ส่องวงการแฟชั่นรักษ์โลกเพื่อความยั่งยืนในสเปน

ส่องวงการแฟชั่นรักษ์โลกเพื่อความยั่งยืนในสเปน

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 ม.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,437 view
หลังจากที่ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน ได้ประชาสัมพันธ์บทความเรื่อง “เทรนด์ธุรกิจกับความยั่งยืนในสเปน” ไปก่อนหน้านี้ และเราได้พูดแบรนด์สเปนชื่อ Ecoalf ที่โดดเด่นด้วยการนำวัสดุรีไซเคิลจากขยะ 100% มารังสรรค์เป็นแฟชั่นกันไปแล้ว วันนี้เราจะพามาเจาะลึกวงการแฟชั่นรักษ์โลกเพื่อความยั่งยืนในสเปนกันเพื่อให้ผู้อ่านรู้จักวงการแฟชั่นของประเทศนี้ว่า มีมากกว่าแบรนด์เสื้อผ้าและแฟชั่นชื่อดังระดับโลกติดหูคนไทยอย่าง Zara, Massimo Dutti, Loewe, Mango หรือรองเท้า Camper 
 
 

อุตสาหกรรมแฟชั่นเติบโตอย่างรวดเร็วโดยในรอบ 15 ปีมีการผลิตเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวทั้งโลกจาก 5 หมื่นล้านชิ้นในปี ค.ศ. 2000 เป็น 1 แสนล้านชิ้นในปี ค.ศ. 2015 ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากเทรนด์ Fast Fashion ที่เน้นการผลิตในปริมาณมาก ราคาถูก ซื้อง่าย หน่ายเร็ว อายุการใช้งานต่ำส่งผลให้ผู้บริโภคต้องกลับมาซื้อเสื้อผ้าใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า แฟชั่นจึงเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอุตสาหกรรมอาหารโดยร้อยละ 8 ของ Co2 ก๊าซเรือนกระจกบนโลกมาจากการผลิตเสื้อผ้าและการขนส่งเสื้อผ้าข้ามทวีป และในบางกรณีก็มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเนื่องจากโรงงานผลิตเสื้อผ้ามีบรรยากาศการทำงานที่ไม่เป็นมิตรและลูกจ้างได้รับค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม

เทรนด์ Fast Fashion มีอิทธิพลต่อครัวเรือนสเปนเช่นเดียวส่วนอื่นของโลก จากการศึกษาพบว่าในรอบปี ค.ศ. 2007-2015 แต่ละครัวเรือนสเปนมีค่าใช้จ่ายเสื้อผ้าลดลงทั้งที่จำนวนเสื้อผ้าแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง โดยแต่ละปีชาวสเปนซื้อเสื้อผ้าใหม่เฉลี่ยอยู่ที่ 450 ยูโร ใช้เสื้อผ้าเฉลี่ย 34 ชิ้นและสร้างขยะผ้า 12-14 กิโลกรัม ในจำนวนนี้สามารถรีไซเคิ้ลได้เพียงแค่ร้อยละ 20 เท่านั้นเพราะเนื้อผ้าที่ปะปนกันระหว่างเส้นใยธรรมชาติและเส้นใยสังเคราะห์ทำให้การรีไซเคิ้ลทำได้ไม่ง่ายนัก

ด้วยบริบทของโลกที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงทำให้ผู้บริโภคหลายคนไม่ได้มองเรื่องความสวยงามตอนเลือกซื้อเสื้อผ้าเท่านั้น แต่ยังมองรายละเอียดอื่น ๆ ที่ซ่อนอยู่ของเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่นก่อนที่จะตกมาถึงมือผู้บริโภค อาทิ การผลิตที่ไม่ทำร้ายสัตว์ (วีแกน) กระบวนการผลิตที่เคารพต่อความเป็นมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เป็นงานฝีมือใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ทำจากวัสดุรีไซเคิ้ล เป็นของวินเทจหรือมือสอง มีการรับรองว่าเป็นการค้าที่ชอบธรรม (Fair Trade Certified)

เทรนด์แฟชั่นรักษ์โลกกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในสเปนและคาดการณ์กันว่าธุรกิจนี้จะเป็นเทรนด์ในอนาคตของวงการนี้ จากสถิติของสมาคมแฟชั่นรักษ์โลกสเปนรายงานว่าร้อยละ 25 ของผลประกอบการอุตสาหกรรมแฟชั่นสเปนมาจากแฟชั่นรักษ์โลก (ประมาณ 4,500 ล้านยูโร) แล้วส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากผู้บริโภคหันมาใส่ใจกับประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและแบรนด์เสื้อผ้ายักษ์ใหญ่เริ่มเปลี่ยนท่าทีต่อเรื่องดังกล่าว ปัจจุบัน มีแบรนด์เสื้อผ้าและแฟชั่นในสเปนที่ตอบรับกับเทรนด์รักษ์โลกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อาทิ

1) แบรนด์ Ecoology จากบาร์เซโลนา ผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าออนไลน์สำหรับผู้ชาย ผู้หญิง รวมทั้งชุดชั้นในภายใต้สโลแกน “We love earth! Be cool, be green.” สินค้าทุกชิ้นใช้เส้นใยออร์แกนิกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการผลิต ออกแบบและตัดเย็บในโรงงานเล็ก ๆ ของบาร์เซโลนา (เว็บไซต์ https://ecoology.es/es/)

ตัวอย่างเสื้อยืดแบรนด์ Ecoology ที่ทำจากฝ้ายออร์แกนิกและฝ้ายไม้ไผ่

 

2) แบรนด์ IAOS จากแคว้นคาตาโลเนีย ผลิตเสื้อสเวตเตอร์จากเส้นด้ายรีไซเคิ้ล สถานที่ผลิตทุกขั้นตอนตั้งแต่การปั่นด้าย การออกแบบ ตัดเย็บและร้านค้าตั้งอยู่ในเมือง 3 แห่งใกล้เคียงกัน ซึ่งช่วยลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมจากการขนส่งและส่งเสริมการสร้างงานในพื้นที่ นอกจากนี้ แบรนด์ IAOS ยังออกแบบเสื้อสเวตเตอร์เพื่อให้ใช้งานได้นาน ไม่ใช้ซิป กระดุมหรือวัสดุอื่น ๆ ในการตัดเย็บเพื่อให้สามารถรีไซเคิ้ลได้เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้ว (เว็บไซต์ https://iaios.com/)

แบรนด์ IAIOS

3) แบรนด์ Ternua จากแคว้นบาสก์ ผลิตเสื้อผ้าเดินป่า ปีนเขา เล่นสกีสำหรับผู้ชาย ผู้หญิงและเด็ก สินค้าของแบรนด์นี้ผลิตด้วยวัสดุรีไซเคิ้ลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พรม อวนจับปลา ขวดพลาสติก ขนสัตว์รีไซเคิ้ล นอกจากนี้ Ternua ยังดำเนินโครงการ Nutcycle ใช้ประโยชน์จากขยะเปลือกวอลนัทที่เหลือจากโรงบ่มไซเดอร์ในพื้นที่มาผลิตเป็นสีย้อมผ้าแทนการใช้สีย้อมผ้าสังเคราะห์ (เว็บไซต์ https://www.ternua.com/es/)

เสื้อผ้าแบรนด์ Ternua

 

4) Swim Against แบรนด์ชุดว่ายน้ำจากบาร์เซโลนา ตัดเย็บโดยใช้ผ้าที่ทำจากอวนจับปลาและขวดพลาสติกรีไซเคิ้ล ลักษณะเด่นของสินค้าคือ 2 in 1 ใส่ได้ทั้ง 2 ด้าน ผลิตในบาร์เซโลนาภายใต้การค้าที่ชอบธรรม รายได้ส่วนหนึ่งนำไปช่วยเหลือโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (เว็บไซต์ https://www.swimagainst.com/)

Swim Against

คนสเปนเข้าถึงแฟชั่นรักษ์โลกได้อย่างไร

หลายหน่วยงานให้ความสำคัญกับการเผยแพร่แฟชั่นรักษ์โลก เพื่อดำเนินโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น

  • การจัดตั้งสมาคมแฟชั่นรักษ์โลก ได้แก่ สมาคมแฟชั่นรักษ์โลกสเปน (Asociación de Moda Sostenible de España) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2015 จากการรวมตัวกันเพียง 5 บริษัท แต่ในปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มมากกว่า 120 รายโดยส่วนใหญ่เป็น SMEs สมาคมแฟชั่นรักษ์โลกมาดริด (Asociación Moda Sostenible Madrid) สมาคมแฟชั่นรักษ์โลกมูรเซีย (Asociación de Moda Sostenible de Murcia) สมาคมแฟชั่นรักษ์โลกบาร์เซโลนา (Associació Moda Sostenible Barcelona)
  • การจัดทำโครงการส่งเสริมแฟชั่นรักษ์โลก อาทิ โครงการ Slow Fashion Next ที่จัดอบรมด้านแฟชั่นรักษ์โลกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 โครงการ The Circular Project Shop ส่งเสริมการค้า เผยแพร่สินค้าแฟชั่นรักษ์โลกของสเปนโดยยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (เมื่อเสื้อผ้าหมดอายุการใช้งานก็นำมารียูส รีไซเคิ้ลและใช้ประโยชน์สูงสุดจากวัสดุดังกล่าว)
  • การจัดทำแพลตฟอร์มค้นหาสินค้าแฟชั่นแนวรักษ์โลกที่น่าสนใจ เช่น 1) เว็บไซต์ Moda Impacto Positivo (https://modaimpactopositivo.com) จัดทำโดย Slow Fashion Next ผู้ใช้งานสามารถตั้งค่าการค้นหาได้ในหลายรูปแบบ เช่น ชนิดของเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่น ประเทศเจ้าของสินค้า เมือง ประเทศที่ผลิต หรือมาตรฐานที่ได้รับ (เช่น มาตรฐาน Global Organic Textile Standard – GOTS มาตรฐาน Fair Wear Foundation) หรือ 2) เว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น Ethical Time ที่เปิดตัวไปเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2019 (https://www.ethicaltime.com/) รวบรวมแบรนด์และร้านค้าในยุโรป 300 ราย ให้บริการ 3 ภาษาทั้งสเปน กาตาลัน (ภาษาท้องถิ่นของแคว้นคาตาโลเนีย) และอังกฤษ คาดว่าจะขยายจำนวนเป็น 5,000 แบรนด์ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า ผู้ใช้สามารถตั้งค่าค้นหาได้ทั้งวัสดุ สี ชนิดของเสื้อผ้า (เช่น ไม่ใช้สีย้อมผ้า เสื้อผ้าแฮนด์เมด) ขนาด คะแนนประเมินจากผู้ใช้งาน การจ้างงานที่เป็นธรรม โครงการต่อสังคม ผลผลิตในท้องถิ่น ความยั่งยืน และวีแกน

แพลตฟอร์ม Ethical Time

นี่เป็นเพียงไม่กี่ตัวอย่างของวงการแฟชั่นในสเปนที่ตอบรับและปรับตัวเข้ากับเทรนด์รักษ์โลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณานำมาประยุกต์ปรับใช้ต่อไปได้ สำหรับผู้สนใจที่ต้องการทำความรู้จักและเจาะลึกวงการแฟชั่นในสเปนอาจพิจารณาเข้าร่วมงาน MOMAD: International Fashion, Footwear and Accessories Exhibition ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020 ณ กรุงมาดริดและอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ifema.es/en/momad

สามารถติดตามสาระ เกร็ดความรู้และโอกาสทางธุรกิจในสเปนสำหรับผู้ประกอบการไทยได้ที่เว็บไซต์ของศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สังกัดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริดได้ที่ http://www.thaiembassy.org/bic.madrid/

 

ที่มาของภาพ

  • https://blog.oxfamintermon.org/moda-ecologica-slow-fashion-fast-fashion/
  • https://ecoology.es/es/
  • https://www.ternua.com/es/
  • https://www.swimagainst.com/
  • https://www.ethicaltime.com/