วันที่นำเข้าข้อมูล 16 มี.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,308 view
  1. ท่าเรือและท่าเรือบก

2.1 ท่าเรือ

รายงาน Global Competitiveness Report 2019 ระบุว่า สเปนมีโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือที่ทันสมัย โดยการเชื่อมต่อทางท่าเรือ (Liner shipping connectivity) และประสิทธิภาพของการบริการขนส่งทางท่าเรือสเปน (Efficiency of seaport services) ติดอันดับ 11 และ 16 ของโลก ในปี 2564 สเปนมีการขนส่งสินค้าทางเรือ 544.5 ล้านตันและขนส่งผู้โดยสาร 18 ล้านคน ท่าเรือในประเทศมีทั้งหมด 46 แห่งภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานการท่าเรือ 28 แห่งซึ่งขึ้นตรงต่อการท่าเรือสเปน (Puertos del Estado) โดย 3 ท่าเรือที่มีความสำคัญที่สุด ได้แก่ ท่าเรือเมืองบาเลนเซีย ท่าเรือเมืองอัลเฆซีราสและท่าเรือนครบาร์เซโลนา ซึ่งติด 10 อันดับท่าเรือยุโรปที่มีปริมาณการขนส่งตู้คอนเทอร์เนอร์มากที่สุด

 Puertos_del_Estado

ท่าเรือในสเปน

2.1.1 ท่าเรือเมืองบาเลนเซีย อยู่ภายใต้การบริหารของการท่าเรือเมืองบาเลนเซีย (Autoridad Portuaria de Valencia) เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ตั้งอยู่ในจังหวัดบาเลนเซีย แคว้นบาเลนเซีย เป็นจุดยุทธศาสตร์ของเส้นทางการค้าในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งเชื่อมโลกตะวันออก-ตะวันตกเข้าไว้ด้วยกันผ่านคลองสุเอซ (อียิปต์) ไปยังช่องแคบยิบรอลตาร์ และมีความได้เปรียบในการเชื่อมโยงการเดินเรือและการค้าระหว่างยุโรปใต้ ประเทศยุโรปอื่นโดยเฉพาะในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตะวันออกกลาง แอฟริกา และภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก ท่าเรือเมืองบาเลนเซียมีเส้นทางการเดินเรือปกติ 100 เส้นทางไปยังท่าเรือ 1,000 แห่งใน 5 ทวีป และมีบริษัทขนส่งทางเรือยักษ์ใหญ่ เช่น MAERSK (เดนมาร์ก) COSCO (จีน) CMA CGM (ฝรั่งเศส) Ocean Network Express (ญี่ปุ่น) และ Evergreen Line (ไต้หวัน) ตั้งสำนักงานให้บริการอยู่

 Valenciaport

พื้นที่แนวหลังของท่าเรือ (Hinterland) ภายในรัศมี 350 กิโลเมตรของท่าเรือเมืองบาเลนเซีย ซึ่งช่วยให้การขนส่งสินค้าไปยังพื้นที่อื่นภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มาของภาพ https://www.valenciaport.com/negocio/conexiones-maritimas-y-terrestres/

 

สำหรับการเชื่อมโยงทางภาคพื้นดินจากท่าเรือเมืองบาเลนเซียไปยังพื้นที่ต่างๆ ในสเปน ก็มีโครงข่ายคมนาคมสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพ ทั้งทางถนนและทางราง มีว่าจะเป็นกับกรุงมาดริด หรือกับท่าเรือบกอื่น ๆ ในประเทศ เช่น ท่าเรือบกเมืองกอสลาดา (แคว้นมาดริด) และท่าเรือบกเมืองซาราโกซา (แคว้นอารากอน) เป็นต้น

เมื่อปี 2564 ท่าเรือเมืองบาเลนเซียจัดเป็นท่าเรือที่มีการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์มากที่สุดในสเปน จำนวน 5.6 ล้าน TEUs และมีปริมาณขนส่งสินค้า 85 ล้านตัน ซึ่งมีสินค้าไทยที่ขนส่งผ่านท่าเรือดังกล่าวด้วย อาทิ ข้าว อาหารและเครื่องดื่ม

 

2.1.2  ท่าเรือนครบาร์เซโลนา อยู่ภายใต้การบริหารของการท่าเรือบาร์เซโลนา (Autoridad Portuaria de Barcelona) เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ตั้งอยู่ในนครบาร์เซโลนา แคว้นคาตาโลเนีย เป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมโยงการเดินเรือและการค้าระหว่างยุโรปใต้ ประเทศยุโรปอื่นโดยเฉพาะในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตะวันออกกลาง แอฟริกา และภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก มีเส้นทางการเดินเรือปกติ 90 เส้นทางไปยังท่าเรือ 300 แห่งใน 5 ทวีป และมีสำนักงานของบริษัทขนส่งทางเรือยักษ์ใหญ่ เช่น MAERSK (เดนมาร์ก) COSCO (จีน) CMA CGM (ฝรั่งเศส) MSC (อิตาลี) และ UASC (อาหรับเอมิเรตส์) ให้บริการอยู่ภายในท่าเรือด้วย

ท่าเรือนครบาร์เซโลนามีจุดเด่นด้านโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางราง โดยท่าเรือให้บริการขนส่งทางราง 4 เส้นทางปกติ ได้แก่ 1) เส้นทางข้ามคาบสมุทรไอบีเรียผ่านกรุงมาดริดและสิ้นสุดปลายทางที่กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส 2) เส้นทางไปยังภาคเหนือของสเปน สิ้นสุดปลายทางที่เมืองบิลเบา (แคว้นบาสก์) เมืองลากอรูญาและเมืองบีโก  (แคว้นกาลีเซีย) 3) เส้นทางไปยังภาคใต้ของฝรั่งเศสสิ้นสุดที่เมืองบอร์กโดซ์ และ 4) เส้นทางไปยังยุโรปเหนือ (เมืองแม็ส ฝรั่งเศส) และยุโรปใต้ (เมืองอัลเฆซีราส สเปน) อนึ่ง เส้นทางบริการที่ 1 และที่ 3 มีการเชื่อมโยงทางคมนาคมกับท่าเรือบกเมืองซาราโกซาซึ่งเป็นท่าเรือบกที่สำคัญของสเปนด้วย

ท่าเรือนครบาร์เซโลนาเป็นท่าเรือแห่งแรกในแถบทะเลเมดิเตอร์เนียนที่ดำเนินการด้วยระบบกึ่งอัตโนมัติ โดยในปี 2564 มีการขนส่งสินค้า 64.99 ล้านตันและการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ 3.53 ล้าน TEUs และเป็นท่าเรือหลักของสินค้าเข้าจากไทยด้วย ในด้านการขนส่งผู้โดยสาร ท่าเรือนครบาร์เซโล-นาเป็นท่าเรืออันดับ 1 ของยุโรปและอันดับ 3 ของโลกที่มีการเทียบท่าเรือสำราญมากที่สุดในโลก โดยต้อนรับผู้โดยสารเฉลี่ยปีละ 2.6 ล้านคน

 

2.1.3  ท่าเรือเมืองอัลเฆซีราส อยู่ภายใต้การบริหารของการท่าเรืออ่าวอัลเฆซีราส (Autoridad Portuaria de la Bahía de Algeciras) เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ตั้งอยู่ในจังหวัดกาดิซ แคว้นอันดาลูเซีย ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ของเส้นทางการค้าระหว่างยุโรปใต้กับแอฟริกา เชื่อมต่อเส้นทางการเดินเรือและการค้าในช่องแคบยิบรอลตาร์ ระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับมหาสมุทรแอตแลนติก มีเส้นทางการขนส่ง 28 เส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือ 198 แห่งใน 74 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในแอฟริกา และมีสำนักงานของบริษัทขนส่งทางเรือยักษ์ใหญ่ เช่น MAERSK (เดนมาร์ก) MSC (อิตาลี) COSCO (จีน) และ CMA CGM (ฝรั่งเศส) ตั้งอยู่ด้วย

ท่าเรือเมืองอัลเฆซีราสดำเนินการด้วยระบบกึ่งอัตโนมัติ และเป็นท่าเรือที่มีการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สินค้ามากที่สุดเป็นอันดับ 7 ในยุโรป โดยในปี 2564 ปริมาณการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ 4.79 ล้าน TEUs และขนส่งสินค้ารวม 105.07 ล้านตัน

ท่าเรือเมืองอัลเฆซีราสยังเป็นประตูนำเข้าสินค้าไทยอีกด้วย โดยมีการนำเข้าสินค้าหลายชนิด อาทิ ข้าว ปลากระป๋อง เครื่องเทศ เหล็กและเหล็กกล้า นอกจากนี้ ท่าเรือดังกล่าวยังได้รับมาตรฐานฮาลาลของสเปนซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาใช้บริการท่าเรือเพื่อส่งสินค้าไทยเข้าสู่สเปน ยุโรปใต้ แอฟริกาและตะวันออกกลางได้ด้วย

อนึ่งปัจจุบัน มีท่าเรือในสเปนสองแห่งที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาล ได้แก่ ท่าเรือเมืองอัลเฆซีราส[1] และท่าเรือเมืองอูเอลบา[2] ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่สนใจขยายธุรกิจสินค้าฮาลาลมายังสเปน อาจพิจารณาใช้บริการของท่าเรือดังกล่าว โดยศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากบทความ “เกาะติดความคืบหน้าท่าเรืออัลเฆซีราส ท่าเรือฮาลาลของสเปน” และ “มองหาโอกาสสำหรับธุรกิจไทยที่ท่าเรืออูเอลบาทางใต้ของสเปน

         

 

2.2 ท่าเรือบก

สเปนมีท่าเรือบก (Dry Port) หลายแห่งที่รองรับการให้บริการขนถ่ายในสินค้าเข้าออกจากพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศอย่างครอบคลุมและสามารถตอบสนองความต้องการของธุรกิจในประเทศได้เป็นอย่างดี โดยมีท่าเรือบกที่สำคัญ ได้แก่  

2.2.1 ท่าเรือบกเมืองกอสลาดา แคว้นมาดริด ตั้งอยู่ห่างจากท่าอากาศยาน Madrid-Barajas Adolfo Suárez ประมาณ 6 กิโลเมตร ให้บริการขนถ่ายสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกระหว่างท่าเรือที่สำคัญของประเทศโดยเฉพาะท่าเรือเมืองบาเลนเซียและท่าเรือนครบาร์เซโลนา ด้วยตำแหน่งที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้กรุงมาดริด มีระบบเครือข่ายระบบรางและถนนมีประสิทธิภาพ รวมทั้งข้อได้เปรียบในแง่ต้นทุนค่าใช้พื้นที่ ทำให้สินค้านำเข้าและส่งออกไปและจากกรุงมาดริด เลือกเส้นทางขนส่งผ่านท่าเรือบกแห่งนี้

2.2.2 ท่าเรือบกเมืองซาราโกซา แคว้นอารากอน ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ระหว่าง 4 เมืองเศรษฐกิจและท่าเรือหลักของสเปน ได้แก่ กรุงมาดริด นครบาร์เซโลนา เมืองบิลเบาและเมืองบาเลนเซีย อีกทั้งอยู่ไม่ไกลจากชายแดนฝรั่งเศส จึงสามารถเป็นทางผ่านสำคัญของสินค้าจากยุโรปใต้ (สเปนและโปรตุเกส) ไปสู่ประเทศอื่นในยุโรปได้อย่างมีประสิทธิภาพ จุดเด่นของท่าเรือบกแห่งนี้คือ 1) ทำเลที่ตั้ง 2) การให้บริการตู้สินค้าควบคุมความเย็น และ 3) การเชื่อมโยงกับเครือข่ายระบบขนส่งทั้งในและนอกประเทศที่มีประสิทธิภาพ เช่น เชื่อมต่อกับทางด่วนบาสโก-อาราโกเนซา ทางหลวงมาดริด-ซาราโกซา ทางด่วนซาราโกซา-บาร์เซโลนา นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับระบบการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างยุโรปกับจีน

ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากบทความ “ท่าเรือบกในสเปน ตัวอย่างความสำเร็จสำหรับการพัฒนาท่าเรือของประเทศไทย

 

[1] ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสถาบันฮาลาลแห่งเมืองกอร์โดบา

[2] ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาลจาก Halal Food & Quality จากเมืองบาเลนเซีย