ศักยภาพการวิจัยด้านโรคมะเร็งของสเปน

ศักยภาพการวิจัยด้านโรคมะเร็งของสเปน

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 เม.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 เม.ย. 2566

| 1,563 view

ศักยภาพการวิจัยด้านโรคมะเร็งของสเปน

cancer

ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) โรคมะเร็งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของคนส่วนใหญ่ทั่วโลก โดยมีอัตราผู้เสียชีวิตเฉลี่ยด้วยโรคนี้เกือบ 10 ล้านคน หรือ 1 ใน 6 ของเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด (สถิติ WHO ล่าสุดปี 2563) โดยมีมะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งตับ อยู่ใน 3 อันดับต้น ทั้งนี้ ในยุโรปโรคมะเร็งจัดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุดอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจ ขณะที่ ในส่วนของสเปน จากสถิติล่าสุดเมื่อปี 2565 มีการตรวจพบผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ มากกว่า 280,000 คน และยังคาดการณ์ว่าในปี 2583 จะมีการตรวจพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 341,000 คน อีกด้วย

ในยุโรป สเปนถือเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีศักยภาพและมีจุดเด่นในด้านการวิจัยรักษาโรคมะเร็งเเป็นอย่างมาก โดยจากรายงานการศึกษาเรื่อง Comprometidos con la investigación en cáncer (ความมุ่งมั่นในการวิจัยโรคมะเร็ง) ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิวิทยาศาสตร์ของสมาคมต่อต้านโรคมะเร็งสเปน (Fundación Científica de la Asociación Española Contra el Cáncer) และมูลนิธิ La Caixa (Fundación “La Caixa”) เมื่อปี ค.ศ. 2022 ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การวิจัยและนวัตกรรมโรคมะเร็งของสเปนในช่วงปี ค.ศ.2016-2020 ใน 5 ด้าน ไว้ดังนี้

  1. การสนับสนุนทางการเงิน - สเปนได้รับเงินสนับสนุนด้านวิจัยเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปี ค.ศ. 2015-2020 โดยสัดส่วนมากที่สุดมาจากหน่วยงานการกุศล[1] 140 ล้านยูโร ขณะที่ภาครัฐได้ให้การสนับสนุนทางการเงิน จำนวน 347 ล้านยูโร ในช่วงเวลา 5 ปีดังกล่าว รวมถึงสเปนยังได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนยุโรปสำหรับการวิจัยมะเร็ง เป็นจำนวน 205 ล้านยูโร อีกด้วย (สเปนเป็นประเทศที่สามารถดึงดูดการสนับสนุนจากกองทุนยุโรปด้านการวิจัยมะเร็งได้มากที่สุด ในยุโรป ทั้งในด้านจำนวนโครงการและจำนวนงบประมาณต่อหัวประชากร)
  2. ความเป็นเลิศและความสามารถในการแข่งขัน – สเปนมีศักยภาพและจุดเด่นด้านเนื้องอกวิทยา (oncology) และถือเป็นหนึ่งในประเทศแนวหน้าด้านนี้ในยุโรป โดยมีศูนย์วิจัยและคลีนิกรักษาเนื้องอกในเมืองหลักๆ ของสเปนที่คิดค้นเทคโนโลยีและนำกระบวนการที่มีนวัตกรรมมาใช้เพื่อรักษาเนื้องอก เช่น การผ่าตัดโดยหุ่นยนต์ การรักษาบำบัดโดยใช้โปรตอน (proton therapy) และการคิดค้นยาต้านมะเร็ง นอกจากนี้ สเปนยังมีแพทย์ที่รักษามะเร็งจำนวนมากที่มีประสบการณ์และชื่อเสียงระดับโลก มีการวินิฉัยโรคที่รวดเร็ว (โดยเฉลี่ยภายใน 48 ชั่วโมง) และมีการประยุกต์การรักษาบำบัดโรคให้เข้ากับผู้ป่วย เช่น proton therapy และ CAR T-Cell Therapy ทั้งนี้ สเปนยังเป็นหนึ่งในสามประเทศลำดับต้นของยุโรปที่มีโครงการเกี่ยวกับการรักษาและวิจัยมะเร็ง มากที่สุดในยุโรป ผ่านโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรม Horizon 2020 ของสหภาพยุโรป (โดยเฉลี่ยประมาณ 40 โครงการ/ปี) และยังมีศูนย์ Centre for the Development of Industrial Technology (CDTI) ที่เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณหลักในด้านนวัตกรรมจากภาครัฐ (ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบการให้เงินกู้) ด้วย
  3. ประเภทงานวิจัย - สเปนมีนักวิจัยด้านมะเร็งที่มีคุณภาพ โดยร้อยละ 3 ของงานวิจัยด้านมะเร็ง ที่ได้รับการตีพิมพ์ระดับโลกเป็นผลงานของนักวิจัยสเปน นอกจากนี้ สเปนยังติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีผลงานวิจัยด้านมะเร็งที่ได้รับการตีพิมพ์มากที่สุดในโลก โดยการศึกษาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา และมะเร็งโรคเลือด (เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งไขกระดูก)   
  4. การวิจัยคลีนิก - ความท้าทายของสเปนคือการเข้าถึงวิธีการรักษาชนิดใหม่ ๆ ซึ่งการทดลองทางคลีนิกนับว่ามีบทบาทสำคัญมากในประเด็นนี้ ซึ่งในช่วง 5 ปีของรายงานฯ สเปนมีจำนวนของ การทดลองทางคลีนิกเพิ่มขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรป (มากกว่าร้อยละ 35 ในช่วงปี 2015-2019 เมื่อเปรียบเทียบปี 2010-2014) อย่างไรก็ดี สเปนก็ยังมีการทดลองคลีนิกต่อจำนวนประชากรน้อยกว่าเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศส
  5. ทักษะนักวิจัย - เป็นอีกหนึ่งประเด็นท้าทายของสเปน เนื่องจากปัจจุบัน นักวิจัยสเปนที่มีความเชี่ยวชาญด้านมะเร็งส่วนใหญ่จะมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 50 ปี จึงมีความจำเป็นที่สเปนจะต้องเร่งผลิตนักวิจัยรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อให้ระบบการวิจัยมะเร็งในสเปนมีความยั่งยืนต่อไป รวมถึงการส่งเสริมโอกาสของนักวิจัยสตรีและนักวิจัยรุ่นใหม่ให้สามารถเติบโตสู่ตำแหน่งหัวหน้าหรือผู้บริหารโครงการวิจัยให้มากขึ้นด้วย  

อนึ่ง ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 (วันมะเร็งโลก) นาง Diana Morant รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสเปน ได้เดินทางไปเยี่ยมชมมูลนิธิการวิจัยโรงพยาบาลคลีนิกบาเลนเซีย (INCLIVA)[2] เมืองบาเลนเซีย โดยนาง Morant ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสู้กับโรคมะเร็งซึ่งรัฐบาลสเปนถือเป็นวาระแห่งชาติ และได้จัดสรรงบประมาณกว่า 480 ล้านยูโร เพื่อสนับสนุนการวิจัยด้านโรคมะเร็ง โดยเฉพาะโครงการ Immune 4 All Project ของรัฐบาลสเปน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบการตรวจหาสารก่อมะเร็งและสามารถคาดเดาผลลัพธ์การบำบัดเนื้องอกได้อย่างแม่นยำ อาทิ เต้านม รังไข่ ปากมดลูก และลำไส้ใหญ่ เป็นต้น โดยโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการแล้วใน 8 แคว้นของสเปน และมีผู้ป่วยเกือบ 1,600 ราย ซึ่งเข้ารับการบำบัดภายใต้โครงการนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลสเปนยังผลักดันการส่งเสริมการแพทย์แม่นยำ (precision medicine) ผ่านโครงการต่างๆ ของรัฐบาล เช่น โครงการ PERTE for Cutting-edge Health ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพของประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยนำการแพทย์แม่นยำและการวิจัยเกี่ยวกับการรักษาและบำบัดขั้นสูงมาใช้ สำหรับการรักษาโรคต่าง ๆ อาทิ มะเร็ง เบาหวาน และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวนกว่า 1.5 พันล้านยูโรจากกองทุนฟื้นฟูของสหภาพยุโรปด้วย

ปัจจุบันมีสถาบัน/โรงพยาบาลสเปนหลายแห่งที่ได้รับการจัดอันดับในระดับโลก ดังนี้

สถาบันวิจัยมะเร็งสเปนที่ดีที่สุด 100 อันดับโลกตามการจัดอันดับของ SCIMAGO Institutions Ranking ปี ค.ศ. 2023 ได้แก่

  • อันดับ 16 Instituto de Salud Carlos III (กรุงมาดริด)
  • อันดับ 53 Hospital Universitari Vall d'Hebron (นครบาร์เซโลนา)
  • อันดับ 62 Vall d’Hebron Instituto de Oncologia (นครบาร์เซโลนา)
  • อันดับ 66 Centro de Investigacion Biomedica en Red de Cancer (กรุงมาดริด)
  • อันดับ 94 Institut Catala d'Oncologia (นครบาร์เซโลนา)

โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านมะเร็งของสเปนที่ดีที่สุดในโลกซึ่งติด 100 อันดับแรกของ World's Best Hospitals Oncology 2022 ซึ่งจัดอันดับโดยสำนักข่าว Newsweek ได้แก่

  • อันดับ 18 Hospital Universitario La Paz / Department of Oncology (กรุงมาดริด)
  • อันดับ 19 Hospital Universitari Vall d'Hebron / Department of Oncology (นครบาร์เซโลนา)
  • อันดับ 34 Clínica Universidad de Navarra / Departamento de Oncología Médica (เมืองปัมโปลนา)
  • อันดับ 50 Fundación Instituto Valenciano de Oncología (เมืองบาเลนเซีย)
  • อันดับ 59 Hospital Universitario 12 de Octubre แผนก Servicio de oncología médica (กรุงมาดริด)
  • อันดับ 68 Hospital General Universitario Gregorio Marañón แผนก Servicio de oncología médica (กรุงมาดริด)
  • อันดับ 88 Hospital Clínico San Carlos แผนก Oncología médica (กรุงมาดริด)
  • อันดับ 98 MD Anderson Cancer Center - Madrid (กรุงมาดริด)
  •  

ติดตามสาระดี ๆ เกร็ดความรู้และโอกาสทางธุรกิจในสเปนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้ที่ https://bic-madrid.thaiembassy.org

 

[1] อาทิ มูลนิธิ Fundació Privada Olga Torres มูลนิธิ Fundació La Marató TV3 (2018-Cáncer) มูลนิธิ Fundación Científica AECC  

[2] ติดอันดับ 449 ของโลกตามการอันดับของ SCIMAGO Institutions Ranking ปี ค.ศ. 2023