ดัชนีสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจในสเปน 2565

ดัชนีสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจในสเปน 2565

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 ม.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 31 ม.ค. 2566

| 1,306 view

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 สถาบันส่งเสริมการลงทุนและการส่งออกสเปน หรือ ICEX ได้จัดงานแถลงข่าว เปิดตัวรายงานดัชนีสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจในสเปน (Barometer of the Business Climate in Spain) ประจำปี 2565 ซึ่ง ICEX ได้ร่วมกับสมาคมบริษัทข้ามชาติ (Foreign Multinationals for the Spain) และศูนย์ International Center for Competitiveness ของมหาวิทยาลัย IESE จัดทำขึ้น ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 15 แล้ว โดยข้อมูลที่ปรากฏในรายงานฯ ปี 2565 ได้มาจากการสอบถามความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในสเปนจำนวนกว่า 720 ราย

caratula-barometro-2022_eng

 

นาง Xiana Méndez ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจสเปน ได้กล่าวเปิดตัวรายงานดังกล่าว โดยระบุว่าสเปนเป็นประเทศที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านในยุโรป โดยเฉพาะในภาคการส่งออก ที่ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายนของปี 2565 ที่ผ่านมา สเปนสามารถส่งออกสินค้า มีมูลค่าสูงถึง 286,673 ล้านยูโร ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.7 ในด้านมูลค่า และร้อยละ 4.8 ในด้านปริมาณ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า)

สำหรับสาระสำคัญในรายงานฯ พบว่าในภาพรวม ปี 2564 บริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่ยังมีผลการดำเนินธุรกิจที่อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ขณะที่ในปี 2565 และปี 2566 บริษัทข้ามชาติ มองว่า แม้จะมีสัญญาณเชิงบวกในด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าพึงระวังและอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสเปน ได้แก่ ความผันผวนของบรรยากาศของเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ความไม่มั่นใจดังกล่าวของนักลงทุนต่างชาติได้สะท้อนให้เห็นจากการให้คะแนนสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจในสเปน ในปี 2565 ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.9 / 5 คะแนน ลดลงมาจากปี 2564 หนึ่งจุดทศนิยม

 

มุมมองของบริษัทต่างชาติในสเปน

ด้านการลงทุน  ในปี 2565 มีบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในสเปนร้อยละ 84 ที่มีการเพิ่มหรือรักษาระดับการลงทุนในสเปนเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (ปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 88) ในขณะที่ มีบริษัทต่างชาติ ร้อยละ 84 ที่คาดว่า จะมีการปรับเพิ่มหรือรักษาระดับการลงทุนไว้เท่าเดิม ในปี 2566

ด้านการจ้างงาน ในปี 2565 ร้อยละ 91 ของบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในสเปน มีการปรับเพิ่มหรือรักษาระดับจำนวนพนักงานไว้เท่าเดิม (ปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 88) และอีกร้อยละ 91 คาดว่าจะปรับเพิ่มหรือรักษาระดับจำนวนพนักงานไว้เท่าเดิม ในปี 2566

ด้านผลประกอบการ รายงานฯ สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและความไม่มั่นใจในในอนาคต (future uncertainty) เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทต่างชาติมากที่สุด ทั้งนี้ ในปี 2565 บริษัทต่างชาติที่ลงทุนในสเปน ร้อยละ 83 แจ้งว่า มีผลประกอบการเพิ่มขึ้นหรือคงที่ (ปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 82) ในขณะที่ ร้อยละ 80 คาดว่า จะมีการเพิ่มหรือรักษาระดับผลประกอบการไว้เท่าเดิม ในปี 2566 และ ร้อยละ 49 คาดว่าจะมีผลประกอบการเพิ่มขึ้น

ด้านการส่งออก ในปี 2564 พบว่า มีบริษัทต่างชาติ ร้อยละ 8 ที่มีการลดปริมาณการส่งออกลง      ขณะที่ปี 2565 บริษัทต่างชาติมีการลดปริมาณการส่งออก เพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 10 ส่วนในปี 2566 บริษัทส่วนใหญ่มองว่า การส่งออกน่าจะมีปริมาณเท่ากับปี 2565

 

Main_strengths

จุดเด่นของสเปน

          นอกจากนี้ รายงานฯ ยังระบุด้วยว่า ในทัศนะของนักลงทุนต่างชาติ เห็นว่า จุดเด่นของสเปนที่เอื้อต่อการลงทุน ได้แก่ 1) โครงสร้างพื้นฐาน โครงข่ายโทรคมนาคม คุณภาพของท่าอากาศยาน ถนน ท่าเรือและรถไฟความเร็วสูง 2) ขนาดของตลาด และ 3) ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ (มีวุฒิการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และมีศักยภาพในการเรียนรู้/ฝึกฝน) ขณะที่ ข้อที่ควรปรับปรุงสำหรับสเปน ในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติ ได้แก่ 1) ค่าไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่สูง (ค่าก๊าซ น้ำมันเชื้อเพลิง และค่าขนส่ง) 2) การดำเนินงานของศาลแพ่งพาณิชย์ รวมถึง ระบบราชการโดยทั่วไปที่ยังขาดประสิทธิภาพ 3) ความซับซ้อน/ล้าหลังของระบบภาษีและระบบประกันสังคมที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน และ 4) นวัตกรรมที่ยังขาดความทันสมัย ซึ่งนักลงทุนต้องการให้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาด้านการวิจัยนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น

 

Main_weaknesses

จุดด้อยของสเปน

 

Comparison_of_scores_2021-2022

การเปรียบเทียบผลการศึกษาของปี 2564 และ 2565

 

รายงานฯ ยังได้เปรียบเทียบผลการศึกษาในปี 2564 และ 2565 ซึ่งในภาพรวมคะแนน ในปี 2565 ยังอยู่ในเชิงบวก ถึงแม้คะแนนในบางดัชนีจะต่ำกว่าปี 2564 เล็กน้อย แต่โดยรวมก็ยังคงสูงกว่าดัชนีในปี 2563 โดยดัชนีที่ได้รับการประเมินให้สูงขึ้น ได้แก่ ตลาดแรงงาน และนวัตกรรม ส่วนดัชนีที่ได้รับการประเมินต่ำลง ได้แก่ คุณภาพชีวิตจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะราคาพลังงาน และการทำธุรกรรมการเงิน   

นอกจากนี้ ในรายงานฯ ปี 2565 ยังมีการสอบถามบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในสเปน เพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนต่อการดำเนินธุรกิจด้วย โดยบริษัทต่างชาติ ร้อยละ 50 เห็นว่า สงครามมีผลกระทบต่อธุรกิจ ในระดับสูงหรือสูงมาก และที่มีเพียงร้อยละ 7 ที่มองว่า สงครามมีผลกระทบไม่มากนัก นอกจากนี้ บริษัทต่างชาติร้อยละ 88 ยังเห็นว่า สงครามได้ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ ร้อยละ 56 เห็นว่า สงครามส่งผลให้เกิดการขาดแคลนสินค้าและบริการที่จำเป็นในการทำธุรกิจ และร้อยละ 41 เห็นว่า สงครามส่งผลกระทบต่อการจัดการโลจิสติกส์/การกระจายสินค้าของบริษัท

 

ติดตามสาระดี ๆ เกร็ดความรู้และโอกาสทางธุรกิจในสเปนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้ที่ https://bic-madrid.thaiembassy.org

 

************************