 ร่วมกับเยอรมนีและฝรั่งเศส)

Spain_Personalised_Health_ranked_across_Europe

ปัจจุบันรัฐบาลสเปนได้จัดทำยุทธศาสตร์การแพทย์เฉพาะบุคคล (Estrategia Española de Medicina Personalizada) สำหรับปี ค.ศ. 2020-2021 ภายใต้งบประมาณ 77.3 ล้านยูโร เพื่อยกระดับความสามารถและศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจของสเปน โดยการใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมในสาขาดังกล่าวเป็นตัวขับเคลื่อน ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ฯ ได้กำหนดสาขาที่จะมุ่งผลักดันใน 6 ด้าน ประกอบด้วย 1) Big-Data ด้านสุขภาพ  2) การแพทย์จีโนมิกส์  3) การรักษาขั้นสูงและจำเพาะ 4) เวชศาสตร์ป้องกัน (Predictive Medicine) 5) การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) และ 6) การตั้งเป้าหมายให้สเปนเป็นประเทศผู้นำ  ด้านการแพทย์แม่นยำของยุโรป[1]

ในทางปฏิบัติ แคว้นต่างๆ ของสเปนได้มีการนำการแพทย์เฉพาะบุคคลมาดำเนินการระยะหนึ่งแล้ว เช่น แคว้นอันดาลูเซีย มีการพัฒนาโครงการ Proyecto Genoma Médico ซึ่งเป็นโครงการจีโนมระดับแคว้นโครงการแรกในสเปน เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 2010 เน้นการศึกษาวิจัยโรคหายาก โดยการหาลำดับเอ็กโซมที่สมบูรณ์ (Whole exome sequencing) ของประชากรประมาณ 300 คน / แคว้นเอกซ์เตรมาดูรา ดำเนินโครงการ Medea ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 โดยการรวบรวมข้อมูลพันธุกรรมของผู้ป่วย ประวัติผู้ป่วยและครอบครัว เงื่อนไขการตอบสนองต่อยา เพื่อประกอบการตัดสินใจจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วย หรือแคว้นคาตาโลเนีย ก็มีโครงการ MedPerCan  โดยใช้เทคโนโลยี Next-Generation Sequencing (NGS) เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกวิธีรักษาโรคมะเร็งให้แก่ผู้ป่วย และโครงการ URDCat ซึ่งเป็นการพัฒนาการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้ป่วยโรคหายากทางระบบประสาทที่วินิจฉัยไม่ได้ (Non-Diagnosed Neurological Rare Diseases) เป็นต้น

เช่นเดียวกับ แคว้นนาบาร์รา ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นแคว้นผู้นำของสเปนในด้านการแพทย์เฉพาะบุคคลในอนาคตอันใกล้ โดยการใข้เทคโนโลยี/การแพทย์จีโนมิกส์เป็นตัวขับเคลื่อน ผ่านโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลแคว้นให้การสนับสนุน ได้แก่            

  • โครงการ NAGEN 1000 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการนำเทคโนโลยีชั้นสูงด้านการแพทย์จีโนมิกส์ไปใช้ในการวิเคราะห์จีโนมของมนุษย์ โดยการถอดรหัสจีโนมของผู้ป่วย (และญาติ) ที่เป็นโรคหายากและโรคมะเร็งบางชนิด จำนวน 1,000 ราย (มากกว่า 200 ชนิด)
  • โครงการ PharmaNAGEN เป็นการใช้ข้อมูลจีโนมิกส์สำหรับการเลือกวิธีการรักษาและจ่ายยา
  • โครงการ NAGENpediatrics เป็นการศึกษาลำดับนิวคลีโอไทด์ที่สมบูรณ์ (Whole Genome Sequencing) ในเด็กที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคทางพันธุกรรมและมีอาการรุนแรง เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการตรวจคัดกรองโรคพันธุกรรมของทารกแรกเกิดและในเด็กที่เป็นโรคมะเร็ง

โดยโครงการทั้งหมดจะมีหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั้งของภาครัฐและสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ เช่น ศูนย์วิจัยชีวการแพทย์ Navarrabiomed โรงพยาบาลนาบาร์รา โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยนาบาร์รา เป็นต้น        

ที่ผ่านมา หน่วยงานของไทยตระหนักถึงความก้าวหน้าด้านการแพทย์เฉพาะบุคคลในสเปน และอยู่ระหว่างประสานความร่วมมือด้านจีโนมิกส์กับฝ่ายสเปนตามนโยบาย Genomics Thailand อาทิเช่น เมื่อช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ของไทยร่วมกับ Centre for the Development of Industrial Technology (CDTI) จากสเปน เปิดรับข้อเสนอโครงการวิจัยร่วมด้านชีววิทยาศาสตร์ โดยมีการแพทย์เชิงฟื้นฟูและการแพทย์แม่นยำเป็นหนึ่งในสาขาที่จะให้ทุนวิจัยร่วมภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว ขณะที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ก็ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของไทยและสเปนจัดการสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ “Thailand - Spain : a New Horizon of Cooperation on Circular Economy and Medical City” เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 โดยเชิญวิทยากรจากแคว้นนาบาร์รา มาบรรยายสรุปเกี่ยวกับการพัฒนาด้านเมืองการแพทย์ (Medical City) และการส่งเสริมความร่วมมือด้านจีโนมิกส์กับไทยด้วย

ติดตามสาระดี ๆ เกร็ดความรู้และโอกาสทางธุรกิจในสเปนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้ที่ https://bic-madrid.thaiembassy.org

 

[1] ในส่วนของประเทศไทย ได้รับให้จัดอยู่ในอันดับ 7 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้านการแพทย์แม่นยำ (ที่มาของข้อมูล https://futureproofinghealthcare.com/thailand-personalised-health-index)