สเปนกับการบริจาคอวัยวะและเทคโนโลยีการปลูกถ่ายอวัยวะ (ตอนที่ 2)

สเปนกับการบริจาคอวัยวะและเทคโนโลยีการปลูกถ่ายอวัยวะ (ตอนที่ 2)

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 พ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 พ.ย. 2563

| 3,059 view

บทความที่แล้ว ผู้อ่านได้รับทราบเกี่ยวกับสถิติการบริจาคอวัยวะในสเปนและวิทยาการการปลูกถ่ายอวัยวะของสเปนที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกกันไปแล้ว วันนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปนจะพาผู้อ่านไปเจาะลึกเกี่ยวกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการปลูกถ่ายไตของสเปน โดยเฉพาะการปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือด ซึ่งเป็นเทคนิคที่ช่วยต่ออายุให้แก่ผู้ป่วยโรคไตมาแล้วหลายรายมาจนถึงทุกวันนี้

ในบทความนี้ ผู้อ่านจะได้รู้จักกับการปลูกถ่ายไตในสเปนใน 3 มิติ ได้แก่ 1. สถิติการปลูกถ่ายไตในสเปน 2. การปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือด และ 3. การแลกเปลี่ยนไตเพื่อการปลูกถ่ายระดับประเทศและระดับนานาชาติ

shutterstock_684064942

  1. สถิติการปลูกถ่ายไตในสเปน

สเปนมีประสบการณ์ด้านการปลูกถ่ายไตมานานกว่า 55 ปี โดยย้อนหลังไปเมื่อปี ค.ศ. 1965 ที่สเปนปลูกถ่ายไตสำเร็จเป็นครั้งแรก ณ โรงพยาบาล Hospital Clínic Barcelona นครบาร์เซโลนา

ไตเป็นอวัยวะที่มีการปลูกถ่ายมากที่สุดในสเปน โดยเมื่อปี ค.ศ. 2019 มีการปลูกถ่ายถึง 3,423 ครั้ง (72.8 รายต่อประชากร 1 ล้านคน) จากการปลูกถ่ายอวัยวะทั้งหมด 5,449 ครั้ง และในจำนวนนี้เป็นไตที่ได้มาจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตด้วยภาวะสมองตาย 2,074 ราย ภาวะหัวใจหยุดเต้น 1,014 ราย และผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต 335 ราย (ในปี ค.ศ. 2019 การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิตในสเปนเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเปรียบเทียบกับปี ค.ศ. 2018) ทั้งนี้ แคว้นที่มีการปลูกถ่ายไตมาก 3 อันดับแรก ได้แก่ แคว้นคาตาโลเนีย (882 ราย) แคว้นอันดาลูเซีย (575 ราย) และแคว้นมาดริด (426 ราย) โดยมีค่าใช้จ่ายในการปลูกถ่ายไตประมาณ 22,369 ยูโร

สำหรับผู้ป่วยที่ต้องปลูกถ่ายไตในสเปน หากเป็นกรณีการเปลี่ยนถ่ายระหว่างหมู่เลือดที่เข้ากันไม่ได้ จะมีแนวทางการดำเนินการ 2 ทาง ได้แก่ 1) การปลูกถ่ายไตข้ามกลุ่มเลือด ซึ่งจะมีขั้นตอนการดำเนินการที่รวดเร็วกว่าการรอการปลูกถ่ายไตจากทางเลือกที่ 2) ซึ่งได้แก่การเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนเพื่อการปลูกถ่ายไต (Programa Nacional de Donación Renal Cruzada) ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปในหัวข้อที่ 3

Figura_10_Evolución_de_la_Actividad_de_Trasplante_Reanales_de_donante_en_asistolia._España_1995-2019

พัฒนาการบริจาคไตจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นในสเปนปี ค.ศ. 1995 – 2019

  1. การปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือด

             2.1  สถิติหมู่เลือดและโรงพยาบาล

การปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือดเริ่มครั้งแรกในสเปนเมื่อปี ค.ศ. 2006 ณ โรงพยาบาล Hospital Clinic นครบาร์เซโลนา สถิติล่าสุดในปีค.ศ. 2019 สเปนทำการปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือดจากผู้บริจาคที่มีชีวิต 38 ครั้ง โดยแบ่งเป็น 1) ผู้บริจาคหมู่เลือด A / ผู้รับบริจาคหมู่เลือด O 23 ครั้ง 2) ผู้บริจาคหมู่เลือด B /ผู้รับบริจาคหมู่เลือด O 7 ครั้ง 3) ผู้บริจาคหมู่เลือด AB / ผู้รับบริจาคหมู่เลือด A 3 ครั้ง 4) ผู้บริจาคหมู่เลือด B / ผู้รับบริจาคหมู่เลือด A 3 ครั้ง และ 5) ผู้บริจาคหมู่เลือด A / ผู้รับบริจาคหมู่เลือด B 2 ครั้ง

Figura_66_Evolución_de_los_grupos_sanguíneos_de_donante_y_recptor_de_trasplante_renal_de_donante_vivo_ABO_incompatible._España_2011-2019

สถิติการปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือดในสเปนตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011-2019

 (Donante = ผู้บริจาค Receptor = ผู้รับบริจาค)

โรงพยาบาลที่ทำการปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือดมากที่สุด 3 อันดับแรกจากผู้บริจาคที่มีชีวิตในช่วงปี ค.ศ. 2011-2019 ได้แก่ โรงพยาบาล Hospital Clinic Barcelona นครบาร์เซโลนา (แคว้นคาตาโลเนีย) 70 ครั้ง  / โรงพยาบาล Complejo Hospitalario Universitario A Coruña เมืองลา กอรุญญา (แคว้นกาลีเซีย) 55 ครั้ง และโรงพยาบาล Hospital Universitario de Bellvitge นครบาร์เซโลนา (แคว้นคาตาโลเนีย) 29 ครั้ง

          2.2      เทคนิคที่สเปนใช้ในการปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือด

เทคนิคที่สเปนใช้ในการปลูกถ่ายไตข้ามกลุ่มเลือด คือกระบวนการขจัดภูมิไว (desensibilization) ในผู้ป่วยเพื่อลด antibody ให้มีปริมาณต่ำเพียงพอและเพื่อป้องกันการปฏิเสธอวัยวะซึ่งมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

เทคนิคที่สเปนใช้ในการปลูกถ่ายไตข้ามกลุ่มเลือด

 

  1. การแลกเปลี่ยนไตเพื่อการปลูกถ่ายระดับประเทศและระดับนานาชาติ

องค์กร ONT ของสเปนเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการแลกเปลี่ยนไตเพื่อปลูกถ่ายระดับนานาชาติกับประเทศพันธมิตรยุโรปใต้[1] เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงไตที่เข้ากับผู้ป่วย ประกอบด้วยสเปน ฝรั่งเศส อิตาลี โปรตุเกส เช็ก และสวิตเซอร์แลนด์ โดยสเปนได้ทำการแลกเปลี่ยนไตกับประเทศสมาชิกภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ที่ประสบความสำเร็จแล้ว 2 ครั้ง    

  • ครั้งที่ 1 เมื่อปี ค.ศ. 2018 เป็นความร่วมมือระหว่างคณะแพทย์จากมูลนิธิ Fundació Puigvert นครบาร์เซโลนา (สเปน) และโรงพยาบาล Ospedale Cisanello เมืองปิซ่า (อิตาลี) มีโรงพยาบาล    14 แห่งในสเปน 10 แห่งในอิตาลี 3 แห่ง และ 11 แห่งในโปรตุเกส ที่เข้าร่วมโครงการเพื่อจับคู่ผู้บริจาค-ผู้รับบริจาค จำนวน 113 คู่ (สเปน 79 คู่ โปรตุเกส 19 คู่และอิตาลี 15 คู่)
  • ครั้งที่ 2 เมื่อปี ค.ศ. 2019 คณะแพทย์จากมูลนิธิ Fundació Puigvert นครบาร์เซโลนา (สเปน) และศูนย์ Padova Kidney Transplant centre (อิตาลี) ร่วมมือดำเนินการแลกเปลี่ยนการปลูกถ่ายไตระดับนานาชาติให้แก่คู่ฝ่ายสเปน (มารดาและบุตร) และคู่ฝ่ายอิตาลี (คู่สมรส)

 

โอกาสความร่วมมือด้านการปลูกถ่ายอวัยวะระหว่างสเปนกับไทยในอนาคต

จากประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในด้านการบริจาค/การปลูกถ่ายอวัยวะของสเปนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลดังกล่าวแล้ว ทำให้การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับสเปนในสาขาดังกล่าวจึงน่าจะเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อช่วยลดปัญหาการขาดแคลนอวัยวะและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในระยะยาว ตลอดจนส่งเสริมนโยบายการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical hub) ของรัฐบาลไทยได้อีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ หน่วยงานของไทยที่สนใจสามารถติดต่อสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด เพื่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมและการอำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบของฝ่ายสเปนได้

 

ติดตามสาระดี ๆ เกร็ดความรู้และโอกาสทางธุรกิจในสเปนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้ที่ https://bic-madrid.thaiembassy.org

 

ที่มาของภาพ

           

    

[1] หมายถึงการแลกเปลี่ยนไตกันข้ามประเทศระหว่างผู้บริจาคของครอบครัวผู้ป่วย A ให้แก่ผู้ป่วย B และผู้บริจาคของครอบครัวผู้ป่วย B ให้ผู้ป่วย A เนื่องจากว่าไตของผู้บริจาคไม่เข้ากับผู้ป่วยของครอบครัวตนเองได้ ข้อมูลดังกล่าวจะถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนคู่ผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์และสามารถจับคู่ได้มากกว่า 2 คู่