วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ก.ย. 2562
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
พระราชวัง Alhambra เมืองกรานาดา หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอารยธรรมอิสลามอัล-อันดาลุส
สเปนเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากฝรั่งเศส โดยในปี 2561 สเปนต้อนรับนักท่องเที่ยวจำนวน 82.6 ล้านคน และแม้ว่าสเปนจะไม่ใช่ประเทศมุสลิม โดยมีประชากรมุสลิมประมาณ 2 ล้านคนในประเทศ แต่รายล้อมด้วยประเทศมุสลิม และมีแหล่งประวัติศาสตร์เกี่ยวกับมุสลิม จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ประเทศนี้มีศักยภาพสูงด้านการท่องเที่ยวเชิงฮาลาล
เมื่อปี 2562 สเปนติดอันดับ 9 ของประเทศในกลุ่มที่ไม่ใช่มุสลิมที่ได้รับความนิยมจากนักเดินทางชาวมุสลิมมากที่สุด (Top 20 Non-OIC Destination) ตามดัชนี Global Muslim Travel Index โดยนักท่องเที่ยวจากประเทศมุสลิม 5 อันดับแรกที่มาเยือนสเปน ได้แก่ แอลจีเรีย ตุรกี โมร็อกโก อียิปต์และอินโดนีเซีย ในวันนี้ เราจะมาพาผู้อ่านมารู้จักศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงฮาลาลในสเปน และโอกาสสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจและบริการฮาลาลของไทย
การท่องเที่ยวเชิงฮาลาลในสเปนนับว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นตามกระแสโลกในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากการปรับปรุงเที่ยวบินระหว่างสเปนกับกลุ่มประเทศอาหรับ (Gulf Cooperation Council - GCC) การจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวสเปนในสถานเอกอัครราชทูตสเปน ณ กรุงอาบูดาบี เมื่อปี 2559 เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศ GCC และการจัดทำเว็บไซต์ของการท่องเที่ยวสเปน (Turespaña) เป็นภาษาอาหรับในปี 2560 สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้โดยเฉพาะ โดยให้ข้อมูลการท่องเที่ยวเชิงฮาลาลทั้งรายชื่อร้านอาหาร โรงแรม ห้องละหมาดในสนามบิน มัสยิดทั่วทั้งสเปน เป็นต้น
จากสถิติค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว (EGATUR) พบว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปที่ไปเยือนสเปน (137 ยูโร/วัน หรือ 1,063 ยูโร/คนในปี 2560) โดยจุดขายของสเปนสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ได้แก่ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับมุสลิมที่ตั้งอยู่ในแคว้นอันดาลูเซีย อาหารและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการท่องเที่ยว รวมทั้งการมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ โดยนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซาอุดีอาระเบียและตุรกีใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 274 ยูโร 286 ยูโร และ 234 ยูโร/วัน หรือ 2,066 ยูโร 1,877 ยูโรและ 1,711 ยูโร/คนตามลำดับ
แนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยว Andalucía, tus Raíces ของรัฐบาลแคว้นอันดาลูเซีย
ในด้านนโยบาย รัฐบาลสเปนได้มอบอำนาจให้รัฐบาลท้องถิ่นกำหนดและดำเนินนโยบายด้านการท่องเที่ยวในส่วนของการท่องเที่ยวเชิงฮาลาล หากเจาะลึกในแคว้นอันดาลูเซีย (แคว้นภาคใต้ของประเทศ) เราจะพบว่ามีความพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงฮาลาลทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
ในส่วนของการดำเนินการของภาครัฐ รัฐบาลอันดาลูเซียได้สร้างจุดขายจากมรดกทางวัฒนธรรมอิสลามอัล-อันดาลุสผ่านแนวคิด Andalucía, tus Raíces (Andalusia Your Roots) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมให้เดินทางมาเยือนสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของศาสนาอิสลามภายในแคว้น โดยรัฐบาลแคว้นฯ ได้ร่วมมือกับสถาบันฮาลาลแห่งเมืองกอร์โดบาเพื่อโน้มน้าวให้ผู้ประกอบการภายในพื้นที่จัดให้มีสินค้าและบริการเชิงฮาลาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงฮาลาลอย่างครบวงจร ขณะเดียวกัน หน่วยงานการท่องเที่ยวเมืองกอร์โดบาก็มีแนวคิดจัดทำมาตรฐาน ARISTA[1] เพื่อพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงฮาลาลในพื้นที่ รวมทั้งการจัดงานเทศกาลสำคัญตามปฏิทินอิสลามเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมเข้าไปสัมผัสรากวัฒนธรรมอิสลามในพื้นที่เมืองกอร์โดบา
แผนที่จังหวัดต่าง ๆ ในแคว้นอันดาลูเซีย ทางตอนใต้ของประเทศสเปน
ในส่วนของภาคเอกชนก็มีการดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงฮาลาลจากหลายฝ่าย อาทิ 1) โรงแรม Alanda ในเมือง Marbella ได้ตัดสินใจขอรับมาตรฐานฮาลาลจากสถาบันฮาลาลแห่งเมืองกอร์โดบา และได้กลายเป็นที่พักยอดนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวมุสลิม และที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม 2) บริษัททัวร์หลายแห่งได้เริ่มจัดโปรแกรมทัวร์ฮาลาลและมัคคุเทศก์ฮาลาลเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ทำความรู้จักกับอารยธรรมอัล-อันดาลุสอย่างลึกซึ้งและให้นักท่องเที่ยวมีกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การเพ้นท์กระเบื้อง การหัดเขียนภาษาอาหรับ การวาดภาพเมืองกอร์โดบา การเยี่ยมชุมชมมุสลิมที่จังหวัดกรานาดา เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าภาคส่วนต่าง ๆ ในสเปน โดยเฉพาะในแคว้นอันดาลูเซียตื่นตัวกับการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวฮาลาล เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงฮาลาลของสเปนก็สามารถเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยได้ เช่น
- สินค้าอาหารฮาลาลของไทยที่นอกจากจะมีตลาดชาวมุสลิมในสเปนจำนวนกว่า 2 ล้านคนแล้ว ในแต่ละปี จำนวนนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมที่เดินทางเข้ามาในสเปนไม่ขาดสาย ก็เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการสินค้าอาหารฮาลาลไทยสามารถขยายตลาดได้ไม่น้อยเช่นกัน โดยปัจจุบัน อาหารและเครื่องดื่มฮาลาลที่บริโภคกันในสเปนมักเป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้ามาจากโมร็อกโกและฝรั่งเศส อาหารฮาลาลของไทยจึงน่าจะเข้ามาเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับผู้บริโภคชาวมุสลิมในสเปน โดยในสเปนมีท่าเรือที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาล คือ ท่าเรืออัลเฆซีราส ตามบทความ “เกาะติดความคืบหน้าท่าเรืออัลเฆซีราส ท่าเรือฮาลาลของสเปน” และ “ขยายตลาดธุรกิจฮาลาลไทย ตอน 3: ท่าเรืออัลเฆซีราสและโอกาสสำหรับสินค้าและธุรกิจไทยในสเปน ยุโรปใต้ แอฟริกาและตะวันออกกลาง” ซึ่งช่วยให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า สินค้าอาหารฮาลาลของไทยส่งถึงมือผู้บริโภคตามหลักฮาลาลทุกประการ
- สปาและเครื่องสำอางฮาลาลไทยในสเปน สเปนมีแหล่งบริการโรงแรมและสปาฮาลาลจำนวนไม่มากนัก อีกทั้งยังขาดเครื่องสำอางฮาลาลที่มีคุณภาพ แม้ว่าจะมีความต้องการเครื่องสำอางดังกล่าวอยู่มากและกลุ่มประชากรที่ต้องการใช้เครื่องสำอางดังกล่าวมีกำลังซื้อสูงก็ตาม ทั้งสปาและเครื่องสำอางฮาลาลของไทยจึงเป็นสินค้าที่น่าจะไปได้สวยในตลาดสเปนแห่งนี้ ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง “โอกาสเครื่องสำอางฮาลาลไทยในสเปน” ที่ทางศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปนได้เคยประชาสัมพันธ์ไปแล้วเมื่อต้นปี 2562
เห็นโอกาสดี ๆ อย่างนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด อดไม่ได้ที่จะเอามาบอกต่อให้ผู้ประกอบการไทยลองศึกษาดูโอกาสทางธุรกิจฮาลาลในสเปนไว้เป็นอีกตลาดสำหรับให้สินค้าและบริการฮาลาลของไทยก้าวขึ้นไปยืนหนึ่งในใจผู้บริโภคแดนกระทิงดุแห่งนี้
ติดตามข่าวเด่น สาระน่ารู้ โอกาสทางธุรกิจในสเปนสำหรับผู้ประกอบการไทยได้ที่ http://www.thaiembassy.org/bic.madrid/
[1] ARISTA ย่อมาจาก A=Accomodation, R=Restaurant, I=Information, S=Sign, T=Shops, A=Activities
ที่มาของภาพ