สเปนกับความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ : การนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ (Water reuse)

สเปนกับความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ : การนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ (Water reuse)

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ส.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 ส.ค. 2564

| 3,433 view

shutterstock_1785736046

องค์การน้ำแห่งสหประชาชาติ (UN Water) ระบุว่าภายในปี ค.ศ. 2025 ประชากรโลกราว 2 พันล้านคนอาจต้องเผชิญภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง จากสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทำให้มีความต้องการใช้น้ำมากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เหตุนี้ทุกประเทศจึงต้องพยายามจัดหาแหล่งน้ำให้กับพลเมืองของตนเองได้ใช้อย่างเพียงพอ และเพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 6 “สร้างหลักประกันเรื่องน้ำและการสุขาภิบาล ให้มีการจัดการอย่างยั่งยืนและมีสภาพพร้อมใช้” ด้วย

ด้วยสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศของสเปนที่เป็นที่ราบสูง ค่อนข้างแห้งแล้ง และปริมาณน้ำฝนกระจายไม่ทั่วถึง สเปนจึงเป็นประเทศหนึ่งที่ต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง และเป็นแรงผลักดันให้สเปนต้องให้ความสนใจอย่างจริงจังกับการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้ประเทศมีน้ำสำหรับบริโภคอุปโภคได้ตลอดทั้งปี เพียงพอสำหรับความต้องการของประชากร 47 ล้านคนและรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และภาคการเกษตร ซึ่งสเปนถือเป็นหนึ่งประเทศที่รองรับนักท่องเที่ยวและเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรอันดับต้นๆ ของโลก[1]           

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ศูนย์ ฯ เคยได้เผยแพร่บทความเรื่อง “สเปนกับความเชี่ยวชาญด้านการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล” ไปแล้วในเว็บไซต์ของศูนย์ ฯ และในบทความนี้จะได้เจาะลึกเพิ่มเติมเกี่ยวกับความก้าวหน้าของสเปนในเรื่องการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สเปนนำมาใช้ในการรับมือกับปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรน้ำ

ตามรายงาน España es agua 2020 (Spain is water) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศของสเปน (ICEX) ระบุว่า สเปนเป็นประเทศที่มีการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำมากเป็นอันดับ 1 ของสหภาพยุโรปและอันดับ 2 ของโลก โดยร้อยละ 90 ของพื้นที่ที่มีการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ จะกระจุกตัวอยู่ในแคว้นบาเลนเซีย แคว้นมูรเซีย แคว้นอันดาลูเซีย หมู่เกาะคานารี และหมู่เกาะบาเลียแอริก รวมถึงเมืองใหญ่อย่างกรุงมาดริดและนครบาร์เซโลนา โดยแคว้นบาเลนเซียเป็นพื้นที่ที่มีการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำมากที่สุด (158 ลูกบาศก์เฮกโตเมตร ในปี ค.ศ. 2015) ตามมาด้วยแคว้นมูรเซีย

ลักษณะของการใช้ประโยชน์จากน้ำที่นำมาใช้ใหม่ของสเปนมีหลากหลาย ทั้งการใช้รดน้ำเพื่อการเกษตร (มากกว่าร้อยละ 60 ของปริมาณน้ำใช้ซ้ำทั้งหมด) ตามมาด้วยกิจกรรมสันทนาการ (เช่น รดน้ำสนามกอล์ฟ) การใช้ประโยชน์ในเขตเมือง (รดน้ำพื้นที่สีเขียว ทำความสะอาดท้องถนน) และใช้ประโยชน์อุตสาหกรรม

shutterstock_233515363

เทคโนโลยีการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ 

สเปนมีสถานีบำบัดน้ำเสีย (Estación Depuradoras de Aguas Residuales - EDAR) จำนวน 2,125 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งร้อยละ 27 เป็นสถานีบำบัดน้ำเสียที่ติดตั้งเทคโนโลยีสำหรับกระบวนการบำบัดน้ำขั้นสูง (advanced treatment หรือ tertiary treatment) ทั้งนี้ สถานีบำบัดน้ำเสียที่ใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่ในแคว้นมาดริดชื่อ EDAR Sur ของบริษัท Canal de Isabel II ซึ่งรัฐวิสาหกิจด้านการจัดการน้ำของรัฐบาลสเปน โดยสถานีบำบัดน้ำเสียแห่งนี้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1983 และสามารถจัดการน้ำเสียได้ถึง 80 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี รองรับน้ำเสียจากประชากรเกือบ 3 ล้านคนจากกรุงมาดริดและอีกหลายพื้นที่ในแคว้นมาดริด โดย EDAR Sur ดำเนินงานโดยใช้หลักการ 3R (reduce, reuse และ recycle) ประกอบด้วย การลดสารปนเปื้อนจากน้ำเสีย การผลิตน้ำขึ้นมาใหม่ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากกากตะกอนและน้ำเสียเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อนเชื้อเพลิง ปุ๋ยและปุ๋ยหมัก แบบครบวงจร

EDAR_Sur_Madrid

    สถานีบำบัดน้ำเสีย EDAR Sur

สถานีบำบัดน้ำเสียที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสเปนคือ EDAR Besos ที่นครบาร์เซโลนา มีขีดความสามารถบำบัดน้ำเสียจากครัวเรือนและอุตสาหกรรมสำหรับประชากรกว่า 2.8 ล้านคน เริ่มเปิดทำการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977 เดิมใช้กลไกการบำบัดน้ำแบบทั่วไป (การบำบัดทางกายภาพและการบำบัดทางเคมี) แต่ในปี ค.ศ. 2005 ได้มีการนำวิธีบำบัดทางชีวภาพเข้ามาใช้เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดียิ่งขึ้นและเป็นการปฏิบัติตามกฎระเบียบยุโรปและสเปน

lodos_edar_besos_aca

สถานีบำบัดน้ำเสีย EDAR Besos

หนึ่งในเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียเพื่อการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในสเปน คือ ระบบบำบัดน้ำเสียด้วยเมมเบรน (Membrane bioreactor - MBR) ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการใช้จุลินทรีย์เพื่อกำจัดของเสียที่ละลายในน้ำ และการกรองผ่านเยื่อเมมเบรนที่มีลักษณะเป็นรูขนาดเล็กเพื่อแยกของเสียที่เป็นตะกอนออกจากน้ำเสีย  ซึ่งข้อดีของเทคโนโลยีนี้เมื่อเปรียบเทียบกับการบำบัดน้ำเสียแบบทั่วไปคือเป็นการช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ใสสะอาดกว่าเดิม เหมาะสมกับพื้นที่บำบัดที่มีขนาดจำกัด และสามารถขจัดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการตกตะกอน กักเชื้อโรคส่วนใหญ่ไม่ให้ออกสู่สาธารณะได้ดีกว่า

สเปนใช้ระบบ MBR มาเกือบ 20 ปีแล้ว โดยติดตั้งระบบนี้ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2002 ณ เกาะ Lanzarote (หมู่เกาะคานารี) โดยปัจจุบันสเปนมีสถานีบำบัดน้ำเสียที่ด้วยระบบนี้แล้วมากกว่า 60 แห่ง เช่น EDAR Gavá-Viladecans (นครบาร์เซโลนา) EDAR Sabadell-Riu Sec (นครบาร์เซโลนา) และ EDAR San Pedro del Pinatar (จังหวัดมูรเซีย) เป็นต้น

 

ธุรกิจการบำบัดน้ำเสียของบริษัทสเปนในต่างประเทศ

ด้วยเทคโนโลยีด้านการบำบัดน้ำเสียที่ก้าวหน้าดังกล่าว ทำให้สเปนเป็นประเทศผู้นำด้านการก่อสร้างสถานีบำบัดน้ำเสีย โดยภาคเอกชนของสเปนเข้าไปลงทุน/ดำเนินธุรกิจในสร้างโรงบำบัดน้ำเสียในหลายประเทศ อาทิเช่น     

  • เม็กซิโก : บริษัท ACCIONA Agua จากสเปน มีส่วนในการก่อสร้างโรงงานบำบัดน้ำเสีย Atotonilco ซึ่งเป็นโรงงานบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (world’s largest single-phase wastewater treatment plant) รองรับอัตราการไหล (flow rate) เฉลี่ยที่ 151,200 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง และความต้องการของประชากร 10.5 ล้านคน โดยเป็นผลงานของการออกแบบ ก่อสร้างและปฏิบัติการโดย Valley of Mexico Water Treatment Consortium (ATVM) จุดเด่นของโรงงานบำบัดน้ำเสียแห่งนี้ คือ ระบบโคเจนเนอเรชั่น ซึ่งมีการใช้ก๊าซชีวภาพในการผลิตพลังงานเพื่อใช้ในโรงงาน
  • อียิปต์ : โรงงานบำบัดน้ำเสีย New Cairo รองรับอัตราการไหลเฉลี่ยที่ 250,000 ลูกบาศก์เมตร/วันและความต้องการของประชากรได้มากกว่า 1 ล้านคน ก่อสร้างโดยบริษัท Aqualia ของสเปน (ร้อยละ 50) และบริษัท ORASCOM ของอียิปต์ (ร้อยละ 50) ได้รับยกย่องให้เป็นโครงการ PPP แรกที่ประสบความสำเร็จในอียิปต์

นอกจากบทบาทของภาคเอกชนแล้ว รัฐบาลสเปนเองก็ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องน้ำเป็นอย่างมาก โดยสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสเปน (Agencia Española de Cooperación Internacional para el Desarrollo - AECID) ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศ สหภาพยุโรปและความร่วมมือของสเปน ได้จัดตั้งกองทุนความร่วมมือด้านน้ำและการสุขาภิบาล (Fondo de Cooperación para Agua y Saneamiento) และได้เข้าไปดำเนินโครงการให้ความร่วมมือแก่หลายประเทศแถบลาตินอเมริกาและแคริบเบียนในด้านการบริหารจัดการน้ำ การสุขาภิบาล ท่อน้ำเสีย การบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น

ในส่วนของความร่วมมือกับประเทศไทยนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนสเปนต่างก็มองเห็นโอกาสในการเข้าไปขยายตลาดการบำบัดน้ำร่วมกับภาคเอกชนไทย ซึ่งปัจจุบัน มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ผ่านมา มีหลายบริษัทที่ประสบความสำเร็จ เช่น บริษัท Fluidra ที่ได้ดำเนินโครงการออกแบบและสร้างระบบน้ำสำหรับสวนน้ำการ์ตูนเน็ตเวิร์ค อเมโซน พัทยา และสร้างสระว่ายน้ำให้กับฟิตเนส Virgin Active ที่กรุงเทพ ฯ เป็นต้น

เพื่อป็นการตอกย้ำบทบาทผู้นำด้านการบริหารจัดการน้ำอันดับต้นของโลก สเปนกำลังเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม/งานแสดงสินค้านานาชาติ WEX Global 2022- the Water & Energy Exchange: UNLOCKING THE POWER OF THE SMART CIRCULAR ECONOMY ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์-2 มีนาคม ค.ศ. 2022 ณ เมืองบาเลนเซีย (http://wex-global.com/) และงาน AEDyR International Congress ครั้งที่ 8 ที่เน้นเรื่องการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลและการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ ณ เมืองกอร์โดบาในปี ค.ศ. 2022 (https://aedyr.com/en/events/) ซึ่งอาจเป็นโอกาสสำหรับหน่วยงานและผู้ที่สนใจจากประเทศไทยจะได้เข้าร่วมงานฯ เพื่อรับทราบข้อมูลก้าวหน้าเรื่องการบริหารจัดการน้ำในรูปแบบต่างๆ ของสเปน รวมถึงพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันต่อไปในอนาคต  

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านการจัดการน้ำของสเปนยังไม่จบเพียงเท่านี้ ตอนหน้าศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปนจะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักความเชี่ยวชาญเรื่องน้ำของสเปนด้านอื่นๆ เพิ่มเติมอีก ในรายงานฉบับต่อไป  

ติดตามสาระดี ๆ เกร็ดความรู้และโอกาสทางธุรกิจในสเปนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้ที่ https://bic-madrid.thaiembassy.org

 

[1] ในปี ค.ศ. 2018 สเปนส่งออกอาหารและผลผลิตทางการเกษตรมากเป็นอันดับ 7 ของโลก (มูลค่า 56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ ครองส่วนแบ่งตลาดโลกร้อยละ 3.6) โดยสินค้าอาหารและเกษตรของสเปนที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก อาทิ น้ำมันมะกอก ไวน์ และเนื้อสุกร เป็นต้น นอกจากนี้ สเปนยังได้รับการขนานนามว่าเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำของยุโรป” มาเป็นเวลาช้านาน ดังจะเห็นได้จากการที่สเปนสามารถปลูกผลไม้และผักได้ในปริมาณมากเป็นอันดับที่ 1 ในสหภาพยุโรป และส่งออกสินค้าทางการเกษตรมากเป็นอันดับ 4 และมีพื้นที่เกษตรกรรม (utilised agricultural area) มากเป็นอันดับ 2 (17 ล้านเฮคเตอร์หรือร้อยละ 13 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดในสหภาพยุโรป)