สเปนสร้างสถิติลดการใช้ถ่านหิน และขึ้นแท่นอันดับ 1 ประเทศที่มีการติดตั้ง Solar Cell มากที่สุดในอียู

สเปนสร้างสถิติลดการใช้ถ่านหิน และขึ้นแท่นอันดับ 1 ประเทศที่มีการติดตั้ง Solar Cell มากที่สุดในอียู

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ก.พ. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,651 view

สเปนใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหลายประเภท โดยจากสถิติของปี ค.ศ. 2019 พบว่า สเปนใช้พลังงานความร้อนร่วม (Combined Cycle) ในการผลิตพลังงานมากที่สุดในสัดส่วนร้อยละ 21.9 รองลงมาคือพลังงานนิวเคลียร์ (ร้อยละ 21.2) พลังงานลม (ร้อยละ 20.6) ระบบโคเจนเนอเรชั่น (ร้อยละ 11.4) พลังงานน้ำ (ร้อยละ 9) ถ่านหิน (ร้อยละ 5) พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ (ร้อยละ 3.5) พลังงานความร้อนแสงอาทิตย์ (ร้อยละ 2) และจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ (ร้อยละ 1.7)

จะเห็นได้ว่า สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนของสเปนสูงขึ้นเรื่อย ๆ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลสเปนในการมุ่งให้เศรษฐกิจของประเทศกลายเป็นเศรษฐกิจที่ไม่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) ภายในปี ค.ศ. 2050 ตามที่ตั้งเป้าไว้  ความมุ่งมั่นนี้ทำให้มีเรื่องน่ายินดีหลายเรื่องสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียนในสเปน ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019 จนถึงปีใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นมาไม่นานนี้

ข่าวดีแรกคือ ความสำเร็จในการลดการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า ต้องเกริ่นก่อนว่าหลายสิบปีที่ผ่านมา ถ่านหินเป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานหลักของการผลิตไฟฟ้าของประเทศ แต่เพื่อรับมือกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลสเปนได้ตั้งเป้าเลิกใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งผลการดำเนินการภายในปี ค.ศ. 2019 สเปนก็ได้ฉายแววศักยภาพและความจริงจังกับนโยบายนี้แล้ว เพราะปัจจุบันสเปนใช้ถ่านหินในการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพียงแค่ร้อยละ 5 เท่านั้น โดยลดลงจากปี ค.ศ. 2018 ร้อยละ 64.8 และเมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2002 สเปนสามารถลดการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าได้ถึงร้อยละ 85.6 เลยทีเดียว นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สเปนไม่มีความจำเป็นต้องใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าได้นานถึง 5 วัน (14, 21, 22, 24 และ 25 ธันวาคม)

เหมืองแร่ถ่านหินที่ Cerredo แคว้น Asturias ทางตอนเหนือของสเปนได้ปิดตัวลง

การลดการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าได้อย่างประสบความสำเร็จเป็นผลมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1) ราคาคาร์บอนเครดิตที่สูงขึ้นเป็น 25 ยูโร/ตัน ทำให้การผลิตไฟฟ้าด้วยวิธีนี้มีความสามารถในการแข่งขันลดลง เนื่องจากต้องใช้   ถ่านหินนำเข้าถึงร้อยละ 90 ในการผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าพลังความร้อน (Thermal Power Plant) อีกทั้งเหมืองแร่ถ่านหินในสเปนก็ปิดตัวลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2018[1] 2) ราคาก๊าซธรรมชาติลดลง และ 3) กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ผลที่ตามมาคือ อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าสเปนสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศได้ถึงร้อยละ 33.3 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า (43 ล้านตันในปี ค.ศ. 2019 และ 64.5 ล้านตันในปี ค.ศ. 2018)  

 

ตลาดเซลล์แสงอาทิตย์ 10 อันดับแรกของอียู 28 ปี 2018-2019

ปี ค.ศ. 2019 ยังเป็นปีที่อุตสาหกรรมพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในสเปนเติบโตมากที่สุดในอียู โดยในอียูมีการติดตั้งกำลังการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์รวม 16.7 กิกะวัตต์ (เพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า) ซึ่งสเปนครองสัดส่วนการติดตั้งร้อยละ 28 ของอียูหรือ 4.7 กิกะวัตต์ ตามมาด้วยเยอรมนี ฮอลแลนด์และฝรั่งเศส (4 กิกะวัตต์ 2.5 กิกะวัตต์และ 1.1 กิกะวัตต์ตามลำดับ) นับเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปีที่สเปนสามารถทวงบัลลังค์คืนได้สำเร็จหลังจากเคยขึ้นแท่นอันดับ 1 ตำแหน่งเดียวกันนี้ไปเมื่อปี ค.ศ. 2008 สำหรับสเปน อุตสาหกรรมแสงอาทิตย์มีความสำคัญและเป็นกลไกหลักในการดำเนินการ Decarbonization ของประเทศ และคาดกันว่าในทศวรรษหน้าตลาดพลังงานแสงอาทิตย์สเปนจะเป็นตลาดที่สำคัญแห่งหนึ่งของยุโรป ทั้งในส่วนของเซลล์แสงอาทิตย์และความร้อนของแสงอาทิตย์ (Solar Thermal)

ข่าวดีล่าสุดที่สเปนเพิ่งได้รับและเป็นการตอกย้ำความสำเร็จของสเปนในการมุ่งสู่การ Decarbonization คือ การที่สเปนได้รับเลือกให้เป็นประธานงานประชุม IRENA Assembly[2] ครั้งที่ 11 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 มกราคม ค.ศ. 2021 ที่กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อันเป็นที่ตั้งของหน่วยงาน IRENA เนื่องจากว่ารัฐบาลสเปนได้ให้ความสำคัญและมีบทบาทกับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและการรับมือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสเปนเป็นหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งหน่วยงานดังกล่าวร่วมกับเยอรมนีและเดนมาร์กตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 ด้วย ทั้งนี้ งาน IRENA Assembly ครั้งนี้ ยังจะเป็นโอกาสที่ดียิ่งสำหรับธุรกิจภาคพลังงานทดแทนของสเปน เนื่องจากภายในงานดังกล่าวจะมีผู้แทนกว่า 1,500 คนจากทั้งภาครัฐและเอกชนในสาขาดังกล่าวจากทั่วโลกเข้าร่วมงาน ซึ่งก็จะช่วยส่งเสริมโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนสเปนอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

ที่มาของภาพ

  • https://elpais.com/sociedad/2020/01/02/actualidad/1577980066_743415.html
  • https://www.xataka.com/energia/espana-recupera-liderato-fotovoltaico-europeo-11-anos-despues-tiene-uno-cada-cuatro-mw-que-se-instalan-continente


[1] เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลสเปนตามข้อมติของสหภาพยุโรป (2010/787/EU: Council Decision of 10 December 2010 on State aid to facilitate the closure of uncompetitive coal mines)

[2]  IRENA (International Renewable Energy Agency) Assembly เป็นเวทีสำหรับส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน